พระราชประวัติสมเด็จย่า 3

รูปภาพของ sss28433
หลังจากที่เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นเวลา 3 ปีเศษ  ใน พ.ศ. 2481  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  พร้อมด้วยสมเด็จย่า  พระเชษฐภคินี และพระราชอนุชา  ก็ได้เสด็จนิวัติพระนคร  เพื่อทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรของพระองค์เป็นครั้งแรก  เมื่อเสด็จฯ สู่พระนครได้ 1 วัน  คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้ประกาศสถาปนาพระอิสริยยศพระราชชนนีศรีสังวาลย์ขึ้นเป็นครั้งแรก  “สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์”  เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481
ตลอดเวลา 2 เดือนที่ประทับอยู่ในพระนคร  ผู้ที่มีโอกาสได้เฝ้าชมพระบารมี  ต่างปลื้มปีติและชื่นชมในพระจริยวัตรของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์น้อยยิ่งนัก  ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า  ผู้ที่มีส่วนสำคัญที่ทรงเพียรปลูกฝังอบรมพระกิริยาอัชฌาศัยของยุวกษัตริย์ไทยให้งดงามเหมาะสม  คือ  สมเด็จย่า
โดยที่ทรงเห็นว่า  พระโอรสทรงพระเยาว์  ความรู้เรื่องเมืองไทยมีน้อย  สมเด็จย่าจึงทรงขอให้กระทรวงธรรมการ  (ปัจจุบัน คือ กระทรวงศึกษาธิการ)  จัดการรายการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพระอารามและโบราณสถานที่สำคัญในเขตพระนครและธนบุรี  เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของชาติ นอกจากนี้  สมเด็จย่ายังทรงชักจูงให้พระโอรสธิดาทรงใฝ่ในการกุศล  ช่วยเหลือการสาธารณสุขและการแพทย์  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานเงินส่วนพระองค์สร้างโรงพยาบาลอานันทมดิดล  ที่จังหวัดลพบุรี  พระราชอนุชาและพระเชษฐภคนีพระราชทานเงินสร้างสุขศาลา  ที่จังหวัดสมุทรสาคร  
ครั้นถึงวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2481  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จย่า  พระเชษฐภคนีและพระราชอนุชา  จากประเทศไทยกลับไปทรงศึกษาต่อที่สวิสเซอร์แลนด์
สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอุบัติขึ้นในทวีปยุโรป เมื่อ พ.ศ. 2482  ได้เพิ่มความยากลำบากในพระชนมชีพของสมเด็จย่า  ในฐานะหัวหน้าครอบครัว  พระองค์ทรงใช้พระสติปัญญาความสามารถอย่างเต็มที่ประคับประคองรักษาครอบครัวเล็กๆ ของพระองค์ให้ผ่านพ้นภัยในรูปแบบต่างๆ สภาพชีวิตในพระตำหนัก  วิลล่าวัฒนาที่เมืองโลซานระหว่างสงครามโลกไม่ต่างจากครอบครัวชาวสวิสอื่นๆ นัก  ทรงรับบัตรปันส่วนเช่นเดียวกับครอบครัวสวิส  เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมหาวิทยาลัยก็เสด็จโดยจักรยานพระที่นั่ง  สมเด็จย่าทรงใช้ขี้เถ้าแทนสบู่  ทรงทำเนยและเก็บผลไม้มาทำแยมเก็บเอาไว้  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเล่าพระราชทานคณะผู้จัดทำหนังสือเรื่อง “สมเด็จพระศรีนคริทราบรมราชชนนี” ของโครงการไทยศึกษา  ฝ่ายวิชาการ  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ตอนหนึ่งว่า  
“(ทูลกระหม่อมพ่อทรงเล่าว่า)  ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2  ก็ลำบากเหมือนกัน  สมเด็จย่าถึงได้มีความพยายามระมัดระวังเป็นแม่บ้านที่ดี ในระยะนั้นไม่มีการปันส่วนผลไม้  แต่ก็ไม่มีผลไม้อะไรมากนัก  ได้อาศัยผลไม้จากสวนในบริเวณพระตำหนัก  เช่น  สตรอเบอรี่  แพร์  ส่วนผลไม้ตะวันออก  เช่น  กล้วยและส้มขาดแคลน”
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงเล่าพระราชทาน  คณะผู้จัดทำหนังสือเล่มเดียวกันว่า  “มีแต่แอปเปิ้ลเป็นของธรรมดาที่สุด แม่ก็พยายามหาสีเขียวสีแดงให้ดูแปลกไป...มีแต่แอปเปิ้ลตลอดศก...หลังสงครามไม่อยากทานแอปเปิ้ลเลย
