การเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า

พัดลมไฟฟ้า

 

พัดลมไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์อำนวยความสะดวกชนิดหนึ่ง ที่ช่วยบรรเทาความร้อนจากสภาพภูมิอากาศ พัดลม
ไฟฟ้าในปัจจุบันมีหลายชนิดคือ ชนิดตั้งโต๊ะ,ตั้งพื้น, ติดผนัง,แขวนเพดานและส่ายรอบตัว

พัดลมไฟฟ้ามาตรฐาน

พัดลมไฟฟ้าซึ่งมีอยู่มากมายในท้องตลาด อาจจะทำความลำบากให้กับผู้ซื้อ เพราะไม่รู้ว่าจะเลือกซื้อยี่ห้อไหนดี
สิ่งที่จะช่วยท่านได้ คือการสังเกตเครื่องหมายมาตรฐานที่แสดงบนผลิตภัณฑ์ เพราะเป็นพัดลมไฟฟ้าที่ผ่านการรับรอง
คุณภาพจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งมีข้อดีหลายประการ คือ

  1. มีระบบการป้องกันไฟฟ้าช็อกที่ไว้ใจได้
  2. มีการป้องกันการสัมผัสโดยตรงกับส่วนที่มีกระแสไฟฟ้าอย่างไว้ใจได้
  3. พัดลมไม่ไหม้เสียหายจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น เพราะจะไม่สูงเกินค่าที่กำหนดไว้
  4. กระแสไฟฟ้ารั่วได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิแอมแปร์ ทำให้ไม่มีอันตรายแก่ผู้ใช้
ข้อแนะนำในการเลือกซื้อ
  1. ลองเครื่อง เพื่อดูว่าใช้งานได้ดีหรือไม่
  2. ดูกลไกการส่าย, หมุน, ปรับส่ายเร็วที่สุด , ต่ำที่สุด
  3. สวิตช์ปิดและเปิด เปลี่ยนอัตราความเร็วใช้งานได้ดี ควรเลือกที่มีเครื่องหมายเฉพาะด้านความปลอดภัย
  4. ควรเลือกขนาดและชนิดที่เหมาะกับการใช้งาน และมีราคาที่พอเหมาะกับวัสดุที่ใช้ในการผลิตด้วย
  5. เตารีดไฟฟ้า

     

    เตารีดไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทุกครัวเรือน ช่วยให้งานรีดเสื้อผ้าของแม่บ้านเป็นไปโดย
    สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น  แต่บางครั้งผู้ใช้อาจประสบปัญหาการใช้เมื่อเกิดการลัดวงจร หรือใช้งานไม่ดี เนื่องจาก
    คุณภาพที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีเตารีดไฟฟ้าแบบใหม่ๆ อีกมาก เช่นเตารีดไฟฟ้าแบบมีไอน้ำ เตารีด
    ไฟฟ้าแบบมีน้ำพ่น ซึ่งน้ำหรือไอน้ำอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ได้ 

    เตารีดไฟฟ้ามาตรฐาน

    1.   เตารีดที่มีสายต่อลงดิน เพื่อให้ความปลอดภัยแก่ผู้ใช้
    2.   เตารีดที่ไม่มีสายต่อลงดินแต่มีฉนวน 2 ชั้น หรือฉนวนพิเศษเพื่อป้องกันไฟฟ้าช็อก
    นอกจากนี้ เตารีดไฟฟ้าตามมาตรฐานทั้ง 2 ประเภท ยังมีความปลอดภัยจากกระแสไฟฟ้ารั่วและความทนทานต่อแรงดันไฟฟ้าของเตารีด
     ข้อแนะนำในการซื้อและการใช้

    1. เลือกซื้อแต่เฉพาะเตารีดไฟฟ้าที่แสดงเครื่องหมายมาตรฐานบังคับ
    2. ในการใช้ เมื่อเลิกใช้อย่าเสียบปลั๊กทิ้งไว้
    3. เมื่อสายเตารีดชำรุด ควรเปลี่ยนใหม่ อย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจเกิดไฟฟ้าช็อกได้
    4. เพื่อเป็นการประหยัดกระแสไฟฟ้า เสียบปลั๊กครั้งเดียวและรีดให้เสร็จไม่ควรเสียบ และถอดปลั๊กบ่อยๆ

    หม้อหุงข้าวไฟฟ้า

     

