จันทรุปราคา 28 สิงหาคม 2550

รูปภาพของ ssspoonsak

จันทรุปราคา 28 สิงหาคม 2550

10 สิงหาคม 2550 วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@hotmail.com)

ช่วงเวลาหัวค่ำของคืนวันอังคารที่ 28 สิงหาคม 2550 จะเกิดจันทรุปราคาครั้งที่สองและครั้งสุดท้ายของปีและเป็นอุปราคาครั้งที่ 3 ของปี 2550 สามารถมองเห็นได้ในหลายพื้นที่ของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่อยู่โดยรอบมหาสมุทรแปซิฟิกและหมู่เกาะต่าง ๆ ภายในมหาสมุทร จันทรุปราคาครั้งนี้เป็นจันทรุปราคาเต็มดวงซึ่งหมายความว่าดวงจันทร์จะเคลื่อนผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกหมดทั้งดวง อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะไม่มีโอกาสเห็นจันทรุปราคาขณะดวงจันทร์ถูกบังหมดดวง เนื่องจากเวลานั้นเป็นเวลากลางวันซึ่งดวงอาทิตย์ยังไม่ตกและดวงจันทร์ยังไม่ขึ้นเหนือขอบฟ้า ยกเว้นพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศที่อาจมีโอกาสสังเกตได้ในช่วงที่ดวงจันทร์ถูกเงามืดบังอยู่ทั้งดวง

ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง 28 สิงหาคม 2550
เหตุการณ์ เวลา มุมเงย
ของดวงจันทร์

(ที่กรุงเทพฯ)
1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก (ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง) 14.54 น. -52°
2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน (ดวงจันทร์เริ่มแหว่ง) 15.51 น. -38°
3. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง (ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดทั้งดวง) 16.52 น. -24°
4. กึ่งกลางของปรากฏการณ์ (ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด) 17.37 น. -14°
5. สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง (ดวงจันทร์เริ่มออกจากเงามืด) 18.22 น. -3°
6. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน (ดวงจันทร์ทั้งดวงออกจากเงามืด) 19.24 น. 11°
7. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก 20.21 น. 25°

จันทรุปราคาครั้งนี้เกิดขึ้นขณะดวงจันทร์อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ เริ่มสัมผัสเงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 14.54 น. ตามเวลาประเทศไทย เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วนเวลา 15.51 น. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงเวลา 16.52 น. ดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดลึกที่สุดเวลา 17.37 น. ทั้งสี่ช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยไม่มีโอกาสสังเกตได้เนื่องจากยังเป็นเวลากลางวันและดวงจันทร์ยังไม่ขึ้นเหนือขอบฟ้า พื้นที่ของโลกบริเวณที่เริ่มเห็นจันทรุปราคาครั้งนี้ก่อนประเทศไทยคือประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ หมู่เกาะฮาวาย ตะวันออกของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ติมอร์ตะวันออก และด้านตะวันออกของอินโดนีเซีย

เมื่อถึงเวลา 18.22 น. ดวงจันทร์เริ่มพ้นเงามืด เป็นการสิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง กรุงเทพฯ ดวงอาทิตย์ตกทางทิศตะวันตกพร้อมกับดวงจันทร์ขึ้นทางทิศตะวันออกในเวลา 18.32 น. นั่นหมายความว่าคนกรุงเทพฯ ไม่มีโอกาสเห็นดวงจันทร์ขณะถูกเงาโลกบังหมดทั้งดวง แต่จะเห็นได้ในช่วงเวลาหลังจากนั้น

ในภาคอีสาน เช่น อุบลราชธานี ดวงอาทิตย์ตกทางทิศตะวันตกเกือบพร้อมกับดวงจันทร์ขึ้นทางทิศตะวันออกในเวลา 18.15-18.16 น. แสดงว่าดวงจันทร์ยังคงอยู่ในเงามืดเมื่อมันเริ่มโผล่พ้นขอบฟ้า คาดว่าท้องฟ้าที่ยังสว่างอยู่ ดวงจันทร์ที่มืดสลัวเนื่องจากถูกเงาโลกบดบัง และตำแหน่งที่อยู่ใกล้ขอบฟ้า น่าจะเป็นอุปสรรคทำให้มองเห็นดวงจันทร์ได้ค่อนข้างยากในเวลาดังกล่าว

ขณะที่ดวงจันทร์กำลังขึ้นเหนือขอบฟ้าที่กรุงเทพฯ ดวงจันทร์จะแหว่งประมาณ 3 ใน 4 ของดวง เงามืดของโลกทาบอยู่ด้านบนของดวงจันทร์โดยเยื้องไปทางขวามือ จากนั้นพื้นที่ด้านสว่างจะค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นระหว่างที่ดวงจันทร์เคลื่อนออกจากเงาโลก ทั่วประเทศจะเห็นดวงจันทร์กลับมาสว่างเต็มดวงในเวลา 19.24 น. แต่ปรากฏการณ์ยังไม่สิ้นสุดจนกว่าดวงจันทร์จะออกจากเงามัวในเวลา 20.21 น. จันทรุปราคาครั้งนี้ทวีปยุโรป แอฟริกา และเอเชียตะวันตก ไม่สามารถมองเห็นได้

แม้ว่าปรากฏการณ์ในวันที่ 28 สิงหาคม อาจมีอุปสรรคเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝนและดวงจันทร์อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้า แต่ก็เป็นโอกาสดีสำหรับการถ่ายภาพจันทรุปราคาให้ติดมาพร้อมกับทิวทัศน์ใกล้ขอบฟ้า เช่น ต้นไม้ ภูเขา ทะเล หรือสถานที่สำคัญต่าง ๆ

จันทรุปราคาครั้งต่อไปที่เห็นในประเทศไทยเป็นจันทรุปราคาบางส่วน เกิดในคืนวันเสาร์ที่ 16 ต่อเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม 2551 ดวงจันทร์ถูกบังประมาณ 81%

สร้างโดย: 
ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 476 คน กำลังออนไลน์