ข้อควรระวัง5

 

  1.ไม่ควรใช้ยาสมุนไพรนานเกินความจำเป็น ถ้าใช้ยาสมุนไพรแล้ว 3-5 วันอาการยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ ทั้งนี้อาจเนื่องจากใช้ยาไม่ถูกกับโรค
          2. เมื่อใช้ยาสมุนไพรควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น  ถ้ามีอาการผิดปรกติควรรีบปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบัน
          3. ควรใช้ยาตามหลักการรักษาของแพทย์แผนโบราณอย่างเคร่งครัด  เพราะการดัดแปลงเพื่อความสะดวกของผู้ใช้อาจทำให้เกิดอันตรายได้
          4. อย่าใช้ยาเข้มข้นเกินไป เช่น ยาที่บอกว่าให้ต้มกิน  อย่านำไปเคี่ยวจนแห้งเพราะจะทำให้ยาเข้มข้นเกินไปจนทำให้เกิดพิษได้
          5. ขนาดที่ระบุไว้ในตำรับยามักเป็นขนาดของผู้ใหญ่ ในเด็กจะต้องลดขนาดลง
          6. ควรระวังความสะอาดของสมุนไพรสมุนไพรที่ซื้อมาจากร้านบางครั้งอาจเก่ามากถ้าสังเกตเห็นราหรือแมลงชอนไช ไม่ควรใช้ ทั้งนี้เนื่องจากสารสำคัญอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทำให้ใช้ไม่ได้ผล และยังอาจได้รับพิษจากแมลงหรือเชื้อรานั้นอีกด้วย

          การนำสมุนไพรมาผลิตเป็นยามีวิวัฒนาการจากการใช้ในครัวเรือน มาเป็นการผลิตขั้นอุต-สาหกรรมเพื่อสนองความต้องการของตลาด ในช่วงแรกของวิวัฒนาการเป็นการนำสมุนไพรมาทำเป็นยาสำเร็จรูป  โดยไม่ได้มีการแปรรูปหรือมีการแปรรูปแต่เพียงเล็กน้อย ได้แก่ การผลิตยาแผนโบราณต่างๆ เช่น ยาหอม ยาดองเหล้า ยาขม เป็นต้น ซึ่งผู้ผลิตได้ผลิตขึ้นโดยอาศัยตำรายาของครอบครัว บางรายผลิตเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน  บางรายก็ผลิตเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่  แต่เนื่องจากก่อนหน้านี้กฎหมายยาแผนโบราณมีการควบคุมรูปแบบวิธีการผลิตและการใช้สารกันบูด ทำให้ยาแผนโบราณบรรจุเสร็จไม่สามารถพัฒนารูปแบบให้น่าใช้เหมือนยาแผนปัจจุบัน  ความนิยมจึงลดลงโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ  นอกจากนี้แล้ววัตถุดิบบางชนิดก็หาได้ยากขึ้นเนื่องจากป่าถูกทำลายและขาดการเพาะปลูกเพิ่มเติม  วัตถุดิบบางอย่างก็มีราคาแพงขึ้นมาก  ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถผลิตโดยใส่ตัวยาให้ครบตามตำรับเดิมได้ คุณภาพของยาจึงลดลง เป็นผลให้ความนิยมลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตามยาแผนโบราณบางตำรับก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน เช่น ยาหอม ยาขม  ยาเหล่านี้ได้มีการพัฒนารูปแบบโดยทำเป็นยาเม็ดบ้าง เป็นสารสกัดบ้าง จึงยังคงรักษาความนิยมอยู่ได้ ขณะนี้รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญ และได้เข้าไปช่วยเหลือเพื่อยกมาตรฐานการผลิต ตลอดจนแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค
 