อย่างไรก็ตาม สมเด็จย่ายังทรงรักษาประเพณีที่สมเด็จพระบรมราชชนกเลยทรงปฏิบัติ  คือ  พระราชทานเลี้ยงอาหารไทยแก่คนไทยในวันเสาร์  แต่เนื่องจากนักเรียนไทยมีมากขึ้นเพราะระหว่างสงคราม นักเรียนไทยที่เคยศึกษาในประเทศเบลเยี่ยม  ฝรั่งเศส และอิตาลีได้ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองต่างๆ ของสวิสเซอร์แลนด์  พระองค์จึงไม่สามารถที่จะพระราชทานเลี้ยงอาหารไทยแก่นักเรียนไทยทุกคนได้  โปรดให้ผลัดเปลี่ยนกันมา  นักเรียนไทยเหล่านั้นต่างประสบปัญหาที่ส่งเงินจากประเทศไทยล่าช้า  บางเดือนเงินทองก็มาไม่ถึง  สมเด็จย่าก็ทรงเกื้อกูลผู้ที่ขัดสน บ้างก็พระราชทานเงินให้ยืม บ้างก็ให้เลยก็มี ทั้งๆ ที่ขณะนั้นพระองค์ทรงประสบปัญหาการส่งเงินมาถวายล่าช้าเหมือนกัน
สมเด็จย่า ได้ทรงเอาพระทัยใส่ในการศึกษาของพระโอรสธิดามาก โปรดให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชอนุชาทรงศึกษาที่โรงเรียน
เอกอล  นูเวลล์  เมืองโลซานจนถึง พ.ศ. 2484  ซึ่งในช่วง 2 ปีสุดท้ายของการศึกษาที่โรงเรียนแห่งนั้น โปรดให้ทรงเข้าเป็นนักเรียนประจำ เพื่อให้ทรงทราบชีวิตของนักเรียนประจำที่ต้องช่วยเหลือพระองค์เองทุกอย่าง  ส่วนสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนานาชาติที่เมืองเจนิวา  นอกจากนี้ทรงหาพระอาจารย์สอนพิเศษประจำที่พระตำหนัก  ทรงจากหญิงชาวอังกฤษเป็นพระพี่เลี้ยงระหว่างโรงเรียนปิดภาคฤดูร้อน  เพื่อฝึกฝนภาษาอังกฤษถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เรื่องการศึกษาภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีไทยก็มิได้ทรงละเลย  โปรดให้นายเปรื่อง  ศิริภัทร  พระอาจารย์ถวายพระอักษรไทยที่ทางรัฐบาลส่งมาถวายพระอักษรแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชอนุชาและสมเด็จพระเชษฐภคนี  ดังนั้น  การตัดสินพระทัยประทับในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในช่วงวิกฤติการณ์สงครามโลก การศึกษาของพระโอรสธิดาจึงมิได้หยุดชะงัก  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงพระปรีชาสามารถด้านการศึกษา ใน พ.ศ. 2485  ทรงสอบผ่านชั้นสุดท้ายเทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลาย  และได้ทรงเข้าศึกษาวิชาเคมีต่อที่มหาวิทยาลัยโลซาน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  ก็ทรงเปลี่ยนแผนการศึกษาในระดับอุดมศึกษา  เช่นกัน  หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายใน พ.ศ. 2486  เมื่อพระชนมายุ 16 พรรษา  ได้ทรงเข้าศึกษาวิชานิติศาสตร์  ที่มหาวิทยาลัยโลซาน  และอีก 2 ปีต่อมา  สมเด็จพระราชอนุชาก็เสด็จเข้าศึกษาต่อทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน
วันคล้ายวันพระราชสมภพ 20 กันยายน พ.ศ. 2488  หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ยุติลงเป็นวันที่มรความหมายพิเศษยิ่งสำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  พระประยูรญาติ และเหล่าคนไทยที่พำนักอยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์  ข้าราชการและนักเรียนไทยพากันไปเผ้าฯ ถวายพระพรคับคั่งในตอนเย็น  บรรดาคนไทยได้ร่วมจัดงานเลี้ยงถวาย ณ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดนตรีร่วมกับนักดนตรีสมัครเล่นทั้งหลาย  เป็นงานเลี้ยงที่สนุกสนานรื่นเริง  ความเงียบเหงาเศร้าใจ  ความวิตกกังวลถึงบ้านเกิดเมืองนอนเป็นอันสิ้นสุดลงได้  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ 20 พรรษา  ทรงบรรลุราชนิติภาวะแล้ว  และกำลังจะเสด็จพระราชดำเนินกลับมาทรงเยี่ยมพสกนิกรของพระองค์  
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระราชอนุชาและสมเด็จย่าออกจากสวิสเซอร์แลนด์  เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488  นิวัติพระนครอีกครั้งหนึ่ง  โดยเครื่องบินพระที่นั่งถึงพระนคร  ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488
ระหว่างประทับในพระนคร  สมเด็จย่าได้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่  และสมเด็จพระราชอนุชาไปพร้อมกันทั้งสามพระองค์  ไม่ว่าจะเสด็จงานพระราชพิธี  งานทั่วไป  เสด็จประพาสสถานที่ต่างๆ  หรือเสด็จเยี่ยมราษฎร  ด้วยเหตุที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชอนุชาประทับอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลานาน  ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเมืองไทย  จึงไม่ค่อยจะทรงทราบมากนัก  เมื่อเสด็จพร้อมกัน สมเด็จพระราชโอรสทรงสงสัยใคร่รู้เรื่องราวประการใดก็สามารถทูลถามสมเด็จย่าได้ทันที  
