สัตว์ทะเลหาดเลน


หาดเลนเกิดอยู่แถวปากแม่น้ำ ซึ่งมีน้ำจืดไหลลงมารวมกับน้ำทะเลอยู่เกือบตลอดเวลา ทำให้น้ำทะเลแถบนั้นไม่เค็มจัดน้ำจืดจากแม่น้ำพัดพา เอาแร่ธาตุและสารอินทรีย์มากมายไหลมาลงทะเลด้วยกับมีดินโคลนแขวนลอยปนมากับน้ำอีกมาก สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไหลลงมาสะสมอยู่ที่หาดเลน ทำให้หาดเลนมีความอุดมสมบูรณ์กว่าที่อื่น เหนือหาดเลนขึ้นไปเป็นป่าชายเลนซึ่ง ประกอบด้วยต้นไม้หลายชนิด ทั้งไม้ต้น ไม้พุ่ม และไม้เล็ก ๆ พวกสาหร่าย ในบรรดาต้นไม้เหล่านี้ ต้นโกงกางขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากที่สุด จนบางคนเรียกป่าชายเลนว่า ป่าโกงกาง ต้นโกงกางเป็นต้นไม้พิเศษเหมาะสำหรับป่าชายเลนโดยเฉพาะ เพราะชอบน้ำเค็ม และมีรากค้ำมากมายอยู่ที่โคนต้น ทำหน้าที่ยึดลำต้นให้คงตั้งอยู่ได้ในดินเลนอันอ่อนนุ่ม ขณะเดียวกันก็ช่วยกักเก็บตะกอนและโคลนตมให้ตกทับถมอยู่ในที่นั้น เกิดเป็นหาดเลนงอกออกไปได้เรื่อย ๆ ต้นแสมก็เช่นกัน ต้นแสมมีรากอากาศงอกสูงขึ้นมาจากพื้นเลน รากอากาศช่วยกักเก็บดินตะกอนไว้ในป่าชายเลนเช่นเดียวกับต้นโกงกางเนื่องจากที่ป่าชายเลนและหาดเลนมีความอุดมสมบูรณ์มาก จึงมีสัตว์หน้าดินไม่มีกระดูกสันหลัง พวกไส้เดือนทะเล หนอนทะเล หอย กุ้ง ปูและ ตัวอ่อนของสัตว์ทะเลบางชนิดอาศัยรวมอยู่เป็นจำนวนมาก ที่หาดเลนเราจะเห็นนกชายเลน พวกนกพลิกหินนกปากแอ่น นกอีก๋อย นกนางนวล เดินหาอาหารกินทั่วไป ที่หาดเลนมีสัตว์ทะเลที่มีค่าหลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เราใช้เป็นอาหาร เช่น ปูก้ามดาบ ปูม้ากับปูทะเล ปูแสม หอยแครง หอยกะพง กุ้งกับกั้ง แมงดาทะเล และ ปลาตี

