สาเหตุของมลพิษ

 

Homeผู้จัดทำสิ่งแวดล้อมน้ำดินขยะอากาศป่าไม้

 

น้ำให้ชีวิต 
สาเหตุของมลพิษ 
ผลกระทบ 
การป้องกัน 

ปัญหาทรัพยากรน้ำ
     
น้ำ ( Water ) เป็นสารประกอบที่ประกอบด้วยธาตุไฮโดรเจน ( Hydrogen ) 2 อะตอม และออกซิเจน ( Oxygen ) 1 อะตอม คิดเป็นอัตราส่วน 1 ต่อ 8 โดยน้ำหนักพบได้ 3 สถานะ คือของเหลว ของแข็ง และก๊าซ (น้ำในบรรยากาศ) สูตรทางเคมี คือ H 2 O น้ำที่บริสุทธิ์จะเป็นของเหลวใส ไหลเทได้ ไม่มีสีและไม่มีกลิ่น

     น้ำมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะมนุษย์ใช้ประโยชน์จากน้ำในชีวิตประจำวันทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งการอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม การคมนาคม และพักผ่อนหย่อนใจ และถึงแม้ว่าน้ำจะเป็นทรัพยากรที่ไม่หมดไปจากโลก เพราะมีวัฏจักรของน้ำ วัฏจักรของน้ำก่อให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำในโลกต่อเนื่องกันอย่างไม่จบสิ้น แต่น้ำโดยเฉพาะน้ำจืดก็ ไม่ได้มีอยู่ทุกหนทุกแห่งและตลอดเวลา เพราะน้ำส่วนใหญ่อยู่ในมหาสมุทรซึ่งเป็นน้ำเค็ม มนุษย์ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยตรง การจะมีน้ำจืดผิวดินและน้ำบาดาลหรือไม่มีขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยได้แก่ ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ โครงสร้างทางธรณีวิทยา ชนิดของพืชที่ปกคลุมในเขตพื้นที่ นั้นๆ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่มีผลต่อสภาพสมดุลทางธรรมชาติของน้ำ และส่งผลถึง วงจรของน้ำในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องจนเป็นผลกระทบต่อวงจรน้ำของโลก เช่น การทำการเกษตร การตัดไม้ทำลายป่า การปล่อยแก๊สเรือนกระจก การสร้างเขื่อน การขุดบ่อบาดาล เป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงอยู่ของคนเรา ดังนั้นเราจำเป็นต้องศึกษาและสร้างสมดุลของน้ำเหล่านี้ให้อยู่ในสภาวะที่พอเหมาะ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายรวมถึงคนเราสามารถ อยู่อาศัยบนโลกนี้นานเท่านาน

ปัญหาที่เกิดกับทรัพยากรน้ำในประเทศไทย
แหล่งน้ำที่มีอยู่ ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย มีปัญหาที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นอยู่หลายด้านดังนี้
      1. น้ำเสีย น้ำเสียในปัจจุบันมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ซึ่งพอจะแยกแหล่งของน้ำเสียได้ 3 แหล่งใหญ่ๆ คือน้ำเสียจากภาคการเกษตรทั้งจาก การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ น้ำเสียจากอุตสาหกรรม และ น้ำเสียจากชุมชน
      2. การขาดแคลนน้ำ ในหน้าแล้ง ประชากรไทยจะขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้จำนวน 13,000 - 24,000 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 6 - 10 ล้านคน ซึ่งโดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง การขาดแคลนน้ำในระดับวิกฤตจะเกิดเป็นระยะๆ และรุนแรงขึ้น
      3. คุณภาพน้ำ ปัจจุบันแหล่งน้ำจำนวนมากมีปัญหาด้านคุณภาพน้ำ ถึงแม่ว่าจะยังไม่ใช่น้ำเสีย แต่ก็เป็นน้ำที่มีคุณภาพต่ำ ปัญหาที่พบคือ น้ำมีความขุ่นสูง ค่า pH ต่ำ มีการปนเปื้อนของสารพิษ
     4. การรุกล้ำของน้ำเค็ม เนื่องจากบริเวณปากแม่น้ำมีปริมาณน้ำจืดที่จะไปผลักดันน้ำเค็มมีน้อย ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุทั้งฝนแล้ง การใช้น้ำจำนวนมากในกิจกรรมต่างๆ
     5. การชะล้างพังทลายของดิน เนื่องจากผิวดินถูกเปลี่ยนสภาพไปเป็นพื้นที่การเกษตรจำนวนมากทำให้หน้าดินเปิดโล่งเมื่อมีฝนตกลงมาอย่างหนักจึงก่อให้เกิดการชะล้างพังทลายได้ง่าย      6. การเกิดอุทกภัย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแถบทุกปีในช่วงฤดูมรสุม เกิดจากฝนตกหนักหรือตกติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า แหล่งน้ำตื้นเขินทำให้รองรับน้ำได้น้อยลง การก่อสร้างที่ทำให้น้ำไหลได้น้อยลง เช่น การก่อสร้างสะพาน นอกจากนี้น้ำท่วมอาจเกิดจากน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น พื้นดินทรุดตัวเนื่องจากการสูบน้ำใต้ดินไปใช้มากเกินไป พื้นที่เป็นที่ต่ำและการระบายน้ำไม่ดี และการสูญเสียพื้นที่น้ำท่วมขัง ตัวอย่างได้แก่ การถมคลองเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัย เป็นต้น
     7. ความขัดแย้งในเรื่องการใช้น้ำ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมีมากขึ้นในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้น้ำสูง จึงเป็นที่ที่มีความขัดแย้ง หรือแม้แต่ความต้องการใช้น้ำที่ต่างกัน เช่น กรณีของเขื่อนปากมูล ชาวบ้านต้องการใช้น้ำเพื่อการ ทำประมงและรักษาสมดุลธรรมชาติแต่หน่วยงานราชการต้องการน้ำเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า
    8. การสูบน้ำใต้ดินไปใช้มากจนแผ่นดินทรุดตัว ชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทั้ง 6 จังหวัดใช้น้ำบาดาลจำนวนมาก เมื่อปี 2538 พบว่า ใช้ประมาณวันละ 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจใช้ประมาณวันละ1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ดินทรุดตัวลงทีละน้อยและทำให้เกิดน้ำท่วมขังได้ง่ายขึ้น
    9. ปัญหาการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างไม่เหมาะสม เช่น ใช้มากเกินความจำเป็นโดยเฉพาะเมื่อเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเจริญจะมีการใช้น้ำสูงและใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย

จัดทำโดย ครูอรุณีย์ วงษ์ศรีปาน
โรงเรียนร่อนพิบูลย์เกียรติวสุนธราภิวัฒก์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
Copyright (c) 2008 Miss.Arunee Wongsripan. All rights reserved.

จำนวนผู้เข้าใช้งาน
ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2551

บริหารและจัดการโดยทีมงานชาวมัธยมศึกษาและประถมศึกษา
e-mail: webmaster@thaigoodview.com