ปัญหาในการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ

 ปัญหาในการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ

พืชผลดัดแปลงพันธุกรรมผลิตขึ้นโดยใช้เทคนิคในห้องทดลอง โดยมีการนำวัสดุพันธุกรรมจากเซลล์สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งไปใส่ในสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง เพื่อสร้างสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่ไม่มีทางเกิดขึ้นเองจากการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น การใส่ยีนจากปลาอาร์กติกใส่ในมะเขือเทศ และสตรอเบอร์รี่ เพื่อให้ทนทานต่อความหนาวเย็น ซึ่งปลาและมะเขือเทศไม่มีทางผสมพันธุ์กันได้เองตามธรรมชาติ
ปัจจุบัน อาหารดัดแปลงพันธุกรรมทั้งหมดผลิตและขายโดยบริษัทเคมีขนาดใหญ่ พืชผลดัดแปลงพันธุ์กรรมส่วนใหญ่ทั่วโลกปลูกในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และอาร์เจนตินา สิ่งมีชีวิตประดิษฐ์ที่ได้นี้อาจออกแบบมาเพื่อให้ "ประโยชน์" บางอย่างแก่ผู้ปลูก (เช่น ทนทานต่อยาฆ่าแมลง) แต่ก็มักจะมีผลรองลงมาอย่างอื่นที่ไม่อาจคาดเดาได้ เนื่องจากพืชผลดัดแปลงพันธุกรรมเป็นสิ่งมีชีวิต พืชเหล่านี้จึงอาจเล็ดรอดออกไปแพร่พันธุ์ในสิ่งแวดล้อมเปิด ดังนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเก็บพืชผลดัดแปลงพันธุกรรมเหล่านี้กลับคืน โดยเฉพาะเมื่อเกิดความผิดพลาดอย่างไม่คาดคิดขึ้นแล้ว ปัญหาบางประการที่เกี่ยวข้องกับพืชดัดแปลงพันธุกรรม ได้แก่ การทำให้เกิดพิษหรืออาการภูมิแพ้ที่ไม่คาดคิด เนื่องจากพันธุวิศวกรรมเป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีความแน่นอน การใส่ยีนแปลกปลอมจึงอาจกระตุ้นให้เกิดโปรตีนที่ไม่คาดคิด ซึ่งอาจเป็นพิษ หรือทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการภูมิแพ้ หรืออาจมีผลข้างเคียงต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ใส่ยีนก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ ตัวอย่างหนึ่งก็เช่น ยีนบราซิลนัท ซึ่งมีการนำไปใส่ในถั่วเหลือง ถั่วเหลืองนี้ทำให้คนที่แพ้นัท เกิดอาการแพ้ขึ้นอย่างไม่คาดคิด จึงต้องป้องกันไม่ให้ถั่วเหลืองนี้เข้าสู่ตลาดได้ โชคยังดีที่อาการแพ้นัทเป็นอาการที่พบบ่อย จึงสามารถตรวจสอบได้

การดื้อยาปฏิชีวนะ

ในการทดลองนักวิทยาศาสตร์ทำการใส่ยีนดื้อยาปฏิชีวนะทั่วไป เพื่อตรวจสอบว่ากรรมวิธีทางการพันธุวิศวกรรมได้ผลหรือไม่ แม้จะมีเจตนาใช้ยีนเหล่านี้เป็นเพียง "ยีนบ่งชี้" แต่พวกมันก็มีอยู่ทั่วไปในอาหารดัดแปลงพันธุกรรม แพทย์ทั่วโลกเตือนว่าการใช้ยีนดื้อยาปฏิชีวนะอย่างกว้างขวางเช่นนี้ อาจทำให้ยาปฏิชีวนะบางชนิดไม่มีผลในการรักษาโรคของมนุษย์และสัตว์ สหภาพยุโรปและสมาคมแพทย์ทั่วโลกได้เรียกร้องให้ห้ามการใช้เครื่องหมายอันตรายเหล่านี้

ผลต่อสิ่งแวดล้อม

พืชผลดัดแปลงพันธุกรรมอาจก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่มีพฤติกรรมรุกราน โลกได้เห็นถึงผลเสียหายร้ายแรงที่สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่อาจมีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว เมื่อพวกมันกลายเป็นสัตว์รบกวน (เช่น การปล่อยหอยทากทองในฟิลิปปินส์) ตัวอย่างผลกระทบอันตรายจากพืชผลดัดแปลงพันธุกรรมที่พบหลักฐานแล้ว ได้แก่ การปล่อยสารพิษลงสู่ดิน การเป็นพิษต่อแมลงที่มีประโยชน์และไม่มีอันตราย เช่น แมลงเลซวิงส์ หรือตัวอ่อนของผีเสื้อโมนาร์ค และการสร้าง "ซูเปอร์วัชพืช" ที่แข็งแรง เช่น ในแคนาดา ทุ่งปลูกคาโนลาดัดแปลงพันธุกรรม ส่งผลให้เกิดเมล็ดคาโนลาที่ทนทานต่อยาปราบวัชพืชถึงสามชนิด