ปูก้ามดาบ

ปูมีรูปร่างคล้ายแมงมุม ทางด้านที่เรียกว่า หัว จะเห็นแต่นัยน์ตากลม มีก้ามยื่นโผล่ออกมาจากกระดองแข็ง มีขายาวสิบขา เป็นขาสำหรับเดินสามคู่ ขาสำหรับว่ายน้ำหนึ่งคู่และเป็นก้ามหนึ่งคู่ขาที่ยื่นออกไปทางด้านข้างทำให้ปูวิ่งเฉไปข้าง ๆ แทนที่จะวิ่งตรงไป เบื้องหน้าดังเช่นสัตว์ทั้งหลาย ขาปูเป็นข้อๆ งอพับได้ ขาคู่ที่สองถึงคู่ที่สี่มีปลายแหลม ใช้สำหรับวิ่งไปตามพื้นทราย ขาคู่หน้าสุดมีก้ามใหญ่ ปลายก้ามแยกออกเป็นคีม กางอ้าและหุบได้ เวลาโกรธหรือตกใจ หรือต่อสู้ศัตรู ปูจะรี่เข้าใส่ กางขาคู่หน้าออก ชูก้ามใหญ่ที่มีปลายเป็นคีมขึ้นในอากาศเป็นท่าพร้อมจะต่อสู้ ที่มองดูน่ากลัวนัก ในบรรดาสัตว์ที่มีเปลือกพวกหอย ปู กุ้ง นับได้ว่าปูมีท่าทางน่าเกรงขามมากที่สุด ปูที่มีสีสันหลายสีสดสวยคือ ปูก้ามดาบ หรือปูเปี้ยว บางชนิดกระดองสีฟ้า ก้ามเป็นสีส้มและขาว บางชนิดกระดองสีน้ำเงิน ขาสีส้มก้ามเหลือง บางชนิดกระดองสีม่วง ก้ามสีแดง และบางชนิดกระดองสีเทา ก้ามสีส้ม ปูก้ามดาบตัวผู้มีก้ามใหญ่เพียงก้ามเดียวสำหรับต่อสู้ศัตรู และใช้แสดงสัญญาณกับปูพวกเดียวกันโดยเฉพาะ ปูตัวเมีย ตัวเมียไม่มีก้ามใหญ่ อาหารคือดินซึ่งมีสารอินทรีย์ปะปนอยู่ และใบไม้ที่หล่นอยู่ทั่วไปในบริเวณป่าชายเลน

ปูม้ากับปูทะเล

ปูในทะเลที่รู้จักกันทั่วไป ได้แก่ ปูม้ากับปูทะเล โดยปกติปูอาศัยอยู่ที่พื้นทะเลชายฝั่ง ปูม้าชอบอยู่แถบบริเวณชายหาดที่เป็นทราย ส่วนปูทะเลชอบอยู่บริเวณชายทะเลที่เป็นโคลนหรือบริเวณป่าไม้ชายเลนที่มีต้นแสม โกงกาง แต่เมื่อถึงคราวออกไข่ปูจะว่ายน้ำออกจากฝั่งไปวางไข่ในน้ำลึก ปูออกไข่ทีล่ะหลายพันฟองไข่ฟักเป็นตัวอ่อนหลุดจากตัวแม่ ใช้ชีวิตเป็น แพลงตอนล่องลอยอยู่ในทะเลแล้วจึงลงลอกคราบและเปลี่ยนเป็นลูกปูตัวเล็ก ๆ อาศัยอยู่ตามพื้นทะเล ลูกปูต้องลอกคราบหลายครั้งกว่าจะโตเต็มที่ทั้งปูม้าและปูทะเลว่ายน้ำเก่ง มีลำตัวแบนกว้าง อกราบเรียบเป็นแผ่นราวกับเรือท้องแบน ทำให้ลอยไปในน้ำได้ดี นอกจากนั้นปลายขาคู่ที่ห้าของปูม้าและปูทะเล ยังเป็นแผ่นแบนเหมือนใบพาย ใช้สำหรับพุ้ยน้ำทำให้ตัวเคลื่อนที่ไปได้ ขาอีกสี่คู่มีปลายแหลมใช้สำหรับคลาน ส่วนขาคู่แรกเป็นก้ามหนีบสำหรับจับอาหารใส่ปาก ขาปู ถ้าหลุดแล้วงอกใหม่ได้เช่นเดียวกับหางของจิ้งจกปูกินสัตว์เป็นอาหาร และต้องลอกคราบเป็นระยะ ๆ ปูทะเลเมื่อลอกคราบใหม่ ๆ มีเปลือกบางเหมือนกระดาษ ตัวอ่อนนุ่มนิ่มต้องหลบซ่อนตัวอยู่เป็นเวลาราวสองสามชั่วโมงเปลือกจึงจะแข็งออกหากินได้ดังเดิม

