ภูมิศาสตร์กับชีวิตประจำวัน

 

ดูภาพขนาดใหญ่

 ภูมิศาสตร์กับชีวิตประจำวัน

ภูมิศาสตร์กับชีวิตประจำวัน (Geography in Daily Life)
เราอาจจะสงสัยว่า ทำไมถึงจำเป็นต้องเรียนวิชาภูมิศาสตร์ บางคนอาจจะเห็นว่าเป็นวิชาที่ท่องจำว่าประเทศใดอยู่ที่ใด หรือ ประเทศต่างๆ มีเมืองหลวงอะไรบ้าง  ซึ่งทำให้คนเหล่านั้นเห็นว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย  ไม่จำเป็นต้องรู้ ไม่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันแม้แต่นิดเดียว แต่จริงๆ แล้วเราใช้ภูมิศาสตร์ในชีวิตประจำวันแทบตลอดเวลาเพียงแต่ว่าเราไม่รู้สึกตัวเท่านั้นเอง

ภูมิศาสตร์คืออะไร (What is Geography?)
ภูมิศาสตร์มาจากคำว่า Geo + Graphic (Geo = โลก, Graphic = รูปภาพ)   วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับภาพของโลก ภาพของโลกในที่นี้คือ ทุกๆ ส่วนของโลก ก็คือพื้นดิน พื้นน้ำ อากาศ รวมทั้งใต้ดิน หรือทุกๆ สิ่งที่อยู่ล้อมรอบตัวเราทั้งหมดทั้งสามมิติ เรียกง่ายๆ ได้ว่า พื้นที่ (Spatial) นั้นเอง  และสิ่งต่างๆ ที่อยู่ล้อมรอบตัวเรานั้นล้วนมีผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์

รู้ภูมิศาสตร์แล้วได้อะไร (What’s important of Geography?)
เมื่อเรารู้แล้วว่าสิ่งต่างๆ ที่อยู่ล้อมรอบตัวเรานั้นมีผลต่อชีวิตประจำวัน ทำให้เราจำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ต่อจากนี้จะขอยกตัวอย่างโดยให้เห็นภาพง่ายๆ เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

มนุษย์ในสมัยโบราณศึกษาภูมิศาสตร์จากการสังเกตความเป็นไปต่างๆ รอบตัว ตั้งแต่ พระอาทิตย์ขึ้นเมื่อไร ตกลงเมื่อไร อากาศจะหนาวเย็นเมื่อไร รู้จักหาสิ่งมาปกคลุมร่างกายเพื่อความอบอุ่น ทดสอบว่าพืชใดทานได้ พืชใดมีพิษ การตั้งถิ่นฐาน ทั้งนี้การสังเกตนั้นก็เพื่อการอยู่รอด

ต่อมาเมื่อมีการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มตั้งถิ่นฐานเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มรู้จักหาทำเลที่ตั้งที่เหมาะต่อการอาศัยอยู่ เช่น คนไทยเลือกตั้งถิ่นฐานใกล้กับแหล่งน้ำเพื่อการทำการเกษตรกรรม และใช้ในการคมนาคม เดินทางไปที่ต่างๆ และวัฒนธรรมการสร้างถิ่นฐานนั้นก็เกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น คนไทยสร้างบ้านทรงไทยซึ่งมีหลังคาหน้าจั่ว ยกใต้ถุนสูง มีช่องลมมากมายจุดประสงค์แท้จริงแล้ว เป็นเพราะเมืองไทยอยู่ในเขตร้อนฝนตกชุก ต้องสร้างหลังคาที่สามารถระบายน้ำได้เร็ว ยกใต้ถุนสูงเพื่อไม่ให้น้ำท่วมเสียหาย มีช่องลมก็เพื่อให้ลมถ่ายเทได้สะดวก ส่วนคนในเขตหนาว ได้แก่ ชาวยุโรปมักสร้างบ้านที่มีขนาดเล็ก ไม่ใช่เพราะไม่มีเงินสร้างบ้านหลังใหญ่ แต่เพราะว่าการสร้างบ้านขนาดเล็กทำให้ประหยัดพลังงานในการทำความร้อน

