ประวัติของสุนทรภู่

          “สุนทรภู่” เป็นกวีของไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีผลงานนิพนธ์ไว้มากมาย จนได้รับการเรียกขานต่างๆ เช่น รัตนกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กวีเอกของไทย กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บรมครูกลอนตลาดแห่งกรุงสยาม และบรมครูกลอนแปด เป็นต้น ซึ่งชื่อเหล่านี้ล้วนเป็นการยกย่องในความเป็นเลิศและความสามารถในกวีนิพนธ์ของท่านทั้งสิ้น ผลงานของท่านมีทั้งประเภทนิราศ นิทาน สุภาษิต เสภา บทละครและบทเห่กล่อม และด้วยผลงานเหล่านี้นี่เองที่ทำให้องค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ท่านเป็น บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ ๒๐๐ปี เกิดของท่านเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๙ ซึ่งถือได้ว่าท่านเป็นสามัญชนคนแรกของไทยที่ได้รับเกียรตินี้
          ตามประวัติโดยย่อ ในหนังสือวันสำคัญฯของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้กล่าวไว้ว่า สุนทรภู่เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๓๒๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บิดามารดาชื่อใดไม่ปรากฏ ตามสันนิษฐานว่ามารดาเป็นข้าหลวงอยู่ในพระราชวังหลัง(บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบัน) เมื่อบิดามารดาเลิกร้างกัน บิดาได้ออกบวชและไปอยู่ที่วัดป่า ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง อันเป็นภูมิลำเนาเดิม ส่วนมารดานั้นได้กลับไปเป็นข้าหลวงในพระราชวังหลัง และได้ถวายตัวเป็นแม่นมพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง(กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข) ดังนั้น ในปฐมวัย สุนทรภู่จึงได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระราชวังหลังและอาศัยอยู่กับมารดา และได้รับการศึกษาในพระราชวังหลังและวัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ตั้งแต่เยาว์วัยสุนทรภู่มีนิสัยรักการแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น ครั้นรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่วัดศรีสุดาราม ในคลองบางกอกน้อย ได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอนนิทานไว้เมื่อราวอายุ ๒๐ ปี ในระยะนี้ได้ลอบรักกับหญิงชาววังชื่อ “จัน” จึงต้องเวรจำทั้งชายหญิง เมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคต จึงพ้นโทษ ต่อมาเมื่ออยู่กินเป็นสามีภรรยากับนางจันได้ไม่นานก็เกิดระหองระแหง คงเป็นเพราะสุนทรภู่มักเมาสุราอยู่เป็นนิตย์
          ในสมัยรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาก จนได้รับการแต่งตั้งเป็น ขุนสุนทรโวหาร เป็นกวีที่ปรึกษา และคอยรับใช้ใกล้ชิด และในระหว่างนี้ก็ได้ภรรยาอีกคนหนึ่งชื่อ “นิ่ม” ต่อมาราวปีพ.ศ. ๒๓๖๔ สุนทรภู่ต้องติดคุกเพราะเมาสุราอาละวาดทำร้ายญาติผู้ใหญ่ของตัว แต่ติดไม่นานก็พ้นโทษ เพราะความสามารถในทางกลอน กล่าวคือเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องหนึ่งติดขัด ไม่มีผู้ใดจะต่อให้พอพระราชหฤทัยได้ จึงมีรับสั่งให้เบิกตัวสุนทรภูมาจากคุก และสุนทรภู่ก็สามารถต่อกลอนได้ดังพระราชประสงค์ จึงโปรดเกล้าฯให้พ้นโทษ กลับมารับราชการตามเดิม และในปลายรัชกาลยังโปรดให้เป็นครูสอนหนังสือถวายพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ด้วย
