การดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชน

รูปภาพของ nupoon

ใต้กระแส:สำนึกสิ่งแวดล้อมกับการสร้างความหมายใหม่ของ "ชุมชน"
 
          จินตนาการและความสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย ความเข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมของสังคมไทย จึงซ้อนทับกันในหลายความหมาย ความหมายที่ยังมีพลังครอบงำสังคมไทยอยู่ ได้แก่ "สิ่งแวดล้อม" ในความหมายของทรัพยากรธรรมชาติ ที่ต้องหยิบฉวยมาใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นความคิดเก่าพัฒนามาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2500 โดยความคิดชุดนี้ได้พยายามสอดแทรกความหมายรองซ้อนเอาไว้ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการ "ถลุง" สิ่งแวดล้อม ว่า หากจะใช้ก็ต้องคำนึงถึงผลเสียไว้บ้าง แต่ก็จำเป็นต้องใช้เพื่อการผลิตที่เป็นผลดีแก่เศรษฐกิจของประเทศ ชุดความคิดลักษณะนี้ปรากฏอย่างเด่นชัดในองค์กรทางด้านพลังงานของไทย

          ความหมายที่ซ้อนกันอยู่ของ "สิ่งแวดล้อม-ทรัพยากรธรรมชาติ" ได้ถูกใช้และตอกย้ำให้สังคมไทยรับรู้อยู่ตลอดมา จึงไม่น่าแปลกใจอันใดที่สังคมไทยไม่เคยตั้งคำถามกับองค์กรที่ทำลายธรรมชาติมากที่สุดที่โฆษณาเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างมากมายในสื่อต่างๆ จนกระทั่งหากเกิดกระแสคัดค้านการสร้างเขื่อนปั่นกระแสไฟฟ้าขึ้นมาในคราวใด ก็จะมีเสียงโต้ตอบทันควันว่า ให้คนที่คัดค้านไปจุดเทียน ไต้ หรือคบไฟ อย่ามาใช้ไฟฟ้าจากเขื่อนอีกต่อไป

          นอกจากนี้ กรอบความคิดเรื่อง "สิ่งแวดล้อม" ถูกทำให้มีความหมายเพียงแค่ส่วนเสี้ยวที่ไม่ค่อยมีความสำคัญต่อชีวิตของคนไทยเท่าใดนัก เช่น การทำให้ความเข้าใจในเรื่องการรักษา "สิ่งแวดล้อม" มีค่าเท่ากับการรักษาความสะอาดของบ้านเมืองเท่านั้น เป็นต้น

          กรอบความเข้าใจในเรื่อง "สิ่งแวดล้อม-ทรัพยากรธรรมชาติ" ที่คับแคบคลาดเคลื่อนยังส่งผลให้การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของสังคมไทย เป็นเรื่องแปลกแยกออกจากชีวิตจริงของคน และทำให้ยกพันธกิจในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้แก่หน่วยราชการตลอดมา

          ความเข้าใจในเรื่อง "สิ่งแวดล้อม" ในวันนี้ จึงจำเป็นต้องคิดใหม่ในสองระดับด้วยกัน ระดับแรกก็คือ จะต้องสลัดให้หลุดออกจากการคิดถึง "สิ่งแวดล้อม" ที่มีค่าเหมือนกับ "ทรัพยากรธรรมชาติ" ให้ได้ เพื่อที่จะสามารถแสวงหาแนวทางในการดูแล "สิ่งแวดล้อม" ในมิติใหม่ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องดึงเอาอำนาจในการจัดการ "สิ่งแวดล้อม" ออกมาจากมือของหน่วยราชการเป็นเบื้องแรก แล้วหาทางสร้างองค์กรทางสังคมที่หลากหลาย ที่สอดคล้องกับนิเวศวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่างๆ เข้ามารับผิดชอบแทน

          แน่นอนว่า ย่อมเกิดกระแสการคัดค้านจากหน่วยราชการ ที่เคยมีอำนาจในการจัดการ "ทรัพยากรธรรมชาติ" อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่การเกิดองค์กรทางสังคมใหม่ๆ ที่มีอำนาจและพันธกิจในการดูแล "สิ่งแวดล้อม" นี้ อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้เกิดการสร้างความรู้ และการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางมากขึ้นในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วยให้ความเข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม และปัญหาสิ่งแวดล้อมมีความลึกซึ้งและรอบด้านมากขึ้น

          ในอีกระดับหนึ่ง ได้แก่ การทำให้ "สิ่งแวดล้อม" เป็นเรื่องของทุกๆ ชีวิตในสังคมไทย ที่มีทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง การรณรงค์ให้คนไทยมีความสำนึกในเรื่องสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องแสวงหาแนวทางในการทำให้ปฏิบัติการทางสังคมและความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมถูก "กลืนเข้าไปสู่ข้างใน" (internalized) จนกลายเป็นจิตสำนึกร่วมของคนในสังคมไทย