    หม้อหุงข้าวไฟฟ้าเป็นวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีของมนุษย์ที่ใช้ความร้อนจากไฟฟ้า   หุงข้าวให้สุกอย่าง
    อัตโนมัติ และรักษาอุณหภูมิของข้าวได้ หม้อหุงข้าวได้พัฒนารูปแบบออกไปมากมาย เช่น มีระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ
    มีระบบไอน้ำ และมีระบบที่สามารถประกอบอาหารได้หลายๆ อย่างเช่น นึ่ง ตุ๋น ต้ม เป็นต้น ส่วนประกอบที่สำคัญ
    ของหม้อหุงข้าวไฟฟ้า คือ ปลั๊ก สายไฟฟ้าสวิตช์ แผ่นความร้อนและฉนวน ซึ่งอุปกรณ์ทุกชิ้นเหล่านี้มีความสำคัญ
    ต่อคุณภาพของหม้อหุงข้าว มีผลต่ออายุการใช้งานและมีผลต่อความปลอดภัยของผู้ใช้
     หม้อหุงข้าวไฟฟ้าตามมาตรฐาน
    1. มีความปลอดภัยต่อกระแสไฟฟ้าช็อก โดยมีที่จับสำหรับเปิดปิดได้สะดวก ทำด้วยวัสดุที่มีคุณภาพดี มั่นคงแข็งแรง
    2. มีความสามารถในการรักษาอุณหภูมิได้เหมาะสม
    3. ฝาหม้อไม่ได้ทำด้วย Celluloid หรือ Nitrocellueose ซึ่งเป็นสารที่ติดไฟง่ายและมีไอระเหยที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
     ข้อแนะนำในการซื้อและการใช้
    1. อย่ากดสวิตช์เปิด-ปิด ขณะที่ไม่มีหม้อชั้นใน
    2. อย่าใช้วัตถุมีคม ถูหรือขัดหม้อชั้นใน เพราะจะทำให้สารที่เคลือบหม้อหลุดไปได้
    3. อย่าเสียบปลั๊กหรือสวิตช์ หรือจับหม้อชั้นนอกขณะที่มือเปียก เพราะอาจเกิดอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว
    4. ถอดปลั๊กทุกครั้งหลังจากการใช้งาน
    5. ก่อนการใช้งานเช็ดหม้อชั้นในและแผ่นความร้อนให้แห้งสะอาดเสียก่อน
    6. เมื่อกดสวิตช์หุง ถ้ากดไม่ติดห้ามใช้วัสดุใดค้ำหรือกดคาไว้
    7. การใช้หม้อหุงข้าวครั้งต่อไป ควรรอประมาณ 10 นาที เพื่อให้หม้อหุงข้าวมีอุณหภูมิกลับสู่ปกติก่อน
    ตู้เย็นสำหรับใช้ในบ้าน

     

    เมื่อเวลาที่เราทำงานหนักจนเหงื่อออกหรือเมื่อถูกสาดน้ำ หากได้นั่งพักสักครู่จะรู้สึกเย็นขึ้น ทั้งนี้เพราะน้ำที่ระเหย
    จากเสื้อจะพาความร้อนส่วนหนึ่งออกจากร่างกายไปด้วย หลักการพาความร้อน เช่นนี้  เรานำมาใช้เป็นหลักการทำความเย็น
    ของเครื่องทำความเย็นทั้งหลายรวมทั้งตู้เย็นด้วย 

    ตู้เย็นสำหรับใช้ในบ้านตามมาตรฐาน

    ตู้เย็นมีส่วนประกอบที่สำคัญ 4 ส่วนคือ อีแวพอเรเตอร์ (evaporator) เครื่องควบแน่น (condenser) ตัวลด
    ความดัน (pressure reducer) และเครื่องอัดสารทำความเย็น (compressor) ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะเป็น
    ส่วนที่ช่วยชี้ว่าตู้เย็นเครื่องใดมีคุณภาพดีกว่ากัน
    ตู้เย็นตามมาตรฐานขณะที่ตู้เย็นทำงาน ต้องไม่เกิดเสียงหรือสั่นสะเทือนมากเกินไป มีความปลอดภัยทางไฟฟ้า มี
    ความสามารถทำน้ำแข็งตามเกณฑ์กำหนด เป็นต้น

     ข้อแนะนำในการเลือกซื้อ

    การเลือกซื้อตู้เย็น ควรสังเกตว่าต้องมีตัวเลขอักษรหรือเครื่องหมายระบุรายละเอียด ที่มองเห็นได้ง่าย ชัดเจนและไม่ลบเลือนหรือหลุดได้ง่าย เช่น
    1.   ชื่อผู้ผลิต หรือเครื่องหมายการค้า
    2.   ประเภทของตู้เย็น
    3.   ปริมาตรภายในที่กำหนด
    4.   รหัสรุ่น
    5.   วงจรไฟฟ้า
    นอกจากนี้ ตู้เย็นทุกตู้ต้องมีคู่มือแนะนำวิธีใช้และการบำรุงรักษา   ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อแนะนำ  เกี่ยวกับวิธีติดตั้ง  วิธีใช้
    วิธีใช้อุปกรณ์ควบคุมต่างๆ และการบำรุงรักษา รวมทั้งการทำความสะอาดตู้เย็น
    การเลือกซื้อตู้เย็นนอกจากจะดูรายละเอียดต่างๆ ข้างต้นแล้วควรสังเกตเพิ่มเติมในเรื่องของฉลากประหยัดไฟฟ้าด้วย เพราะปัจจุบันนี้ได้มีการติด
    ฉลากที่ตู้เย็น เพื่อแสดงว่าตู้เย็นใช้พลังงานไฟฟ้าเท่าใด ค่าไฟฟ้าต่อปีเท่าใด และประสิทธิภาพอยู่ในระดับใด ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้
    กับผู้บริโภคพิจารณาเลือกซื้อตู้เย็นที่มีคุณภาพได้ดียิ่งขึ้น สำหรับระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าของตู้เย็น จะแบ่งเป็นตัวเลข 5 ระดับ คือ