          สมัยรัชกาลที่ ๓ สุนทรภู่ถูกกล่าวหาด้วยเรื่องเสพสุราและอื่นๆ จึงถูกถอดออกจากตำแหน่ง ต่อมาจึงไปบวชที่วัดราชบูรณะ(วัดเลียบ) และเดินทางไปจำพรรษาตามวัดต่างๆ และได้รับการอุปการะจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจนพระองค์ประชวรสิ้นพระชนม์ ระหว่างนี้ได้ลากสิกขาบท รวมอายุพรรษาที่บวชประมาณ ๑๐ พรรษา ครั้นต่อมาต้องตกระกำลำบากอยู่พักหนึ่ง จึงไปบวชอีกครั้ง แต่บวชราว ๒ พรรษาก็ลาสิกขาบทมาถวายตัวอยู่กับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ณ พระราชวังเดิม รวมทั้งได้รับอุปการะจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย
          เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่วังหน้า(พระบวรราชวัง) สุนทรภู่จึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระสุนทรโวหาร ตำแหน่งเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระบวรราชวังในปี พ.ศ.๒๓๙๔ ขณะนั้นอายุ ๖๖ ปี และรับราชการต่อมาอีก ๔ ปี ก็ถึงแก่มรณกรรมในพ.ศ. ๒๓๙๘ รวมสิริอายุได้ ๗๐ ปี ผลงานของสุนทรภู่มีอยู่มากมายและหลากหลายตามที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเท่าที่ปรากฏเรื่องและยังมีฉบับอยู่ในปัจจุบัน คือ
          ประเภทนิราศ ได้แก่ นิราศภูเขาทอง นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศพระประธม นิราศเมืองเพชร นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนานิราศพระแท่นดงรัง และนิราศเมืองสุพรรณ (เป็นเรื่องเดียวที่แต่งเป็นโคลง เพื่อลบคำสบประมาทที่ว่าท่านเก่งแต่แต่งกลอนเท่านั้น)
          ประเภทนิทาน ได้แก่ เรื่องโคบุตร พระอภัยมณี พระไชยสุริยา ลักษณวงศ์และสิงหไกรภพ
          ประเภทสุภาษิต ได้แก่ สวัสดิรักษา เพลงยาวถวายโอวาท และสุภาษิตสอนหญิง
          ประเภทละคร ได้แก่ พระอภัยนุราช
          ประเภทเสภา ได้แก่ เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม และเรื่องพระราชพงศาวดาร ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นงานนิพนธ์ชิ้นสุดท้ายของสุนทรภู่
          ประเภทบทเห่กล่อม ได้แก่ เห่เรื่องจับระบำ เรื่องกากี เรื่องพระอภัยมณี และเรื่องโคบุตร
อย่างไรก็ดี ในเรื่องประวัติและผลงานของท่านสุนทรภู่นี้ นายเทพ สุนทรศารทูล ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมท่านหนึ่ง กล่าวไว้ว่าท่านได้ศึกษาและค้นคว้าชีวิตและงานของสุนทรภู่มาเป็นเวลานานถึง ๓๘ ปี(พ.ศ.๒๔๙๕-๒๕๓๓) และได้พิมพ์หนังสือเรื่อง”ชีวประวัติของพระสุนทรโวหาร (ภู่ ภู่เรือหงส์) ” เมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๓ เป็นวิทยานิพนธ์โดยพิสดารเผยแพร่ประวัติของท่านสุนทรภู่ที่เพิ่งพบใหม่หลายประการ ซึ่งหากใครสนใจในรายละเอียดก็ไปค้นอ่านได้ แต่ในที่นี้จะขอนำมาบอกกล่าวเป็นบางเรื่อง คือ
           - ตำแหน่งของสุนทรภู่ เป็น หลวงสุนทรโวหาร มิใช่ ขุนสุนทรโวหารตามที่เคยว่ากัน เพราะในทำเนียบนามบรรดาศักดิ์ไม่มีตำแหน่ง ขุน มีแต่ หลวง
