ด้านการศึกสงคราม

                

http://www.sm.ac.th/chantanimit/images/place%5B3%5D.jpg

        ขณะที่พระยาตากได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นพระยาวชิรปราการ(สิน) สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองเดิมที่ถึงแก่กรรม แต่ก็ยังมิได้ไปครองเมืองกำแพงเพชร เพราะต้องต่อสู้กับข้าศึกในการป้องกันพระนคร

        เมื่อพระยาวชิรปราการ(สิน) เล็งเห็นว่าถึงแม้จะอยู่ช่วยรักษาพระนครต่อไป ก็คงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด พม่าก็ตั้งล้อมพระนครกระชั้นเข้ามาทุกขณะจนถึงคูพระนครแล้ว กรุงศรีอยุธยาคงไม่พ้นเงื้อมมือพม่าเป็นแน่แท้ ไพร่ฟ้าข้าทหารในพระนครก็อิดโรยลงมาก เนื่องจากขัดสนเสบียงอาหาร ทหารไม่มีกำลังใจจะสู้รบ ดังนั้นพระยาวชิรปราการ(สิน) จึงตัดสินใจร่วมกับพระยาพิชัยอาสา พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี และพรรคพวก รวม 500 คน ยกกำลังออกจากค่ายวัดพิชัย ตีฝ่าพม่าไปทางทิศตะวันออก เวลาค่ำในวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 4 ค่ำ ปีจอ พ.ศ. 2309 ตรงกับวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2309 ทัพพม่าได้ส่งทหารไล่ติดตามพระยาวชิรปราการ(สิน) และพรรคพวกมาทันกันในวันรุ่งขึ้นที่ บ้านโพธิ์สังหาร พระยาวชิรปราการ(สิน) ได้นำพลทหารไทยจีนเข้ารบกับทหารพม่าเป็นสามารถจนทหารพม่าแตกพ่ายไป และยังได้ยึดเครื่องศาสตราวุธอีกเป็นจำนวนมาก แล้วออกเดินทางไปตั้งพักที่บ้านพรานนก เพื่อหาเสบียงอาหาร ระหว่างที่ทหารพระยาวชิรปราการ(สิน) หาเสบียงอาหารอยู่นั้น ได้พบทัพพม่าจำนวนพลขี่ม้าประมาณ 30 ม้า พลเดินเท้าประมาณ 2,000 คน ยกทัพมาจากบางคาง แขวงเมืองปราจีนบุรี เพื่อเข้ารวมพลเข้าตีกรุงศรีอยุธยาในโอกาสต่อไป ทหารพระยาวชิรปราการ(สิน) จึงหนีกลับมาที่บ้านพรานนก โดยมีทหารพม่าไล่ติดตามมาอย่างกระชั้นชิดและชะล่าใจ พระยาวชิรปราการ(สิน) จึงให้ทหารซึ่งเป็นพลเดินเท้าแยกออกเป็นปีกกาเข้าตีโอบพวกพม่าทั้งสองข้าง ส่วนพระยาวชิรปราการ(สิน) กับทหารอีก 4 คน ก็ขี่ม้าตรงเข้าไล่ฟันทหารม้าพม่าซึ่งนำทัพมาอย่างไม่ทันรู้ตัวก็แตกร่นไป ถึงพลเดินเท้า พวกทหารพระยาวชิรปราการได้ทีเข้ารุกไล่ฆ่าฟันทหารพม่าจนแตกพ่ายไป การชนะในครั้งนี้ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ทหารพระยาวชิรปราการ(สิน) เป็นอย่างมากในโอกาสสู้รบกับพม่าในโอกาสต่อไป

        พวกราษฏรที่หลบซ่อนเร้นพม่าอยู่ได้ทราบกิตติศัพท์การรบชนะของพระยาวชิรปราการ (สิน) ต่อทหารพม่าต่างก็มาขอเข้าเป็นพวก และได้เป็นกำลังสำคัญในการเกลี้ยกล่อมผู้ที่ตั้งตัวเป็นหัวหน้า นายซ่องต่าง ๆ มาอ่อนน้อมขุนชำนาญไพรสนฑ์ และนายกองช้างเมืองนครนายก มีจิตสวามิภักดิ์ได้นำเสบียงอาหารและช้างม้ามาให้เป็นกำลังเพิ่มขึ้น ส่วนนายซ่องใหญ่ซึ่งมีค่ายคูยังทะนงตนไม่ยอมอ่อนน้อม พระยาวชิรปราการ (สิน) ก็คุมทหารไปปราบจนได้ชัยชนะแล้วจึงยกทัพผ่านเมืองนครนายกข้ามลำน้ำเมือง ปราจีนบุรีไปตั้งพักที่ชายดงศรีมหาโพธิ์ข้างฟากตะวันตก