     

    ระดับที่ 1 เป็นระดับที่มีประสิทธิภาพ ต่ำ
    ระดับที่ 2 เป็นระดับที่มีประสิทธิภาพ พอใช้
    ระดับที่ 3 เป็นระดับที่มีประสิทธิภาพ ปานกลาง
    ระดับที่ 4 เป็นระดับที่มีประสิทธิภาพ ดี
    ระดับที่ 5 เป็นระดับที่มีประสิทธิภาพ ดีมาก

    ซึ่งบนฉลากจะแสดงระดับประสิทธิภาพเป็นตัวเลขและบอกความหมาย โดยมีตัวเลขแสดงการใช้พลังงานไฟฟ้า
    เป็นหน่วยต่อปี และค่าไฟฟ้าเป็นบาทต่อปีพร้อมระบุยี่ห้อ และรุ่นของตู้เย็นประกอบด้วยอย่างชัดเจน ดังนั้น เมื่อ
    เลือกซื้อตู้เย็นควรดูฉลากแสดงประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าด้วย ยิ่งตัวเลขสูงแสดงว่ายิ่งประหยัดไฟ
     ข้อแนะนำการใช้และการบำรุงรักษาที่สำคัญ
    1. เลือกซื้อตู้เย็นที่มีขนาดความจุเหมาะสมกับความจำเป็นในการใช้งาน และควรตั้งอุณหภูมิให้เหมาะสมกับชนิดและจำนวนของอาหาร เพื่อประหยัด
      ค่าไฟฟ้า
    2. ควรตั้งตู้เย็นให้มีอากาศถ่ายเทได้ดีพอสมควร โดยอยู่ห่างจากผนังไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร และห่างจากเพดานอย่างน้อย 30 เซนติเมตร
    3. ไม่ควรเปิดปิดประตูบ่อยๆ เพราะความร้อนและความชื้นจากอากาศภายนอก จะทำให้ตู้เย็นทำงานมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เปลืองไฟ
    4. ไม่ควรนำอาหารเข้าเก็บขณะที่ยังร้อนหรืออุ่นอยู่ ควรจะรอให้ความร้อนในอาหารลดลงจนเท่ากับระดับอุณหภูมิภายในห้องก่อนจึงนำเข้าเก็บได้
    5. ไม่ควรตั้งภาชนะที่เก็บอาหารไว้ชิดกัน หรือติดกับผนังตู้เพราะอากาศจะไม่สามารถผ่านรอบๆ ภาชนะได้
    6. หากเป็นตู้เย็นที่ไม่มีกลไกขจัดน้ำแข็งอัตโนมัติ ควรขจัดน้ำแข็งที่เกาะภายในตู้เย็นบ่อยๆ ถ้าเป็นฤดูร้อน ประมาณ 2 ครั้งต่อหนึ่งสัปดาห์
    7. ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ประกอบภายในตู้เย็นอย่างสม่ำเสมอ ก่อนทำความสะอาดตู้เย็นให้ถอดปลั๊กออกก่อนทุกครั้ง ห้ามใช้เบนซิน ทินเนอร์
      หรือแอลกอฮอล์ ทำความสะอาดตู้เย็น
    8. ภายนอก ภายในตู้เย็น ควรใช้ผ้านุ่มชุบน้ำสบู่เช็ดและเช็ดด้วยผ้าชุบน้ำที่สะอาดแล้วตามด้วยผ้าแห้ง ควรทำความสะอาดตู้เย็นอย่างน้อยเดือนละครั้ง
    9. ยางขอบประตู ซึ่งมีความชื้น และฝุ่นละอองจับเกาะ ทำให้เกิดจุดด่างดำ ควรทำความสะอาดบ่อยๆ โดยใช้แปรงอ่อนๆ จุ่มน้ำสบู่ถูเบาๆ ล้างด้วยน้ำ
      สะอาดและเช็ดให้แห้ง

สร้างโดย: 
ครูหลิน

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 367 คน กำลังออนไลน์