จันทรุปราคาเต็มดวง : 16 กรกฎาคม 2543

รูปภาพของ ssspoonsak

จันทรุปราคาเต็มดวง : 16 กรกฎาคม 2543

วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@hotmail.com)

เมื่อคืนวันที่ 16 กันยายน 2540 หลายคนที่เฝ้าติดตามดูจันทรุปราคาเต็มดวงในค่ำคืนนั้นคงพอจำได้ดีว่า คราสเต็มดวงตลอดหนึ่งชั่วโมงในคืนวันนั้นเป็นสีแดงส้ม ถือได้ว่าเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่สว่างมากทีเดียว แต่จันทรุปราคาเต็มดวงที่จะเกิดขึ้นในคืนวันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นจันทรุปราคาที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาวนานที่สุด คือ 1 ชั่วโมง 47 นาที ยาวนานกว่าจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในสหัสวรรษหน้า คาดว่าจะเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่มืดสลัวกว่าครั้งที่แล้วด้วย

เนื่องจากจันทรุปราคาครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาหัวค่ำดังนั้นดวงจันทร์จึงอยู่ไม่สูงมากนักจากขอบฟ้า โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง คนไทยในประเทศน่าจะเริ่มเห็นดวงจันทร์ทางทิศตะวันออกได้ในเวลาประมาณ 19.00 น. หรือหลังจากนั้นไม่นาน ซึ่งดวงจันทร์ได้เข้าสู่เงามืดของโลกไปบางส่วนแล้ว โดยสังเกตได้ว่าขอบด้านล่างของดวงจันทร์มีลักษณะมืดคล้ำลง เงามืดของโลกจะกินลึกเข้าไปมากขึ้นจนกระทั่งเวลาใกล้ 20.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ดวงจันทร์เกือบจะถูกบังเต็มดวงแล้ว ในช่วงนี้จะเกิดความเปลี่ยนแปลงของสีและความมืดสลัวของเงามืด โดยเงามืดที่ปรากฏบนพื้นผิวดวงจันทร์อาจดูสว่างขึ้นเล็กน้อย และมีสีออกน้ำตาลปนเทา เนื่องจากแสงที่หักเหในบรรยากาศโลกเริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้นบนพื้นผิวดวงจันทร์

จากนั้น 20.02 น. เป็นเวลาที่เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง แม้ว่าขณะนี้ดวงจันทร์ได้ถูกเงาของโลกบดบังหมดทั้งดวง แต่ดวงจันทร์จะสว่างพอที่จะมองเห็นได้ และมีสีแดง ส้ม หรือเหลือง และบางส่วนอาจมีสีฟ้าหรือสีอื่นนอกจากนี้ ขณะนี้ดวงจันทร์กำลังเคลื่อนเข้าสู่ใจกลางของเงาโลก ซึ่งตามธรรมชาติแล้วดวงจันทร์ก็น่าจะมีความสว่างที่ลดลงมากกว่านี้ เวลา 20.56 น. เป็นเวลาที่ดวงจันทร์เข้าใกล้ศูนย์กลางเงามากที่สุดและจะเริ่มออกห่างศูนย์กลางเงานับจากนี้

ในขณะที่เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง นักดาราศาสตร์มีวิธีวัดความสว่างและสีของดวงจันทร์ซึ่งกระทำได้ง่ายด้วยการสังเกตด้วยตาเปล่า ตามมาตราของดองชง (Danjon’s scale) เรียกง่ายๆ ว่าค่าแอล (L) สีและความสว่างของดวงจันทร์ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงแต่ละครั้ง มีความแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ อาทิระยะห่างระหว่างดวงจันทร์กับศูนย์กลางเงา ปริมาณเมฆและฝุ่นละอองเถ้าถ่านในบรรยากาศโลก เราอาจประมาณค่าแอลได้จากตารางและถ้าจะให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดที่สุด อาจทำการประมาณค่าแอลทุกๆ 10-20 นาที นับตั้งแต่ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดทั้งดวง

  L   ความสว่างและสีของดวงจันทร์
0 ดวงจันทร์มืดมาก เกือบมองไม่เห็น
1 ดวงจันทร์มืด มีสีเทาหรือน้ำตาล มองเห็นรายละเอียดบนพื้นผิวได้ยาก
2 ดวงจันทร์มีสีแดงเข้ม หรือสีสนิมเหล็ก บริเวณใกล้ใจกลางมืดมาก แต่ขอบดวงจันทร์สว่าง
3 ดวงจันทร์มีสีแดงอิฐ ขอบเงามืดมีสีเหลืองหรือสว่าง
4 ดวงจันทร์มีสีทองแดงหรือสีส้ม ดวงจันทร์สว่างมาก ขอบเงามีสีฟ้าและสว่างมาก