        ทหารพม่าเมื่อแตกพ่ายไปจากบ้านพรานนกแล้วก็กลับไปรายงานนายทัพที่ตั้งค่าย ณ ปากน้ำเจ้าโล้ เมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งกองทัพพม่ากองสุดท้ายที่รวบรวมกำลังกันทั้งทัพบกทัพเรือไปรอดัก พระยาวชิรปราการ(สิน) อยู่ ณ ที่นั้น และตามทัพพระยาวชิรปราการ(สิน) ทันกันที่ชายทุ่ง พระยาวชิรปราการ(สิน) เห็นว่าจะต่อสู้กับข้าศึก ซึ่ง ๆ หน้าไม่ได้ อีกทั้งมีกำลังน้อยกว่ายากที่จะเอาชัยชนะแก่พม่าได้ จึงเลือกเอาชัยภูมิพงแขมเป็นกำบังแทนแนวค่าย และแอบตั้งปืนใหญ่น้อยรายไว้หมายเฉพาะทางที่จะล่อพม่าเดินเข้ามา แล้วพระยาวชิรปราการ(สิน) ก็นำทหารประมาณ 100 คนเศษ คอยรบพม่าที่ท้องทุ่ง ครั้นเมื่อรบกันสักพักหนึ่งก็แกล้งทำเป็นถอยหนีไปทางช่องพงแขมที่ตั้งปืน ใหญ่เตรียมไว้ ทหารพม่าหลงกลอุบายรุกไล่ตามเข้าไปก็ถูกทหารไทยระดมยิงและตีกระหนาบเข้ามา ทางด้านหน้า ขวา และซ้าย จนทหารพม่าไม่มีทางจะต่อสู้ได้ต่อไปทำให้ทหารพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก ที่รอดตายต่างถอยหนีอย่างไม่เป็นกระบวนก็ถูกพระยาวชิรปราการ(สิน) นำทหารไล่ติดตามฆ่าฟันล้มตายอีก นับตั้งแต่นั้นมาทหารพม่าก็ไม่กล้าจะติดตามพระยาวชิรปราการ(สิน) อีกต่อไป

        เมื่อพระยาวชิรปราการ(สิน) ได้ชัยชนะพม่าแล้วได้ยกทัพผ่านบ้านทองหลาง พานทอง บางปลาสร้อย บ้านนาเกลือ เขตเมืองชลบุรี ต่างก็มีผู้คนเข้าร่วมสมทบมากขึ้นจนมีรี้พลเป็นกองทัพ จากนั้นพระยาวชิรปราการ(สิน) ก็เดินทางไปเมืองระยอง โดยหมายจะเอาเมืองระยองเป็นที่ตั้งมั่นต่อไป ครั้นถึงเมืองระยอง พระยาระยองชื่อบุญ เห็นกำลังพลของพระยาวชิรปราการมีจำนวนมากมายที่จะต้านทานได้จึงพากันออกมา ต้อนรับ พระยาวชิรปราการ(สิน) จึงตั้งค่ายที่ชานเมืองระยอง ขณะนั้นมีพวกกรมการเมืองระยองหลายคนแข็งข้อคิดจะสู้รบ จึงได้ยกกำลังเข้าปล้นค่ายในคืนวันที่สองที่หยุดพัก แต่พระยาวชิรปราการ(สิน) รู้ตัวก่อน จึงได้ดับไฟในค่ายเสียและมิให้โห่ร้องหรือยิงปืนตอบ รอจนพวกกรมการเมืองเข้ามาได้ระยะทางปืน พระยาวชิรปราการ(สิน) ก็สั่งยิงปืนไปยังพวกที่จะแหกค่ายด้านวัดเนิน พวกที่ตามหลังมาต่างก็ตกใจและถอยหนี พระยาวชิรปราการ(สิน) คุมทหารติดตามไปเผาค่ายและยึดเมืองระยองได้ในคืนนั้น การที่พระยาวชิรปราการ(สิน) เข้าตีเมืองระยองได้และกรุงศรีอยุธยายังมิได้เสียทีแก่พม่าแต่ประการใด จึงถือเสมือนเป็นผู้ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง ดังนั้น พระยาวชิรปราการ(สิน) ก็ระวังตนมิได้คิดตั้งตัวเป็นกบฏ และให้เรียกคำสั่งว่า พระประศาสน์อย่างเจ้าเมืองเอก พวกบริวารจึงเรียกว่า เจ้าตาก ตั้งแต่นั้นมา