ปูแสม

ปูแสมเป็นปูขนาดเล็ก กระดองหลัง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีดำปนม่วง อาศัยขุดรู อยู่ตามโคนต้นแสม ปูแสมว่ายน้ำไม่ได้ เพราะไม่มีขาเป็นแผ่นแบนเหมือนปูทะเล หรือปูม้า แต่กลับมีขาที่เหมาะสำหรับปีน
ขึ้นต้นไม้ เวลาน้ำทะเลขึ้นท่วมรูที่อยู่ ปูแสมจะพากันปีนขึ้นไปเกาะอยู่บนต้นแสม เป็นจำนวนมาก ชาวประมงใช้ปูแสมทำปูเค็ม โดย จับตัวจากต้นแสมมาใส่ถังแล้วโรยเกลือ ทับเป็นชั้น ๆ ทิ้งไว้หนึ่งคืน

หอยแครง

หอยแครงเป็นหอยสองฝา มีเปลือกแข็ง ลักษณะฝาทั้งสองมีขนาดเท่ากันประกบติดกันแน่นสนิท ทำให้หอยทั้งตัวมีรูปร่างเป็นรูปหัวใจ ฝาทั้งสองอาจอ้าให้แยกจากกันได้ เพราะที่ขั้วเปลือกเป็นรอยหยักแหลมคล้ายฟันสวมกันได้สนิทเป็นบานพับ เปลือกหอยแครงมีลักษณะพิเศษ จำง่าย ผิวด้านนอกไม่เรียบ แต่มีร่องยาวลึกเล็ก ๆ เป็นทางยาวจากขั้วเปลือกไปทางริมเปลือกทั่วทั้งฝา หอยแครงชอบอยู่ตามหาดเลนพื้นทะเลตื้น ๆ ที่เป็นดินโคลน มักชอบหมกตัวอยู่ในเลน เมื่อน้ำทะเลท่วมถึงก็จะอ้าปากกินแพลงตอนที่ล่องลอยมากับน้ำทะเล

หอยกะพง

หอยกะพงเป็นหอยสองฝาขนาดเล็ก เปลือกสีเขียวปนเหลือง เปลือกบางคมกริบมีรูปร่างคล้ายหอยแมลงภู่ แต่ตัวเล็กกว่าอาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นโคลนบริเวณปากแม่น้ำ ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่สร้างสายใยสั้น ๆ ยึดติดกันไว้เป็นพวง

กุ้งกับกั้ง

กุ้งมีลำตัวกลม ท่อนหัวโต เรียวลงไปทางหาง ลำตัวกุ้งแบ่งออกได้เป็นสามท่อนคือ หัว อก และท้อง แต่หัวกับอกมีเปลือกแข็งห่อหุ้ม รวมเป็นท่อนเดียว มักเรียกกันว่าหัวกุ้ง ส่วนที่ถัดมาจากหัวเป็นท้อง คือส่วนที่เรียกกันว่าตัวกุ้ง โค้งและงอได้ ที่ท้องมีขาสำหรับว่ายน้ำ ปลายของท้องเป็นหางรูปคล้ายพัดคลี่ออกได้ กุ้งมีขาห้าคู่เท่ากันกับปู
กับมีหนวดเป็นเส้นยาวหลายเส้นยื่นออกไปจากหัวสำหรับคลำทาง กุ้งหายใจทางเหงือกกุ้งมีทั้งกุ้งน้ำจืดและกุ้งน้ำเค็ม กุ้งทะเลมีหลายขนาดทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่กุ้งในทะเลที่เป็นกุ้งขนาดใหญ่ ได้แก่ กุ้งหัวโขนหรือกุ้งยักษ์ กุ้งชนิดนี้มีส่วนหัวกลมยาวเป็นรูปทรงกระบอกและค่อยเรียวลงไปทางหาง เปลือกแข็ง ผิวขรุขระ และมีหนามแหลมทั้งตัว หนวดเส้นยาวใหญ่มีหนามแหลมด้วย อาศัยหากินอยู่ตามพื้นทะเลที่มีหินปะการัง และเป็นกุ้งที่มีรูปร่างน่าดูมาก ส่วนกั้งเป็นสัตว์ใกล้เคียงกับกุ้งแต่รูปร่างแตกต่างไปอย่างเห็นได้ชัด มีตัวแบนกว่ากุ้ง บางชนิดหัวก็แบน ขาสั้น กั้งหายใจด้วยเหงือก และอาศัยหากินอยู่ที่พื้นทะเลทั่วไป ทั้งที่เป็นทรายและที่เป็นโคลนโดยการขุดรูอยู่ กั้งจะขึ้นจากรูเมื่อมีคลื่นลมจัด คลานไปมาหาอาหาร