          การที่ปฏิบัติการทางสังคมและความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม จะถูก "กลืนเข้าไปสู่ข้างใน" นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ จำเป็นจะต้องคิดกันให้กว้างขวาง เพราะสำนึกเรื่อง "สิ่งแวดล้อม" ไม่ใช่แค่การคิดถึงหรือมองเห็นประเด็น "สิ่งแวดล้อม" เป็นครั้งคราว หากแต่เป็นการผูกตัวเองของผู้คนเข้ากับ "สิ่งแวดล้อมทั้งหมด" ในชีวิตประจำวัน และต้องนำไปสู่การมีความสำนึกถึงสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ว่า เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ของชีวิตตนเอง มิใช่เป็นเพียง "สมบัตินอกกาย" เพราะหากขาดสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพดีไปเมื่อใด ชีวิตที่ดีก็เกิดขึ้นไม่ได้

          ปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่ง ที่จะทำให้ "กระบวนการกลืนเข้าไปสู่ข้างใน" เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การสร้างความหมายใหม่ของ "ชุมชน" เพราะความเป็น "ชุมชน" เป็นสายใยทางสังคมที่ร้อยรัดคนให้เกิดความสำนึกร่วมใน "สมบัติชุมชน-ส่วนรวม" อันจะนำไปสู่การแปรความหมายของ "สิ่งแวดล้อม" ให้กลายเป็น "สมบัติชุมชน-ส่วนรวม" ซึ่งจะส่งผลให้สังคมทั้งหมดเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยสำนึกร่วมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสืบไป

          เมื่อพูดถึง "ชุมชน" ก็จำเป็นต้องคิดกันให้ชัดเจนว่า ไม่มี "ชุมชน" ที่ดำรงอยู่ลอยๆ หากแต่ความเป็น "ชุมชน" นั้น ต้องสัมพันธ์อยู่กับ "สมบัติชุมชน" และเมื่อต้องการขยายความสำนึกเรื่อง "สิ่งแวดล้อม" ให้สัมพันธ์กับชีวิตผู้คน ก็ต้องทำให้ "สิ่งแวดล้อม" นั้น กลายเป็น "สมบัติชุมชน" เพื่อที่จะทำให้ "สิ่งแวดล้อม" ไม่ใช่เพียงแค่การรับรู้หรือมองเห็นเท่านั้น และเมื่อทำให้ "ชุมชน" สัมพันธ์อยู่กับ "สมบัติชุมชน" ความสำนึกเช่นนี้จะขยายตัวออกไปสู่ความเคารพและยอมรับ "ชุมชนและสมบัติชุมชน" ของชุมชนรอบข้างและชุมชนทุกแห่งที่อยู่ในสังคมเดียวกัน ความสำนึกเช่นนี้ ก็คือการสร้างความหมายของ "สิ่งแวดล้อม" ให้กลายเป็น "สมบัติชุมชน-ส่วนรวม" นั่นเอง

          ตัวอย่างในสังคมญี่ปุ่นซึ่งเรื่องนี้ชัดเจนมากที่สุด เนื่องจากสังคมญี่ปุ่นยังคงรักษา "ชุมชน" และ "สมบัติชุมชน" ในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเข้มแข็ง ชุมชนแต่ละชุมชนยังคงรักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมของตนเองได้อย่างมีพลัง ความสำนึกใน "ชุมชน" ของตนเองเช่นนี้ จึงทำให้คนญี่ปุ่นเคารพใน "ชุมชน" ของเพื่อนบ้าน และเพื่อนร่วมสังคมอย่างแข็งแรงตามไปด้วย

          นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นจะไม่มีวันเรียกร้องให้ "ชุมชน" ที่ตนไปเที่ยวดัดแปลง หรือสร้างแต่ง "สิ่งแวดล้อม" ด้านต่างๆ เพื่อตอบสนองการท่องเที่ยวของตนเอง หากแต่จะไปเที่ยวดู "สิ่งแวดล้อม" ตามที่ "ชุมชน" เจ้าของพื้นที่เป็นผู้จัดให้ท่องเที่ยวเท่านั้น

          ความเคารพใน "ชุมชน" ของตน จึงเท่ากับความเคารพใน "ชุมชน" ของเพื่อนบ้าน และส่งผลให้สมบัติของแต่ละชุมชนเป็นสมบัติของส่วนรวมโดยปริยาย และทำให้ความสำนึกในเรื่อง "สิ่งแวดล้อม" กลืนเข้าไปข้างในของสังคมญี่ปุ่น

          สังคมไทยต้องคิดถึงความสำนึกและความเคารพในชุมชนของตนให้ชัดเจนขึ้น เพื่อที่จะสานต่อความสำนึกและความเคารพในชุมชนไปยังชุมชนเพื่อนบ้านในสังคมเดียวกัน เพื่อที่จะทำให้เกิดความสำนึกในเรื่องของความหมายของ "สมบัติชุมชน-ส่วนรวม" ความหมายใหม่ของชุมชน จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมไทยต้องคิด และช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้นมาครับ

แหล่งอ้างอิง

สร้างโดย: 
นายพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 483 คน กำลังออนไลน์