        เมื่อเจ้าตากตั้งตัวเป็นอิสระที่เมืองระยอง ส่วนเมืองอื่น ๆ ทางหัวเมืองชายทะเลตะวันออกนับตั้งแต่เมืองบางละมุง เมืองชลบุรี เมืองจันทบุรี เมืองตราด ต่างก็ยังเป็นอิสระ เจ้าตากจึงมีความคิดที่จะรวบรวมเมืองต่าง ๆ เหล่านี้ไว้เป็นพวกเดียวกันเพื่อช่วยกันปราบปรามพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยา และเล็งเห็นว่าเมืองจันทบุรีเป็นเมืองใหญ่กว่าหัวเมืองอื่น มีเจ้าปกครองอยู่เป็นปกติมีกำลังคนและอาหารบริบูรณ์ ชัยภูมิก็เหมาะที่จะใช้เป็นที่ตั้งมั่นยิ่งกว่าหัวเมืองใกล้เคียงทั้งหลาย จึงแต่งทูตให้ถือศุภอักษรไปชักชวนพระยาจันทบุรีช่วยกันปราบปรามข้าศึก ในครั้งแรกได้ตอบรับทูตโดยดีและรับว่าจะมาปรึกษาหารือกับเจ้าตากเกรงจะถูก ชิงเมืองจึงไม่ยอมไปพบ

        ครั้นถึงเดือน 5 ปีกุน พ.ศ. 2310 ข่าวกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 แล้ว ก็มีคนไทยที่มีสมัครพรรคพวกมากต่างก็ตั้งตัวเป็นใหญ่พระยาจันทบุรียังไม่ยอม เป็นไมตรีกับเจ้าตาก ส่วนขุนรามหมื่นซ่อง กรมการเมืองระยองผู้หนึ่งที่เคยปล้นค่ายเจ้าตากก็ไปซ่องสุมผู้คนอยู่ที่ เมืองแกลง ซึ่งขณะนั้นขึ้นกับเมืองจันทบุรีและคอยปล้นชิงช้างม้าพาหนะของเจ้าตาก เจ้าตากจึงยกกำลังไปปราบ ขุนรามหมื่นซ่องสู้ไม่ได้หนีไปอยู่กับพระยาจันทบุรี ครั้นเจ้าตากจะยกพลติดตามไปก็พอดีได้ข่าวว่าทางเมืองชลบุรี นายทองอยู่นกเล็กตั้งตัวเป็นใหญ่ ผู้ใดจะเข้ากับเจ้าตาก นายทองอยู่นกเล็กก็จะยึดเอาไว้เสีย เจ้าตากจึงรีบยกทัพไปเมืองชลบุรีแล้วส่งเพื่อนฝูงของนายทองอยู่นกเล็กเกลี้ย กล่อม นายทองอยู่นกเล็กเห็นจะสู้รบไม่ไหวจึงยอมอ่อนน้อม เจ้าตากจึงตั้งนายทองอยู่นกเล็กเป็นพระยาอนุราฐบุรี ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองชลบุรี แล้วก็เลิกทัพกลับ