          ยาแผนโบราณบางขนานที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเป็นยาสามัญประจำบ้าน  ได้แก่ ยามหานิลแท่งทอง ยาเทพมงคล ยาเขียวหอม ยาประสะกะเพรา ยาเหลืองปิดสมุทร ยาอัมฤควาที ยาประสะมะแว้ง ยาตรีหอม ยาจันทลีลา ยาประสะจันทน์แดง ยาหอมอินทจักร์ ยาหอมนวโกฐ ยาวิสัมพญาใหญ่ ยาประสะไพล ยาธาตุบรรจบและยาประสะกานพลู
          สมุนไพรนอกจากจะมีบทบาทในอุตสาหกรรมยาแผนโบราณแล้ว ยังมีบทบาทในอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันอีกด้วย เดิมทียาต่างๆ  ล้วนได้มาจากธรรมชาติทั้งสิ้น โดยอาจได้มาจาก พืชสัตว์ หรือแร่ธาตุก็ได้ ในเวลาต่อมายาเหล่านี้จึงถูกแทนที่ด้วยยาสังเคราะห์ อย่างไรก็ตาม ยังมีสมุนไพรบางชนิดที่ยังคงใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตยาแผนปัจจุบันอยู่ เช่น ซิงโคนาใช้ผลิตควินินซึ่งใช้เป็นยารักษามาลาเรีย แพงพวยฝรั่งใช้ผลิตวิงคริสทีน (vincristine)  และวินบลาสทีน (vinblastine) ซึ่งใช้รักษามะเร็งของเม็ดโลหิตเป็นต้น สมุนไพรบางชนิดแม้จะไม่ใช้ผลิตยาโดยตรง แต่ก็เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ยา เช่น น้ำมันพืช เป็นวัตถุดิบในการผลิตบีตาซิโตสเตียรอล  ซึ่งใช้สังเคราะห์ฮอร์โมนและยาต้านการอักเสบ เป็นต้น สารจากสมุนไพรบางชนิดก็เป็นต้นแบบในการสังเคราะห์ยาใหม่ๆ เช่น โคเคนจากใบโคคาเป็นต้นแบบในการสังเคราะห์ ยาชาเฉพาะที่ต่างๆ  เป็นต้น ความสำคัญของสมุนไพรตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้มักจะถูกคนทั่วไปลืม เนื่องจากสารที่สกัดได้มีรูปแบบเช่นเดียวกับยาสังเคราะห์ จึงมักทำให้เข้าใจว่ากันว่าเป็นยาสังเคราะห์ทั้งสิ้น

          เนื่องจากสมุนไพรยังมีบทบาทในอตุสาหกรรมยาดังกล่าว  จึงยังมีการซื้อขายสมุนไพรกันในตลาดโลกประเทศไทยมีการส่งออกสมุนไพรหลายชนิด แต่เป็นการส่งออกสมุนไพรที่เก็บจากธรรมชาติซึ่งมีจำนวนจำกัด จึงทำให้ไม่สามารถขยายตลาดได้  รัฐบาลจึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกพืชสมุนไพรขึ้น แต่การจะเพาะปลูกพืชสมุนไพรให้มีคุณภาพนั้น จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมดังนั้นในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๖ จึงได้กำหนดให้มีการศึกษา
          วิจัยเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสม ในการเพาะปลูกพืชสมุนไพร 12 ชนิด คือ เร่ว กระวาน กานพลู ดีปลี พริกไทย พลู มะขามแขก จันทน์เทศ ชะเอมเทศ เทียนเกล็ดหอย ดองดึง และขมิ้น รวมทั้งมีการศึกษาหาลู่ทางในการขยายตลาดของพืชสมุนไพรเหล่านี้ออกไป โดยคาดหวังว่าจะสามารถส่งพืชสมุนไพรออกไปจำหน่ายในต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น
          จากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าสมุนไพรเป็นทรัพยากรที่สำคัญยิ่งของชาติ ที่ปู่ย่าตายายของเราได้ใช้รักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยมานานหลายชั่วคน จนนับได้ว่าสมุนไพรและการรักษาโรคแบบพื้นบ้านของเรานั้นเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของคนไทย  ซึ่งสมควรที่จะอนุรักษ์ไว้และสร้างค่านิยมให้เกิดขึ้นกับอนุชนรุ่นหลังต่อไป แต่การสร้างค่านิยมให้กับประชาชนและเยาวชนจะสำเร็จได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาและพัฒนาสมุนไพรให้มีมาตรฐานเป็นที่เชื่อถือ มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคอย่างแท้จริง  มีรูปแบบสำหรับการใช้ที่เป็นที่ยอมรับ ปลอดภัยและราคาถูก  จึงจะสามารถโน้มน้าวให้ประชาชนยอมรับยาสมุนไพร และสามารถทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบันบางชนิดที่ต้องนำเข้ามาจากต่าง-ประเทศได้ ขณะนี้รัฐบาลได้กำหนดเป็นนโยบายของชาติให้มีการเร่งรัดการพัฒนาสมุนไพรให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และส่งเสริมให้มีการใช้เป็นยาอย่างแพร่หลายทั้งในสถานบริการและรัฐและในงานสาธารณสุขมูลฐาน อุตสาหกรรมยาแผนโบราณ  ตลอดจนอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันรวมทั้งส่งเสริมให้มีการส่งออกสมุนไพรหลายชนิด  ซึ่งผลการสำรวจพบว่าสมุนไพรบางชนิดสูญพันธ์ หรือขาดแคลนไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากป่าไม้ถูกทำลาย ทำให้ไม่สามารถหาสมุนไพรที่มีคุณภาพได้เพียงพอ    และสมุนไพรที่หาได้ก็ยังมีราคาแพงอีกด้วย การอนุรักษ์สมุนไพร การปลูกและการกระจายพันธุ์สมุนไพรจึงจำเป็นจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

 
                                                                                                                                      
                                                                                                                                       
      

สร้างโดย: 
วรัญญา สุจีรกุลกิจ และ คุณครู นิโลบล พิพัฒวรรณกุล

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 608 คน กำลังออนไลน์