ในเรื่องสามก๊ก ขงเบ้งเข้าใจธรรมชาติแวดล้อมรู้จักใช้ที่ตั้งทัพที่เหมาะสมและเลือกจุดยุทธศาสตร์ และเข้าใจสภาพภูมิอากาศทำให้สามารถรบชนะได้อย่างง่ายดาย

ในด้านการบรรเทาสาธารณภัย เราอาจมองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวสำหรับเราแต่ในความจริงแล้วเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากๆ เพราะเป็นภัยที่เราต้องประสบอยู่ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม สึนามิ แผ่นดินไหว พื้นที่เสี่ยงอาชญากรรม เป็นต้น แต่ในเรื่องนี้สวนมากเป็นการจัดการในเรื่องนโยบาย เราจึงไม่ทราบว่ามีอยู่ เช่น การบรรเทาน้ำท่วมโดยสำนักงานกรุงเทพมหานครใช้ระบบดาวเทียมในการวิเคราะห์พื้นที่ว่าพื้นที่ใดมีน้าท่วมขังในปริมาณเท่าใด ควรจะเปิดประตูน้ำที่ประตูใดในปริมาณเท่าใด  เป็นต้น

ในด้านการสำรวจแหล่งแร่ทรัพยากรธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติต่างๆ รวมทั้งแนวทางในการวางท่อส่งจ่ายก๊าซให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด และได้รับผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด หรือ แม้กระทั่งสนามบินสุวรรณภูมิ มีการศึกษาปัจจัยต่างๆ ทางพื้นที่เพื่อให้ได้รับผลกระทบในด้านพื้นที่น้อยที่สุด และเป็นจุดที่เป็นศูนย์กลางของ Southeast Asia มากที่สุด

เราลองมาดูตัวอย่างที่ใกล้ตัวกันบ้าง เราอาจจะเคยบ่นกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนในกรุงเทพมหานครบ่อยครั้งที่ฝนตกในตอนกลางวัน  ในเวลาที่อากาศร้อนมากๆ แล้วก็ตกในระยะ เวลาสั้นๆ หรือเราอาจจะเคยได้ยินกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศเกี่ยวกับวันที่ร้อนที่สุดของประเทศไทย แต่ในวันนั้นเกิดฝนตกขึ้น หรือเราเห็นฝนตกเป็นหย่อมๆ เหตุที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า  ประเทศไทยอยู่ในเขตอากาศแบบร้อนชื้น อากาศร้อนอบอ้าว เมื่ออากาศร้อนทำให้อากาศลอยตัวสูงขึ้น น้ำสามารถระเหยเป็นไอได้มาก เมื่อที่ใดไอน้ำสามารถถึงจุดกลั่นตัวได้ก่อนก็จะกลั่นตัวตกลงมาเป็นฝน การเกิดฝนแบบนี้เรียกว่า ฝนพาความร้อน (Convection Rain) ใครไม่เคยติเตียนเกี่ยวกับเรื่องพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาบ้าง ว่าพยากรณ์ผิดพลาด ไม่ตรงตามความเป็นจริง ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพอากาศของประเทศไทยว่าอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบร้อนชื้น จึงเกิดฝนแบบพาความร้อนมาก จึงไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าฝนจะตกที่บริเวณใด

ภูมิศาสตร์ใกล้ตัวขึ้นมากอีกหน่อย คือ การใช้แผนที่ ทั้งแผนที่ Digital รูปแบบของ Google Earth ที่อยู่บน Internet หรือจะเป็นแผนที่กระดาษก็เป็นรูปแบบหนึ่งของภูมิศาสตร์ที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันได้ทั่วไป

เหตุการณ์ที่ใกล้ตัวกว่านั้น  ร้านอาหาร Fast Food ต่างๆ ที่มีบริการส่งอาหารนอกสถานที่ แถมยังมีการรับประกันในเรื่องเวลา ว่าจะส่งได้ทันภายในสามสิบนาที หรือแม้กระทั่งบริษัทประกันภัยต่างๆ ที่มีการรับประกันว่าจะถึงที่เกิดเหตุภายในสามสิบนาที เป็นต้น บริษัทเหล่านี้มีการศึกษาปัจจัยต่างๆ เกี่ยวกับพื้นที่ว่าพื้นที่ใดมีการจราจรที่คล่องตัว คำนวณเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดในการเดินทาง รวมทั้งคำนวณเป็นนาทีในแต่ละแยกที่ต้องผ่านในเส้นทางนั้นๆ จึงสามารถมั่นใจได้ว่า สามารถส่งอาหารได้ทันเวลา