        ฝ่ายพระยาจันทบุรีได้ปรึกษากับขุนรามหมื่นซ่องเห็นว่าจะรบพุ่งเอาชนะเจ้าตากซึ่ง หน้าคงจะชนะยาก ด้วยเจ้าตากมีฝีมือเข้มแข็งทั้งรี้พลก็ชำนาญศึก จึงคิดกลอุบายจะโจมตีกองทัพเจ้าตากขณะกำลังข้ามน้ำเข้าเมืองจันทบุรี โดยนิมนต์พระสงฆ์ 4 รูป เป็นทูตมาเชิญเจ้าตากไปตั้งที่เมืองจันทบุรี แต่ในระหว่างเจ้าตากเดินทางจะข้ามน้ำเข้าเมืองจันทบุรีอยู่นั้นได้มีผู้ มาบอกให้เจ้าตากทราบกลอุบายนี้เสียก่อน เจ้าตากจึงให้เลี้ยวกระบวนทัพไปตั้งที่ชายเมืองด้านเหนือบริเวณวัดแก้ว ห่างประตูท่าช้างเมืองจันทบุรีประมาณ 5 เส้น แล้วเชิญพระยาจันทบุรีออกมาหาเจ้าตากก่อนที่จะเข้าเมือง แต่พระยาจันทบุรีไม่ยอมออกมาต้อนรับพร้อมกับระดมคนประจำรักษาหน้าที่เชิงเทิน พระเจ้าตากได้ทบทวนถึงสถานการณ์ต่าง ๆ แล้ว เห็นว่าแม้ข้าศึกจะครั่นคร้ามฝีมือไม่กล้าโจมตีซึ่งหน้าก็ตาม แต่ฝ่ายพระยาจันทบุรีมีจำนวนมากกว่า ถ้าเจ้าตากล่าถอยไปเมื่อใด ทัพจันทบุรีก็จะล้อมไล่ตีได้หลายทาง เพราะไม่มีเสบียงอาหาร เจ้าตากจึงตัดสินใจจะต้องเข้าตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ให้ได้ และแสดงออกถึงน้ำใจอันเด็ดเดี่ยวโดยสั่งนายทัพนายกองว่า

“เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำ วันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเย็นกินเสร็จแล้วทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือและ ต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ก็จะได้ตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว”

        ครั้นได้ฤกษ์เวลา 3 นาฬิกา เจ้าตากพร้อมด้วยทหารไทยจีนเข้าโจมตีเมืองจันทบุรีอย่างเข้มแข็งและเด็ด เดี่ยวโดยเจ้าตากขี่ช้างพังคีรีบัญชรเข้าพังประตูเมืองได้สำเร็จ พวกทหารก็กรูกันเข้าเมืองได้ ชาวเมืองต่างก็เสียขวัญละทิ้งหน้าที่แตกหนีไป ส่วนพระยาจันทบุรีพาครอบครัวลงเรือหนีไปเมืองบันทายมาศ

        เมื่อเจ้าตากจัดเมืองจันทบุรีเรียบร้อยแล้ว ก็ยกทัพบกทัพเรือลงไปเมืองตราด พวกกรมการเมืองและราษฎรต่างยอมอ่อนน้อมโดยดี แต่ยังมีพ่อค้าในสำเภาที่จอดอยู่ปากน้ำเมืองตราดหลายลำไม่ยอมอ่อนน้อม เจ้าตากได้ยกทัพเรือโจมตีสำเภาจีนได้ทั้งหมดในครึ่งวัน และสามารถยึดทรัพย์สิ่งของได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำมาจัดเตรียมกองทัพเข้ากู้เอกราช เจ้าตากได้จัดการเมืองตราดเรียบร้อยก็ย่างเข้าสู่ฤดูฝนพอดี จึงยกกองทัพกลับเมืองจันทบุรี เพื่อตระเตรียมกำลังคน สะสมเสบียงอาหาร อาวุธยุทธภัณฑ์ และต่อเรือรบได้ถึง 100 ลำ รวบรวมกำลังคนเพิ่มได้อีกเป็นคนไทยจีน ประมาณ 5,000 คนเศษ กับมีข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาได้หลบหนีพม่ามาร่วมด้วยอีกหลายคน และที่สำคัญก็คือ หลวงศักดิ์นายเวรมหาดเล็ก นายสุดจินดาหุ้มแพรมหาดเล็ก พอถึงเดือน 11 พ.ศ.2310 หลังสิ้นฤดูมรสุมแล้ว เจ้าตากก็ยกกองทัพเรือจากเมืองจันทบุรีเพื่อมากอบกู้เอกราช ระหว่างทางได้หยุดชำระความพระยาอนุราฐบุรีที่เมืองชลบุรี ซึ่งประพฤติตัวเยี่ยงโจรเข้าตีปล้นเรือลูกค้า ชำระได้ความเป็นสัตย์จริง จึงให้ประหารชีวิตพระยาอนุราฐบุรีเสีย แล้วยกทัพเรือเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยาในเดือน 12 กองทัพเรือภายใต้การบังคับบัญชาของเจ้าตากได้เข้าโจมตีเมืองธนบุรีเป็นครั้งแรก มีนายทองอินคนไทยที่พม่าให้รักษาเมืองอยู่ พอนายทองอินทราบข่าวว่าเจ้าตากยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา ก็ให้คนรีบขึ้นไปบอกข่าวแก่สุกี้พระนายกองแม่ทัพพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น แล้วเรียกระดมพลขึ้นรักษาป้อมวิชเยนทร์ และหน้าแท่นเชิงเทิน