การตามเสด็จนิวัตพระนครครั้งที่ 2 นี้  สมเด็จย่าทรงมีพระชนมายุ 45 พรรษา  ทรงสำราญพระราชหฤทัยมาก  สงครามสิ้นสุดลงแล้ว  ความสงบสุขได้บังเกิดขึ้น  พระราชภาระของพระองค์ในการอบรมเลี้ยงดูพระโอรสธิดาก็ทรงผ่อนคลายลง  พระโอรสธิดาทั้งสามพระองค์ทรงเจริญพระชนม์เป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมด้วยสติปัญญาฉลาดเฉลียว  สามารถปกครองดูแลพระองค์เองได้  ความนิยมชมชื่นของอาณาประชาราษฎรที่มีต่อพระโอรสทั้งสองพระองค์อย่างไม่เสื่อมคลายก็น่าจะยังความปลาบปลื้มปีติให้บังเกิดขึ้นในพระราชหฤทัย
สมเด็จย่าได้ประทับอยู่เมืองไทยกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระโอรสองค์ที่ 2 จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2489  รัฐบาลในเวลานั้นได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ขอให้ทรงเลื่อนกำหนดเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อที่สวิสเซอร์แลนด์ออกไปก่อน  เพื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แก่ปวงชนชาวไทย ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489  และเสด็จพระราชดำเนินเปิดประชุมสภาผู้แทนใน
วันที่ 1 มิถุนายน ศกเดียวกัน  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับคำกราบบังคมทูลของรัฐบาล  และทรงกำหนดวันเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2489  แต่ไม่ทันถึงวันนั้น  เหตุการณ์อันเศร้าสลดที่ไม่นึกฝันก็อุบัติขึ้นเสียก่อนในตอนเช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ก่อนกำหนดวันเสด็จพระราชดำเนินจากประเทศไทยเพียง 4 วัน  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ต้องพระแสงปืน สวรรคต 
 
 
ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเป็นเอกฉันท์กราบบังคมทูลเชิญพระราชปิโยรสพระองค์ที่ 2 ของสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์คือ  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์สมบัติ  เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
 
 
ได้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จจากเมืองไทย  เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489  เพื่อทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโลซาน  โดยทรงเลือกเรียนวิชาเกี่ยวกับรัฐศาสตร์  นิติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์  แทนวิชาวิทยาศาสตร์ที่เลยทรงศึกษาไว้แต่เดิม  เพื่อความเหมาะสมกับพระราชภารกิจแห่งพระมหากษัตริย์ ระหว่างนั้น  สมเด็จย่าก็ยังทรงทำหน้าที่ “แม่บ้าน”  ในพระตำหนักวิลล่าวัฒนา  ทรงดูแลจัดการเรื่องต่างๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย  โปรดทรงงานด้วยพระองค์เอง  ตอนเช้าทรงขับรถไปจ่ายตลาดด้วยพระองค์เองและหลังจากเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว  ทรงใช้เวลาว่างทำสวนในบริเวณพระตำหนัก  ทรงพรวนดิน  ใส่ปุ๋ย  ตัดขลิบกิ่งไม้และกวาดใบไม้  ในเวลาบ่ายทรงเสด็จไปฟังบรรยายวิชาที่สนพระราชหฤทัยที่มหาวิทยาลัยโลซาน  บางครั้งเมื่อว่างจากพระราชกิจในการศึกษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จย่าจะเสด็จประพาสชนบทและประเทศใกล้เคียง เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส และลิคเตนสไตน์  ทั้งสองพระองค์โปรดทอดพระเนตรสถานที่สำคัญของเมืองต่างๆ และพอพระราชหฤทัยชมทัศนียภาพที่งดงามและเงียบสงบในชนบท  ซึ่งจะเสด็จประพาสชนบทบ่อยครั้ง  เมื่อทรงเห็นดอกไม้ที่ขึ้นข้างทางกำลังบานสะพรั่งสวยงาม  สมเด็จย่าจะทรงหยุดรถเพื่อเก็บดอกไม้ป่าเหล่านั้นกลับไปที่ประทับ  แต่แล้วในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2491 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์  ต้องเสด็จเข้ารับการรักษาพระองค์ในสถานพยาบาล สมเด็จย่าทรงทุ่งเทพระกำลังดูแลพยาบาลพระราชปิโยรส  จนมีพระอาการดีขึ้น  แพทย์จึงได้กราบบังคมทูลแนะนำให้สมเด็จย่า  เสด็จไปประทับเปลี่ยนพระอิริยาบถในชนบทเป็นการครั้งคราว