สำหรับจันทรุปราคาครั้งนี้ ผู้เขียนได้เคยคาดหมายความสว่างของดวงจันทร์ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2543 และนิตยสารอัพเดทฉบับเดือนมิถุนายนว่า

"...ค่าแอล ณ เวลากึ่งกลางของการเกิดน่าจะใกล้เคียงกับ 1.0 คือ ดวงจันทร์มืด มีสีเทาหรือน้ำตาล มองเห็นรายละเอียดบนพื้นผิวได้ยาก ทั้งนี้เนื่องจากดวงจันทร์เข้าไปใกล้ศูนย์กลางเงามาก และฝุ่นละอองเถ้าถ่านจากการปะทุของภูเขาไฟมายันในฟิลิปปินส์และภูเขาไฟอูสุบนเกาะฮอกไกโดของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ อาจมีผลให้บรรยากาศในระดับสูงมีความทึบมากกว่าปกติได้ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอดีตคือการที่ภูเขาไฟปินาตุโบในฟิลิปปินส์ ทำให้จันทรุปราคาเต็มดวงที่เกิดขึ้นในช่วงหลังปี พ.ศ. 2534 มีความสว่างและสีผิดปกติ อย่างไรก็ตามหากปริมาณเถ้าถ่านจากภูเขาไฟยังไม่มากพอหรือกระจายตัวน้อยจนเกือบไม่มีผลกับบรรยากาศ เราก็ยังคงเชื่อมั่นได้ว่าจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้จะมืดกว่าครั้งที่เกิดขึ้นล่าสุดที่มองเห็นในประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2540..."

อย่างไรก็ตาม จากความเห็นของ Alan M. MacRobert ซึ่งมีโอกาสมองเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งล่าสุด (ที่มองไม่เห็นในประเทศไทย) ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Sky & Telescope อ้างถึงการที่จันทรุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 20-21 มกราคม 2543 มีความสว่างมาก ทำให้ตีความได้ว่าจันทรุปราคาครั้งนี้อาจมีแนวโน้มที่จะสว่างมากกว่าที่ผู้เขียนคาดหวังไว้ข้างต้น ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงจะทำให้ค่าแอลอาจมีค่าราว ๆ 2 หรือมากกว่าก็เป็นได้ โดยผู้เขียนยังคงเชื่อว่าหากเปรียบเทียบความสว่างของดวงจันทร์ครั้งนี้กับ ครั้งที่เกิดในปี พ.ศ. 2540 ก็น่าจะพบว่าคราวนี้ดวงจันทร์มืดกว่าครั้งที่แล้ว และน่าจะสังเกตเห็นความแตกต่างได้

ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง 16 กรกฎาคม 2543
เหตุการณ์ เวลา มุมเงย
ของดวงจันทร์
1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก 17.47 น. -13°
2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน (เริ่มเห็นดวงจันทร์แหว่ง) 18.57 น.
3. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง (ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดทั้งดวง) 20.02 น. 16°
4. กึ่งกลางของการเกิด 20.56 น. 27°
5. สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง (ดวงจันทร์ออกจากเงามืด) 21.49 น. 37°
6. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน (ดวงจันทร์กลับมาเต็มดวง) 22.54 น. 48°
7. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก 00.04 น. 54°

จันทรุปราคาเต็มดวงจะสิ้นสุดลงในเวลา 21.49 น. ทันทีที่บางส่วนของดวงจันทร์ออกจากเงามืดของโลก ขอบดวงจันทร์ด้านล่างจะสว่างขึ้นและหลังจากนั้นจะกลายเป็นจันทรุปราคาบางส่วน โดยดวงจันทร์เริ่มปรากฏเต็มดวงมากขึ้นๆ จนกระทั่งเวลา 22.54 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ดวงจันทร์กลับมาเต็มดวงสมบูรณ์เช่นเดิม อย่างไรก็ตามถ้าสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่าดวงจันทร์ยังคงดูมืดสลัวกว่าจันทร์เพ็ญปกติต่อไปอีกอย่างน้อย 15 นาที และจันทรุปราคาจะสิ้นสุดลงอย่างแท้จริงเมื่อดวงจันทร์ออกจากเงามัวของโลกในเวลาหลังเที่ยงคืนไม่นาน

สร้างโดย: 
ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 144 คน กำลังออนไลน์