        ครั้นกองทัพเรือเจ้าตากเดินทางมาถึง รี้พลที่รักษาเมืองธนบุรี กลับไม่มีใจสู้รบเพราะเห็นเป็นคนไทยด้วยกันเอง ดังนั้นกองทัพเรือของเจ้าตากเข้ารบพุ่งเพียงเล็กน้อยก็สามารถตีเมืองธนบุรี ได้ เจ้าตากให้ประหารชีวิตนายทองอินเสียแล้วเร่งยกกองทัพเรือไปตีกรุงศรีอยุธยา

        สุกี้แม่ทัพพม่าได้ข่าวเจ้าตากตีเมืองธนบุรีได้แล้ว ก็ส่งมองญ่านายทัพรองคุมพลซึ่งเป็นมอญและไทยยกกองทัพเรือไปสกัดกองทัพเรือ เจ้าตากอยู่ที่เพนียด เจ้าตากยกกองทัพเรือขึ้นไปถึงกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลาค่ำสืบทราบว่ามีกองทัพ ข้าศึกยกมาตั้งรับคอยอยู่ที่เพนียดไม่ทราบว่ามีกำลังเท่าใด ฝ่ายพวกคนไทยที่ถูกเกณฑ์มาในกองทัพมองญ่ารู้ว่ากองทัพเรือที่ยกมานั้นเป็นคน ไทยด้วยกัน ก็คิดจะหลบหนีบ้าง จะหาโอกาสเข้าร่วมกับเจ้าตากบ้างมองญ่าเห็นพวกคนไทยไม่เป็นอันจะต่อสู้เกรง ว่าจะพากันกบฏขึ้น จึงรีบหนีกลับไปค่ายโพธิ์สามต้นในคืนนั้น เจ้าตากทราบจากพวกคนไทยที่หนีพม่ามาเข้าด้วยว่า พม่าถอยหนีจากเพนียดหมดแล้ว ก็รีบยกกองทัพขึ้นไป ตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น 2 ค่าย พร้อมกันในตอนเช้า สู้รบกันจนเที่ยง เจ้าตากก็เข้าค่ายพม่าได้ สุกี้ตายในที่รบ จึงถือว่า เจ้าตากได้กอบกู้เอกราชชาติไทยกลับคืนมาได้แล้ว หลังจากที่ไทยต้องสูญเสียเอกราชในครั้งนี้เพียง 7 เดือน

        ภายหลังที่พระเจ้าตากมีชัยชนะกับพม่าแล้ว ทรงทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ครองกรุงธนบุรี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ชาติบ้านเมืองเพิ่งเป็นอิสระจากพม่า จิตใจของประชาราษฎรยังระส่ำระสาย ประกอบกับสภาพบ้านเมืองที่ถูกข้าศึกเผาผลาญทำลายปรากฎให้เห็นอยู่ทั่วไป ก็ยิ่งก่อให้เกิดความเศร้าโศกสะเทือนใจจนยากที่จะหาสิ่งใดมาลบล้างความ รู้สึกสลดหดหู่นั้นได้ บ้านเมืองยังต้องการความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติจะต้องเรียกขวัญและ กำลังใจของประชาชนให้กลับคืน อยู่ในสภาพปกติโดยเร็วที่สุด ไหนจะต้องป้องกันศัตรูจากภายนอกประเทศที่คอยหาโอกาสจะเข้ารุกราน จึงต้องรวบรวมคนไทยที่แบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่าถึง 5 ก๊ก คือ