การปนเปื้อนของเมล็ดพันธุ์และพืชผล

แม้ว่าผู้บริโภคและเกษตรกรจำนวนมากทั่วโลกจะพยายามหลีกเลี่ยงอาหารและพืชผลดัดแปลงพันธุกรรม แต่ผู้คนก็ยังพบว่าแม้แต่ในวัตถุดิบไม่ดัดแปลงพันธุกรรมก็ยังมีการปนเปื้อน กรณีนี้เกิดจากการผสมเกสรข้ามพันธุ์ เมื่อละอองเกสรปนเปื้อนปลิวไปตามลม หรือเมื่อเมล็ดพืชแพร่กระจายออกไปในสิ่งแวดล้อม หรือมีการผสมระหว่างการจัดการ ทั้งยังเริ่มปรากฏชัดด้วยว่า ยีนสามารถเคลื่อนย้ายด้วยกระบวนการที่เรายังไม่ค่อยเข้าใจนัก เรียกว่า การถ่ายยีนเชิงระนาบ โดยแบคทีเรียจะเก็บวัสดุพันธุกรรมและแลกเปลี่ยนมันกับแบคทีเรียตัวอื่นๆในดินหรือในลำไส้ จึงเป็นที่เกรงว่าเมื่อเวลาผ่านไป ทุกสิ่งทุกอย่างจะมีการปนเปื้อนสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งหากเกิดความผิดพลาดขึ้น ก็จะสายเกินไป

นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางจริยธรรมและสังคมหลายประการ เช่น อาหารดัดแปลงพันธุกรรมตัดทางเลือกของผู้บริโภค - ผู้บริโภคในฟิลิปินส์ถูกปฏิเสธสิทธิที่จะเลือกไม่กินอาหารดัดแปลงพันธุกรรม เนื่องจากมีการปนเปื้อนแพร่หลายที่เกิดจากพืชผลดัดแปลงพันธุกรรม และพืชผลดัดแปลงพันธุกรรมหลายชนิดไม่ได้มีการเก็บแยกออกจากระบบอาหาร เรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากฟิลิปปินส์ไม่มีการติดฉลากหรือควบคุมอาหารดัดแปลงพันธุกรรม

โจรสลัดชีวภาพ

เพื่อให้ได้ลักษณะเฉพาะที่ต้องการ บริษัทเคมีมักใช้ยีนจากพืช สัตว์ และแบคทีเรียที่หาได้จากประเทศยากจนกว่า ซึ่งมักเป็นแหล่งของความหลากหลายทางชีวภาพ
ส่วนใหญ่ กำไรและผลประโยชน์จากการใช้ยีนเหล่านี้จะเพิ่มพูนให้บริษัทที่ทำธุรกิจการเกษตรในประเทศซีกโลกเหนือ ผลคือมีการขโมยยีนเหล่านี้จากประเทศยากจนเพื่อป้อนกำไรให้บริษัท จากนั้นบริษัทข้ามชาติก็จะอาศัยกฎหมายสิทธิบัตรนานาชาติ บังคับให้ตนเป็นเจ้าของยีนเหล่านี้

การสูญเสียสิทธิของเกษตรกร

เนื่องจากเมล็ดพืชดัดแปลงพันธุกรรมมีสิทธิบัตร บริษัทเมล็ดพืชจึงสามารถควบคุมการใช้เมล็ดเหล่านี้ได้อย่างเคร่งครัด เกษตรกรสหรัฐที่ปลูกพืชผลดัดแปลงพันธุกรรมต้องเซ็นสัญญาเจาะจงว่าจะปลูกพืชผลอย่างไร และสัญญาว่าจะไม่เก็บเมล็ดไว้ หากพบว่าเกษตรกรเก็บเมล็ดไว้ บริษัทเคมีเหล่านี้ก็จะฟ้องร้องเกษตรกร ด้วยเหตุนี้เกษตรรายย่อยจึงสูญเสียสิทธิในการเก็บเมล็ดพืช ซึ่งเป็นรากฐานของความมั่นคงด้านอาหาร ตั้งแต่เริ่มมีการเพาะปลูก ขณะนี้บริษัทพืชผลดัดแปลงพันธุกรรมได้ควบคุมการค้าเมล็ดพืชทั่วโลก และเกษตรกรสหรัฐก็ได้รายงานว่าเมล็ดพืชไม่ดัดแปลงพันธุกรรมกำลังกลายเป็นของหายาก

การดัดแปลงพันธุกรรมเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ

เนื่องจากพันธุวิศวกรรมข้ามพรมแดนสายพันธุ์ และแทรกแซงธรรมชาติ เพื่อสร้างสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่ไม่มีทางเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ผู้คนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการดัดแปลงพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตทั้งในด้านจริยธรรมและด้านศาสนา เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ พระสันตะปาปาทรงมีพระดำรัสคัดค้านพืชผลดัดแปลงพันธุกรรม ในการแถลงต่อเกษตรกรประมาณ ๕๐,๐๐๐ คนจากอิตาลี และประเทศอื่นๆ ในพิธีกลางแจ้งพิเศษที่จัดขึ้น ณ นครวาติกัน

สร้างโดย: 
คุณครูจุฑารัตน์ จริงธนสารและนางสาวพิชญา เปลี่ยนศิริ

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 220 คน กำลังออนไลน์