มงคลที่ 19 งดเว้นจากบาป

                                                           มงคลที่ 19 งดเว้นจากบาป

                                                  

                                       แหล่งที่มา : http://www.kmitl.ac.th/buddhist/tumma/

 

กรรมชั่วช้า ลามก ต้องยกเว้น
หากขืนเล่น ด้วยกัน ถูกมันผลาญ
งดเว้นบาป กำราบให้ ไกลสันดาน
ในดวงมาลย์ ไม่ร้อน และอ่อนเพลีย

บาปคืออะไร ? 
   สิ่งของที่เสีย เรามีชื่อเรียกต่างๆ กันไป เช่น บ้านเสียเราเรียกบ้านชำรุด อาหารเสียเราเรียก อาหารบูด ฯลฯ คำจำพวกที่ว่า บูด ชำรุด
แตกหัก ผุพัง เน่า ขาด ขึ้นรา ฯลฯ ถ้าพูดรวมๆ เรียกว่า เสีย หมายความว่า มันไม่ดี  อาการเสียของจิตก็เหมือนกัน เราเรียกแยกได้หลายอย่าง เช่น จิตเศร้าหมอง จิตเหลวไหล ใจร้าย ใจดำ ใจขุ่นมัว ฯลฯ แล้วแต่จะบอกอาการทางไหน คำว่า เศร้าหมอง เหลวไหล ต่ำทราม ร้ายกาจ เป็นคำบอกว่าจิตเสีย ซึ่งความเสียของจิตนี้ทางศาสนาท่านใช้คำสั้นๆ ว่า “บาป” คำว่า บาป จึงหมายถึงความเสียของจิตนั่นเอง คือ การที่ใจมีคุณภาพต่ำลง ไม่ว่าจะเสียในแง่ไหนก็เรียกว่าบาปทั้งสิ้น

งดเว้นจากบาปหมายความว่าอย่างไร
 งด หมายถึง สิ่งใดที่เคยทำแล้วหยุดเสีย เลิกเสีย
 เว้น หมายถึง สิ่งใดที่ไม่เคยทำ ก็ไม่ยอมทำเลย
 งดเว้นจากบาป จึงหมายความว่า การกระทำใดก็ตามทั้ง กาย วาจา ใจ ที่เป็นความชั่ว ความร้ายกาจ ทำให้ใจเศร้าหมอง ถ้าเราเคยทำอยู่ก็จะงดเสีย ที่ยังไม่เคยทำก็จะเว้นไม่ยอมทำโดยเด็ดขาด

สิ่งที่ทำแล้วเป็นบาป คือ อกุศลกรรมบถ 10 ได้แก่
 1.ฆ่าสัตว์ เช่น ฆ่าคน ยิงนกตกปลา รวมถึงทรมานสัตว์
 2.ลักทรัพย์ เช่น ลักขโมย ปล้น ฉ้อโกง หลอกลวง คอรัปชั่น
 3.ประพฤติผิดในกาม เช่น เป็นชู้ ฉุดคร่า อนาจาร
 4.พูดเท็จ เช่น พูดโกหก พูดเสริมความ ทำหลักฐานเท็จ
 5.พูดส่อเสียด เช่น พูดยุยงให้เขาแตกกัน ใส่ร้ายป้ายสี
 6.พูดคำหยาบ เช่น ด่า ประชด แช่งชักหักกระดูก ว่ากระทบ
 7.พูดเพ้อเจ้อ เช่น พูดพล่าม พูดเหลวไหล พูดโอ้อวด
 8.คิดโลภมาก เช่น อยากได้ในทางทุจริต เพ่งเล็งทรัพย์คนอื่น
 9.คิดพยาบาท เช่น คิดอาฆาต คิดแก้แค้น คิดปองร้าย
 10.คิดเห็นผิด เช่น เห็นว่าบุญบาปไม่มี เห็นว่าบิดามารดาไม่มีพระคุณ เห็นว่าตายแล้วสูญ เห็นว่ากฎแห่งกรรมไม่มี

วิธีงดเว้นจากบาปให้สำเร็จ
 คนเราประกอบขึ้นด้วยกายและใจ โดยใจจะเป็นผู้คอยควบคุมกายให้ทำหรือไม่ให้ทำสิ่งต่างๆ  ตามที่ใจต้องการ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ทุกอย่างมีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าใครมีใจชั่วเสียแล้ว การพูดการกระทำของเขาก็ย่อมชั่วตามไปด้วย เพราะการพูดชั่วทำชั่วนั้น ความทุกข์ก็ย่อมตามสนองเขา เหมือนวงล้อเกวียนที่หมุนเวียนตามบดขยี้รอยเท้าโคที่ลากมันไป  แต่ถ้ามีใจบริสุทธิ์ การพูด การกระทำ ก็ย่อมบริสุทธิ์ตามไปด้วย เพราะการพูด การกระทำที่บริสุทธิ์ดีงามนั้น ความสุขก็ย่อมตามสนองเขา เหมือนเงาที่ไม่พรากไปจากร่างฉะนั้น” ดังนั้นผู้ที่ปรารถนาหาความสุข ความก้าวหน้าทั้งหลาย จึงต้องฝึกใจตนเองให้งดเว้นบาป ซึ่งทำได้โดย ต้องฝึกให้ใจมีหิริโอตตัปปะเสียก่อน