หรือในแง่การลงทุน เปิดร้านต่างๆ หากเราคิดจะเปิดร้านทำธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเรามองในแง่ปริมาณลูกค้าหรือพื้นที่นั้นเหมาะต่อการทำการค้าหรือไม่ ในแง่ของบริษัทใหญ่ๆ ใช้โปรแกรมคำนวณหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งร้านสาขาใหม่ ในพื้นที่ที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งในด้านอายุ เพศและความหนาแน่นประชากร รวมทั้งราคาของพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดด้วย หากเราสังเกตถึงร้านค้าจำพวก Fast Food หรือ ห้างสรรพสินค้ามักจะอยู่บริเวณหัวมุมตึกหรือหัวมุมถนนเพียงเพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย และผู้คนสามารถมองเห็นได้ง่าย

เรื่องที่ใกล้ตัวที่สุดในชีวิตประจำวันของเรา ก็คือการรับประทานอาหาร ซึ่งเราก็คงคาดไม่ถึงว่าภูมิศาสตร์เกี่ยวข้องอะไรกับการรับประทานอาหารของเราในชีวิตประจำวัน คำตอบก็คือ เราใช้คำที่เรียกว่า “ภูมินาม” ในการเรียกของแทนสิ่งต่างๆ หรือ ของที่ขึ้นชื่อต่างๆ แทนที่จะเรียกอาหารชนิดนั้นๆ ลอยๆ  เช่น หากเราต้องการซื้อส้ม เราก็คงซื้อส้มบางมด หรือ ส้มสายน้ำผึ้ง, ทุเรียนที่อร่อยก็ต้องเป็นทุเรียนนนทบุรี, ไก่ย่างวิเชียรบุรี, กะหรี่ปั๊บสระบุรี, หมูยออุบลฯ  เป็นต้น  แม้กระทั่งสินค้าขึ้นชื่อต่างๆ ก็ยังมีแหล่งที่ผลิตเป็นหลักและผู้คนให้ความนิยม คงไม่มีผู้ใดปฏิเสธว่า ไม่เคยได้ยิน อุตสาหกรรมร่มบ่อสร้าง, รถม้าลำปาง, เครื่องปั้นดินเผาสังคโลก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก จนเราลืมนึกถึงว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ทั้งสิ้น  ทำให้เรานึกถึงพื้นที่นั้นๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ

การเข้าใจเกี่ยวกับภูมิศาสตร์นั้นทำให้เราสามารถเข้าใจธรรมชาติอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น เช่น เรื่องเกี่ยวกับการพยากรณ์ทำนายดวงชะตาที่เกี่ยวกับวันที่เกิด เดือนเกิด ปีเกิด เวลาเกิด เคยมีบางคนสงสัยว่าจะแม่น ดังตามคำนายหรือไม่ หากมีการทำนายตามวันที่เกิด และเวลาเกิด  คำตอบก็คืออาจจะตรงจริงเพราะเป็นการศึกษาเวลาจากดวงดาวที่โคจรผ่าน ณ เวลานั้นๆ หากเราทราบเวลาเกิดที่แท้จริงว่าเราเกิด ณ เวลาเท่าไร หมายความว่า ปัจจุบันนี้เรานับวันเวลาตามเส้น Longitude ที่ 105 องศาซึ่งพาดผ่านบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี (15 องศาเท่ากับ 1 ชั่วโมง) แต่กรุงเทพฯ อยู่ที่ประมาณเส้น Longitude ที่ 100 องศา 30 ลิปดา ดังนั้นเวลาเกิดจริงๆ นั้นไม่ได้ตรงตามที่เราคิด ดวงดาวอาจคลาดเคลื่อนไปจากตำแหน่งที่แท้จริง (โปรดใช้วิจารณญาณ)