หลังจากนั้น  พสกนิกรก็ได้รับข่าวอันเป็นที่น่าปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่งว่า  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์  กิติยากร  ธิดาคนโตของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล  กิติยากร (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ)  อัครราชทูตไทยประจำราชสำนักเซนต์เจมส์  ประเทศอังกฤษ  กับหม่อมหลวงบัว  กิติยากร  เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492
 
หลังจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลแล้ว  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ ตำหนักพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า  วังสระปทุม  เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493  ต่อมาวันที่ 5 พฤษภาคม ศกเดียวกัน  ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ  ในพระบรมมหาราชวัง  และสถาปนาสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์  ให้ดำรงราชฐานันดรเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินี  อีก 6 ปีต่อมา  ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยว่า  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ
อีก 1 ปีต่อมา  หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  สมเด็จย่าก็ได้ทรงชื่นชมกับพระราชนัดดาคือ  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา  สิริวัฒนาพรรณวดี  ประสูติเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494 ที่เมืองโลซาน  ทรงเป็นพระราชนัดดาพระองค์ที่ 2 ต่อจากคุณทัศนาวลัย รัตนกุลเสรีเริงฤทธิ์ (ปัจจุบันคือ  ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม)  พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ  เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ได้เสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรแล้ว  ก็ได้มีพระประสูติกาลพระราชโอรสธิดาอีก 3 พระองค์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต  คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  
เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์  ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2515  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์  สยามมกุฎราชกุมาร
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา  กิติวัฒนาดุลโสภาคย์  ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน  พ.ศ. 2498  ใน พ.ศ. 2520 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร  รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ  สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์  อัครราชกุมารี  ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500  
วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเฉลิมพระนามพระอัฐิ  สมเด็จพระราชบิดา  เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช  กรมหลวงสงขลานครินทร์  ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า  สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร  อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก  และเฉลิมพระนามสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์  ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า  สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
 
<<     < ก่อนหน้า             3    
  

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 449 คน กำลังออนไลน์