แมงดาทะเล

แมงดาทะเลเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างแปลก เหมือนชามกะละมังคว่ำ ทางด้านหัวโค้งกลม แมงดาทะเลมีเปลือกหนาแข็งห่อหุ้มอยู่ทั่วทั้งตัว มีหางแข็งยาว ปลายแหลม ยื่นออกมาหาส่วนท้ายของลำตัว สำหรับใช้ต่างสมอปักลงกับพื้นท้องทะเล เมื่อต้องการนอนนิ่งอยู่กับที่ แมงดาทะเลอาศัยอยู่ที่พื้นทะเลน้ำตื้น ๆ คลานหากินไปตามพื้นทราย กินหอย
เล็ก ๆ ปูเล็ก ๆ เป็นอาหาร ศัตรูคือเต่าทะเลและฉลามแมงดาทะเลตัวผู้กับตัวเมียมีรูปร่างคล้ายกัน แต่ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่ามากเมื่อจะวางไข่ แมงดาทะเลตัวเมียพาตัวผู้ซึ่งเกาะอยู่บนหลังคลานขึ้นชายหาด ขุดทรายเป็นโพรงใหญ่ ตรงที่ซึ่งน้ำท่วมถึง แล้ววางไข่ทิ้งไว้ในโพรงนั้น ไข่เป็นเม็ดกลมสีเหลืองขนาดเม็ดสาคู และมีจำนวนหลายร้อยฟอง เมื่อไข่ฟักออกเป็นตัว ลูกแมงดาทะเลตัวเล็ก ๆ ที่มีรูปร่างเหมือนพ่อแม่ จะโผล่ขึ้นจากทรายแล้วคลานลงน้ำไป ลูกแมงดาทะเลต้องลอกคราบหลายครั้งจนกว่าจะโตเต็มที่

images by free.in.th

ปลาตีน

ปลาตีนหรือปลากระจัง อาศัยอยู่ที่หาดเลน ปลาตีนมีลักษณะแปลกแตกต่างจากปลาอื่นตรงที่อยู่ในน้ำแต่อาจขึ้นไปเดินบนบกได้นาน ๆ ปลาตีนไม่มีขาแต่มีครีบอกยาวยื่นออกไปอยู่สองข้างลำตัว ใช้ต่างขาคลานหรือกระโดดไปบนดินเลน ปลาตีนหายใจทางเหงือก และต้องคอยระวังให้เหงือกเปียกอยู่เสมอ ถ้าขึ้นเดิน บนบกนานจนเหงือกใกล้จะแห้งก็ต้องลงแช่น้ำเพื่อให้เหงือกเปียกก่อนจึงจะขึ้นเดินบนบกได้อีก ปลาตีนอาศัยขุดรูอยู่ พบที่พื้นท้องทะเลที่เป็นดินโคลนและโคลนปนทรายในบริเวณน้ำขึ้นน้ำลง มันออกหากินช่วงน้ำลง อาหารคือดินโคลนที่มีสาหร่ายและแบคทีเรียปะปนอยู่ด้วยหาดเลนและป่าชายเลนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตของสัตว์ทะเล เพราะเป็นแหล่งอาหาร เป็นที่หลบภัย เป็นที่วางไข่ และเป็นที่อยู่อาศัยระยะหนึ่งของตัวอ่อนของสัตว์ทะเล หาดเลนจึงเป็นทรัพยากรที่เราควรช่วยกันรักษาไว้ให้คงอยู่ ไม่ทำลายให้สูญสิ้นไป

images by free.in.th
สร้างโดย: 
คณะทีมงานครูมาโนช นันทา

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 718 คน กำลังออนไลน์