การจำแนกธาตุอาหารพืช

แหล่งพืชที่ได้รับธาตุอาหารที่จำเป็นของพืช

          การจำแนกธาตุอาหารพืชที่ จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช โดยเหตุที่พืชดูดดึงธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชทั้ง 16 ธาตุนั้นไปใช้ในปริมาณที่มากหรือน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งธาตุที่พืชมีความต้องการในปริมาณที่มากที่สุดก็คือ ธาตุคาร์บอน (C) ธาตุไฮโดรเจน (H) และ ธาตุออกซิเจน (O) เพราะประมาณ 90 % ของโครงสร้างของพืชโดยทั่วไปประกอบด้วยธาตุทั้งสามนี้ ซึ่งพืชจะได้มาจากน้ำและอากาศอย่างพอเพียง ส่วนที่เหลืออีก 13 ธาตุนั้น พืชจะได้จากดินซึ่งสามารถ จำแนกตามปริมาณ ความต้องการของพืชออกได้ 3 พวก คือ

          1. ธาตุอาหารหลัก ได้แก่ธาตุ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโปแตสเซี่ยม (K) ซึ่งเป็นธาตุที่พืชต้องการใช้ในปริมาณที่มาก โดยดินเป็นแหล่งที่มาของธาตุทั้งสามนี้ เพื่อให้พืชดูดนำไปใช้ แต่ปรากฏว่าดินมักจะมีให้ไม่พอเพียง กับความต้องการพืช พืชต้องการให้ธาตุทั้งสามนี้ เพิ่มแก่พืชในรูปของปุ๋ยอยู่เสมอ ดังนั้นในบางครั้งจึงเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า ธาตุปุ๋ย

          2. ธาตุอาหารรอง ได้แก่ ธาตุแคลเซี่ยม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) และกำมะถัน (s) ซึ่งเป็นธาตุที่พืชต้องการใช้ ในปริมาณที่มากรองจากธาตุอาหารหลัก ดินบางแห่งอาจจะมี ธาตุอาหารรอง นี้ไม่พอเพียงกับความต้องการของพืช จึงจำเป็นต้อง มีการให้เพิ่มแก่พืชในรูปของปุ๋ย


          3. ธาตุอาหารเสริม ได้แก่ ธาตุโบรอน (B) เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) สังกะสี (Zn) โมลิบดีนัม (Mo) ทองแดง (Cu) และ คลอรีน (Cl) ธาตุทั้ง 7 นี้ในดินโดยทั่วไปจะมีอยู่อย่างเพียงพอ กับความต้องการของพืช ทั้งนี้เพราะพืชต้องการใช้ในปริมาณที่น้อย แต่อย่างไรก็ตาม ดินบางแห่ง ก็อาจจะขาดธาตุเหล่านี้ได้เช่นกัน เช่น ดินเนื้อหยาบที่มีอัตราการชะล้างสูงหรือดินกรดจัด ด่างจัด ซึ่งจะทำให้ธาตุเหล่านี้ ละลายออกมา อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ในปริมาณที่น้อยกว่าปกติ


   
     
   
เว็บไซต์นี้ แสดงผลได้ดี บนความละเอียด 1024x768 Text Size Medium
โครงการประกวดสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ (Digital Learning Contest) ครั้งที่ 2
สร้างสรรค์โดยครู นักเรียนโรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครสวรรค์ เขต 1