           ก๊กที่ 1 เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ตั้งตัวเป็นเจ้าที่เมืองพิษณุโลก
           ก๊กที่ 2 เจ้าพระฝาง (เรือน) อยู่ที่วัดพระฝาง เมืองสวางคบุรี ตั้งตัวเป็นเจ้าทั้งที่ยังเป็นพระ
           ก๊กที่ 3 เจ้านคร (หนู) เดิมเป็นปลัดผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราช
           ก๊กที่ 4 กรมหมื่นเทพพิพิธ ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองพิมาย
           ก๊กที่ 5 คือก๊กพระยาตาก ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองจันทบุรี


        ซึ่งก๊กต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นพระราชภาระที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะต้องทรงกระทำโดย เร็ว ดังจะได้จำแนกพระราชกรณียกิจของพระองค์ออกเป็น 2 ด้านคือ การสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง และการฟื้นฟูบ้านเมืองทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ

สงครามค่ายบางกุ้ง
        ค่ายบางกุ้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองฝั่งตะวันตก เป็นที่ตั้งกองทัพเรือในครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมัยพระเจ้าเอกทัศน์ โดยสร้างค่ายล้อมวัดบางกุ้ง ไว้ให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของบรรดาทหารหาญ ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ในปี พ.ศ. 2310 ค่ายนี้ถูกทิ้งร้าง จนเมื่อพระเจ้าตากสินกอบกู้อิสระภาพได้แล้ว ตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี จึงโปรดให้ชาวจีนรวบรวมกองกำลังตั้งเป็นทหารรักษาค่าย จึงได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าค่ายจีนบางกุ้ง
        เหตุเกิดสงครามค่ายบางกุ้ง พ.ศ. 2311 พระเจ้ากรุงอังวะให้เจ้าเมืองทวาย ยกทัพมาสืบข่าวสภาพบ้านเมืองในสมัย กรุงธนบุรีว่าสงบราบคาบหรือเกิดจลาจล เพราะช่วงนั้นเป็นระยะเวลาที่ไทยเรากำลังผลัดแผ่นดินใหม่ เจ้าเมืองทวายได้ยกพลเดินทัพทางบกเข้ามาทางไทรโยค และให้ยกทัพบกทัพเรือเข้ามาที่ค่ายตอกะออม แล้วเดินทัพล้อมค่ายจีนบางกุ้งไว้ นายทัพพม่าครั้งนั้นชื่อ แมงกี้มารหญ่า มีทหารยกมาด้วย 2 หมื่นคนเศษ ทหารพม่าล้อมค่ายจีนบางกุ้งอยู่นาน 41 วัน ชาวบ้านและทหารไทย-จีนในค่ายได้รับความลำบากมาก พวกชาวบ้านคนชรา ยอมอดอาหารเพื่อให้ทหารไทย-จีนได้กินแทน ออกหลวงเสนาสมุทร (ไต้ก๋งเจียม) กรมการเมืองมีใบบอกเข้าไปยังกรุงธนบุรี ขอกำลังมาช่วยรบพม่า ตาม พงศาวดารกรุงธนบุรี กล่าวว่า พระเจ้าตากสินทราบข่าวข้าศึก ได้โปรดให้พระยามหามนตรี (บุญมา) จัดกองทัพเรือ 20 ลำ แล้วพระองค์ทรงเรือพระที่นั่งสุพรรณพิชัยนาวา เรือยาว 18 วา ปากเรือกว้าง 6 ศอกเศษ พลกรรเชียง 28 คน พร้อมด้วยศาสตราวุธมมายังค่ายบางกุ้ง โดยลัดมาทางคลองบางบอน ผ่านคลองสุนัขหอน แล้วออกมาแม่น้ำแม่กลอง พระยามหามนตรีคาดการณ์ว่าค่ายบางกุ้งล่อแหลมกำลังจะแตกอยู่แล้ว จึงรีบเร่งเดินทัพ พอไปถึงค่ายบางกุ้งในเวลากลางคืน ยังหัวค่ำอยู่จึงมีบัญชาให้จอดเรือพักอยู่ฝั่งตรงข้ามค่าย (สถานที่ตรงนี้เรียกว่า บ้านพักทัพ ต่อมากลายเป็นบ้านบางพลับ) ครั้นเวลายามสาม เดือนหก จึงยกทัพข้ามฝั่งมาขึ้นตรงท้ายค่าย บริเวณศาลเจ้าไท้เพ่งอ๊วงกงปัจจุบัน