หิริโอตตัปปะคืออะไร
 หิริ คือ ความละอายบาป เป็นความรู้สึกรังเกียจ ไม่อยากทำบาป เห็นบาปเป็นของสกปรกจะทำให้ใจของเราเศร้าหมอง จึงไม่ยอมทำบาป
 โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวบาป เป็นความรู้สึกกลัว กลัวว่าเมื่อทำไปแล้ว บาปจะส่งผลเป็นความทุกข์ทรมานแก่เรา จึงไม่ยอมทำบาป 
 

เหตุที่ทำให้เกิดหิริ
 1.คำนึงถึงความเป็นคน หรือชาติตระกูล “เรานี่มีบุญอุตส่าห์ได้เกิดเป็นคนแล้ว ทำไมจึงจะมาฆ่าสัตว์ ทำไมต้องมาขโมยเขากิน
นั่นมันเรื่องของสัตว์เดียรัจฉานทำไมต้องมาแย่งผัวแย่งเมียเขา ไม่ใช่หมู หมา กา ไก่ ในฤดูผสมพันธุ์นี่ เรานี้มันชาติคน เป็นมนุษย์สูงกว่า
สัตว์ทั้งหลายอยู่แล้ว” พอคำนึงถึงชาติตระกูล หิริก็เกิดขึ้น
 2.คำนึงถึงอายุ “โธ่เอ๋ย เราก็แก่ป่านนี้แล้ว จะมานั่งเกี้ยวเด็กสาวๆ คราวลูกคราวหลานอยู่ได้อย่างไร โธ่เอ๋ยเราก็แก่ป่านนี้แล้วจะมาขโมยของเด็กรุ่นลูกรุ่นหลานได้อย่างไร” พอคำนึงถึงวัย หิริก็เกิดขึ้น
 3.คำนึงถึงความดีที่เคยทำ “เราก็เคยมีความองอาจกล้าหาญทำความดีมาก็มากแล้ว ทำไมจะต้องมาทำความชั่วเสียตอนนี้ล่ะ ไม่เอาละ
ไม่ยอมทำความชั่วละ” พอคำนึงถึงความดีเก่าก่อน หิริก็เกิดขึ้น
 4.คำนึงถึงความเป็นพหูสูต “ดูซิ เราก็มีความรู้ขนาดนี้แล้ว รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ รู้สารพัดจะรู้แล้ว
จะมาทำความชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงความเป็นพหูสูต หิริก็เกิดขึ้น
 5.คำนึงถึงพระศาสดา “เราเองก็ลูกพระพุทธเจ้า พระองค์สู้ทนเหนื่อยยาก ตรัสรู้ธรรมแล้วทรงสั่งสอนอบรมพวกเราต่อๆ กันมา เราจะละเลย
คำสอนของพระองค์ ไปทำชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงพระศาสดา หิริก็เกิดขึ้น
 6.คำนึงถึงครูอาจารย์ สถานศึกษา “ ฮึ เราก็ศิษย์มีครูเหมือนกัน ครูอาจารย์สู้อบรมสั่งสอนมา ชื่อเสียงสถาบันของเราก็โด่งดังเป็นที่ยกย่องสรรเสริญ แล้วเราจะมาทำชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงครูอาจารย์ สำนักเรียน หิริก็เกิดขึ้น

เหตุที่ทำให้เกิดโอตตัปปะ
 1.กลัวคนอื่นติ “นี่ถ้าเราขืนไปขโมยของเขาเข้า คนอื่นรู้คงเอาไปพูดกันทั่ว ชื่อเสียงที่เราอุตส่าห์สร้างมาอย่างดี คงพังพินาศหมดคราวนี้เอง “เมื่อกลัวว่าคนอื่นเขาจะติเอา โอตตัปปะก็เกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป”
 2.กลัวการลงโทษ “อย่าดีกว่า ขืนไปฆ่าเขาเข้า บาปกรรมตามทันตำรวจจับได้ มีหวังติดคุกตลอดชีวิตแน่” เมื่อกลัวว่าบาปจะส่งผลให้ถูกลงโทษ โอตตัปปะก็เกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป
 3.กลัวการเกิดในทุคติ “ไม่เอาละ ขืนไปขโมยของเขา อีกหน่อยต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรก สัตว์เดียรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย ไม่ทำดีกว่า"  เมื่อกลัวว่าจะต้องไปเกิดในทุคติ โอตตัปปะก็เกิดขึ้นจึงไม่ยอมทำบาป

อานิสงส์การงดเว้นบาป
 1.ทำให้เป็นคนไม่มีเวร ไม่มีภัย
 2.ทำให้เกิดมหากุศลตามมา
 3.ทำให้โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียน
 4.ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท
 5.ทำให้เกิดศรัทธาในพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น
 6.ทำให้จิตใจผ่องใส พร้อมที่จะรองรับคุณธรรมขั้นสูงต่อไป

 

              

 

                                                           

                                                                        สารบัญ คลิกที่นี่

 

สร้างโดย: 
นางปาลิดา สวนชังและนางสาวนันทิชา เรืองวินิตวงศ์

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 596 คน กำลังออนไลน์