หรือเมื่อเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับภูมิศาสตร์แล้ว เรื่องความศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับเรื่องหินศักดิ์สิทธิ์ เช่น แท่งหินที่เป็นรูปหกเหลี่ยม ที่เชื่อกันว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับนิทานปรัมปรา หรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับตำนานที่เชื่อว่ามีคนมาสร้างไว้ เรื่องเหล่านี้จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของธรรมชาติที่เกิดขึ้นเอง การที่เกิดแท่งหินหกเหลี่ยมนั้นเกิดจาก การเย็นตัวของลาวาใต้เปลือกโลกแล้วตกผลึก และเมื่อสิ่งที่ปกคลุมมันอยู่ผุสลายไปจึงทำให้เห็น แท่งรูปหกเลี่ยมเรียงต่อกัน คล้ายเสาหิน  หรือที่เรียกกันว่า (Columnar Joint) หรือ เรื่องเกี่ยวกับหินงอกหินย้อยที่ลงมาเป็นรูปร่าง รูปทรงต่างๆ  คล้ายรูปสัตว์บ้าง พระพุทธรูปบ้าง หรือ คล้ายรูปคนบ้าง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดได้จากการกระทำของน้ำฝนที่ไหลกัดเซาะหินปูนที่สามารถทำปฏิกิริยาได้ดีกับน้ำที่เป็นกรดอ่อนๆ อย่างน้ำฝน แล้วออกมาเป็นทรวดทรงต่างๆ ไม่ได้เกิดจากอภินิหารแต่อย่างใด หรือแม้ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำที่ผุดขึ้นมาบนผิวดิน โดยส่วนมากเรามักจะเห็นน้ำตก มากกว่าน้ำที่ผุดขึ้นมา น้ำผุดเหล่านี้ส่วนมากเกิดกับสภาพพื้นที่ที่เป็นหินปูนมีทางระบายน้ำใต้ดินมากมาย  เมื่อน้ำใต้ดินมีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ  ก็อาจจะมีบางที่ที่เกิดน้ำผุดขึ้นมา

ตัวอย่างอีกเรื่องเกี่ยวกับการรุกล้ำธรรมชาติ เช่น เราตัดไม้ทำลายป่ามาก โอกาสที่จะเกิดแผ่นดินถล่ม หรือ น้ำท่วมก็มีมาก  หรือ ฝนแล้ง ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีต้นไม้คอยยึดเกาะหน้าดินไว้เมื่อน้ำไหลบ่าลงมา ภูเขาไม่มีต้นไม้ก็สามารถเปรียบเทียบได้กับ หัวที่ไม่มีผม เมื่อน้ำไหลลงมาก็จะไม่มีสิ่งค่อยดูดซับไว้น้ำก็จะท่วม และเมื่อไม่มีต้นไม้คอยยึดเกาะละอองน้ำ ฝนก็จะไม่ตกที่บริเวณภูเขาเพราะภูเขาไม่มีความชุ่มชื้นอยู่ เมื่อฝนไม่ตกก็ขาดน้ำความแห้งแล้งก็จะเกิดตามมา เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างง่ายๆ ในการทำร้ายธรรมชาติ

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ธรรมชาติ หรือลักษณะทางภูมิศาสตร์บางประการที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว เพียงแต่บางอย่างเราไม่รู้ และไม่เข้าใจเรื่องราวที่แท้จริงว่าจริงๆ แล้ว สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร  จึงไม่สามารถนำสิ่งเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ได้มากเท่าที่ควร  ดังนั้นการเข้าใจภูมิศาสตร์อย่างถูกต้องนั้นจะทำให้เราทราบถึงแหล่งที่มา และวิธีการดำรงชีวิตได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์ในแต่ท้องที่อย่างเข้าใจโดยไม่ส่งผลใดๆ ที่กระะทบกระเทือนต่อธรรมชาติ เมื่อเราไม่ทำร้ายธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะไม่ทำร้ายเรา บางครั้งอาจจะดูเหมือนว่า ธรรมชาติทำร้ายมนุษย์หรือกลั่นแกล้งสัตว์โลกต่างๆ แต่แท้จริงแล้ว ธรรมชาติทำหน้าที่เพียงแต่ปรับให้ทุกอย่างอยู่ในสมดุล หากที่ใดไม่สมดุลที่ตรงนั้นไม่นานก็จะเกิดอันตรายหรือภัยพิบัติตามมา

 

 

 

 

 

 

 

สร้างโดย: 
naree52

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 290 คน กำลังออนไลน์