        การ รบครั้งนี้ตะลุมบอนกันด้วยอาวุธสั้น พระมหามนตรีควงดาบสิงห์สุวรรณาวุธ ซึ่งทำด้ามและฝักกนกหัวสิงห์ใหม่ไล่ฆ่าฟันพม่าข้าศึกแตกกระจาย แมงกี้มารหญ่าแม่ทัพพม่าครั่นคร้าม พระมหามนตรีจึงลองเชิงดูศึก ได้ยินเสียงในค่ายที่ล้อมไว้จุดประทัด ตีฆ้องเปิดประตูค่ายส่งกำลังตีกระทุ้ง ออกมา ทำให้พม่าอยู่ในศึกกระหนาบ ซ้ำยังเห็นผลคลีมืดครึ้ม ได้ยินเสียงการเคลื่อนไหวทัพหนุนเนื่องของไทยอีก แน่ใจว่าทัพหลวงของไทยยกติดตามมา ยิ่งเสียขวัญ ฝ่ายไทยกลับฮึกเหิมไล่ฟันแทงข้ามศึกล้มตายเป็นอันมาก ที่เหลือตายก็พากันแตกหนี พระยาทวายเห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ จึงสั่งทัพถอบรวบรวมไพร่พลกลับไปเมืองทวายทางด่านเจ้าขว้าว (เป็นด่านเมืองราชบุรีตั้งอยู่ริมแม่น้ำพาชี) กองทัพไทยได้เรือรบศัตรูทั้งหมด และได้ศาสตราวุธตลอดจนเสบียงอาหารเป็นอันมาก  ชัยชนะในการรบที่ค่ายบางกุ้งนี้ มีผลต่อชาวไทยหลายประการ อาทิ ไทยยังคงเป็นชาติเอกราชต่อไป ไม่ต้องถูกย่ำยีทำลายล้าง เช่น สงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 แต่ถ้าไทยเป็นฝ่ายแพ้ไทยต้องถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย ทรัพย์สินเงินทองต้องถูกเก็บกวาดไปอีกจำนวนมาก เนื่องจากดินแดนทางส่วนนี้ ยังไม่ถูกพม่ากวาดล้างไป ทั้งยังเป็นดินแดนที่มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ เครื่องบ่งชี้ก็คือบริเวณนี้มีวัดมากมาย แสดงให้เห็นว่าในสมัยอยุธยา หรือก่อนนั้นมีคนร่ำรวยมาก เพราะคนรวยสมันนั้นนิยมสร้างวัด ดังเห็นได้ว่าวัดต่าง ๆ ในจังหวัดสมุทรสงครามมีโบราณสถาน โบราณวัตถุที่ประมาณค่ามิได้มากมาย เช่น พระพุทธรูปในสมัยต่างๆ ตั้งแต่สมัยเชียงแสนเป็นต้นมา พระสุวรรณเจดีย์ ตู้พระไตรปิฏก ภาพชุดลายรดน้ำ พระธรรมคัมภีร์จากสมุดข่อย มีภาพระบายสีปิดทอง ตลอดจนภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นต้น

        สิ่งสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งก็คือขวัญและกำลังใจของคนไทย ในช่วงนั้นนับว่าเกือบจะสูญสิ้นไปหมดแล้ว การรบชนะที่ค่ายบางกุ้ง เป็นชัยชนะทางใจของกองทัพกู้ชาติไทยอย่างใหญ่หลวง ขวัญของคนไทยทั้งชาติพลอยสูงขึ้นด้วย คนไทยที่แยกกันเป็นชุมนุมต่าง ๆ ที่มุ่งหวังจะตั้งตัวเป็นใหญ่อีก ก็ต่างมีความครั่นคร้ามและเลื่อมใสกองทัพกู้ชาติ อันมีพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นผู้นำ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้าศึกล่วงล้ำถึงเขตเมืองสมุทรสงครามอีกเลย เมืองสมุทรสงครามจึงร่มเย็นเป็นสุขมาจนถึงปัจจุบันนี้
     
                    

 

สร้างโดย: 
นางรัชญา ไชยนา และ นางสาวอภิญญา โรจนภิญโญ

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 338 คน กำลังออนไลน์