           - บิดาสุนทรภู่ชื่อ ขุนศรีสังหาญ(พลับ) ตำแหน่งปลัดกรมขวาศักดินา ๓๐๐ไร่
           - จากการค้นคว้าได้พบว่า บทกวีเดิมที่มิใช่สุนทรภู่แต่งมี ๕ เรื่อง แต่เป็นผลงานของศิษย์ของท่าน คือ สุภาษิตสอนหญิง เป็นของนายภู่ จุลละภมร นิราศพระแท่นดงรัง เป็นของเสมียนมี มีระเสน นิราศวัดเจ้าฟ้า ของนายพัด ภู่เรือหงส์ (ลูกชายสุนทรภู่) นิราศอิเหนา ของกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ และบทละครเรื่องพระอภัยนุราช เป็นของพระยาเสนาภูเบศร์ (ใส สโรบล) นอกจากนี้นายเทพ ยังพบผลงานใหม่ของท่านสุนทรภู่อีก ๕ เรื่องคือ เพลงยาวรำพรรณพิลาป(แต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งกล่าวว่าเป็นเพลงยาวสังวาสที่ยาวที่สุดในโลก-เพลงยาวสังวาสคือเพลงยาวที่แต่งเกี้ยวกัน) เพลงยาวสุภาษิตโลกนิติ ตำรายาอัฐกาล(ตำราบอกฤกษ์ยามเดินทาง) สุบินนิมิตคำกลอน และตำราเศษนารี(เป็นตำราบอกลักษณะนารีถึงคุณลักษณะ และวาสนานารีสำหรับชายหนุ่มเลือกคู่) ที่กล่าวว่าสุภาษิตสอนหญิงมิใช่สุนทรภู่แต่ง แต่เป็นของนายภู่ จุลละภมร ศิษย์สุนทรภู่นั้น นายเทพให้ข้อสังเกตว่าเพราะชื่อภู่เหมือนกัน แต่เรื่องที่นายภู่แต่งจะมีบทไหว้ครูทุกเรื่อง ผิดกับท่านสุนทรภู่ที่แต่งกลอนจะไม่เคยมีบทไหว้ครูเลย
           - เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ สุนทรภู่กลัวภัยที่เคยได้ล่วงเกินพระองค์มาก่อน จึงได้หนีไปบวชที่วัดอรุณฯ ในนามหลวงสุนทรโวหารนอกราชการ ไม่เคยถูกถอดยศหรือปลดตำแหน่งใดเลย และตลอดระยะเวลาที่บวชอยู่ ๒๗ พรรษา รัชกาลที่ ๓ ก็ไม่เคยแตะต้องข้องแวะกับสุนทรภู่ นอกจากนี้พระองค์เจ้าลักขณานุคุณและกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๓ ยังให้ความอุปการะแก่สุนทรภู่ด้วยซ้ำ ซึ่งหากพระองค์ถือโทษโกรธเคืองสุนทรภู่ ดังที่หลายคนอ่านบทกลอนของสุนทรภู่แล้วเข้าใจผิด ในฐานะพระเจ้าแผ่นดิน สุนทรภู่คงจะไม่พ้นพระราชอาญาแล้ว แต่พระองค์ทรงพระคุณธรรมประเสริฐยิ่ง จึงไม่เคยลงโทษสุนทรภู่แต่อย่างใดเลย
          จากชีวประวัติของสุนทรภู่ หากจะเว้นในเรื่องเมาสุรา ซึ่งถือว่าเป็นข้อบกพร่องธรรมดาของมนุษย์ปุถุชนแล้ว เราจะพบว่าผลงานกวีนิพนธ์ของท่านนั้นมีความโดดเด่น มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ข้อวิเศษของท่านที่ต่างจากกวีอื่น คือ กระบวนกลอนและสำนวนกลอนอย่างปากตลาดที่หาผู้ใดเสมือนได้ยาก ท่านนับเป็นกวีคนแรกที่ตั้งแบบกลอนสุภาพขึ้น จนผู้อื่นนำไปเป็นแบบอย่างและแต่งกันแพร่หลายมาจนทุกวันนี้ ท่านเป็นผู้ริเริ่มเล่นสัมผัสในขึ้น ทำให้กลอนสุภาพมีความไพเราะเพราะพริ้งมากขึ้น และถือเป็นแบบอย่าง ต่อมาจนปัจจุบัน
          กวีนิพนธ์ของสุนทรภู่ นอกจากจะมีความไพเราะแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีในสมัยก่อนได้ดี โดยเฉพาะการสอดแทรกสุภาษิตคำคมทั้งทางโลกและทางธรรม อันเป็นข้อคิดและคติสอนใจแก่ผู้อ่านที่เป็นสัจธรรมและยังร่วมสมัยอยู่เสมอ

         

         

         

     

สร้างโดย: 
นางสาววิชุรินทร์ ตากงูเหลือม

ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ Smile สุทรภู่ บรมครูกลอนตลาดแห่งกรุงสยาม

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 526 คน กำลังออนไลน์