มงคลที่ 26 ฟังธรรมตามกาล

                                                              มงคลที่ 26 ฟังธรรมตามกาล

                                             

                    แหล่งที่มา : http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/12/32012/images/036.jpg

การฟังธรรม ตามกาล ผ่านมาถึง
ควรคำนึง นิ่งนั่ง ฟังขยัน
ย่อมจะเกิด ปัญญา สารพัน
ตั้งใจมั่น ฟังดี นี่สมควร

การฟังธรรมตามกาลหมายถึงอะไร ?
 การฟังธรรมตามกาล คือ การขวนขวายหาเวลาไปฟังธรรมคำสั่งสอนจากผู้มีธรรมะ เพื่อยกระดับจิตใจและสติปัญญาให้สูงขึ้น โดยเมื่อ
ฟังธรรมแล้วก็น้อมเอาคุณธรรมเหล่านั้นมาเป็นกระจกสะท้อนดูตนเองว่า มีคุณธรรมนั้นหรือไม่ จะปรับปรุงคุณธรรมที่มีอยู่ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปได้อย่างไร
เช่น เมื่อได้ฟังธรรมเรื่องความอดทนแล้ว ก็นำเรื่องนี้มาตรวจดูใจตนเองทันทีว่า เรามีความอดทนไหม ถ้ามี มีมากน้อยเพียงไร อดทนหรือไม่อดทนต่อสิ่งใด เช่น อดได้เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยทน คือ อดข้าวอดปลาได้ แต่ทนต่อการยั่วยุ ทนต่อคำนินทาไม่ได้ อย่างนั้นหรือเปล่า เมื่อฟังธรรมแล้วตรวจดูจะรู้ทันทีว่า เราขาดอะไรไป จะตกแต่งต่อเติมอย่างไรจึงจะดี

กาลที่ควรฟังธรรม
 1.วันธรรมสวนะ คือ วันพระนั่นเอง เฉลี่ยประมาณ 7 วันครั้ง ทั้งนี้เพราะธรรมดาคนเรา เมื่อได้ฟังเทศน์ ฟังธรรม ฟังคำสั่งสอนตักเตือน จากพ่อแม่ ครูอาจารย์ ใหม่ๆ ก็ยังจำได้ดีอยู่ แต่พอผ่านไปสัก 7 วันชักจะเลือนๆ ครูอาจารย์บอกให้ขยันเรียน ขยันไปได้ไม่กี่วันชักจะขี้เกียจอีกแล้ว เพราะฉะนั้น 7 วัน ก็ไปให้ท่านกระหนาบ ย้ำเตือนคำสอนเสียครั้งหนึ่ง
 2.เมื่อจิตถูกวิตกครอบงำ คือ เมื่อใดก็ตามที่มีความคิดไม่ดีเกิดขึ้นในใจของเรา ทำให้ใจขุ่นมัว เศร้าหมอง ฟุ้งซ่าน เมื่อนั้นให้รีบเร่งไปฟังธรรม จะเช้า จะสาย จะบ่าย จะเย็น วันโกน วันพระ หรือวันอะไรก็ตาม ไม่เกี่ยงทั้งนั้น ไม่ต้องรอ ความคิดที่ทำให้ใจของเราเศร้าหมอง แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่
     2.1เมื่อกามวิตกกำเริบ คือ เมื่อใจของเราฟุ้งซ่านด้วยเรื่องเพศ เรื่องรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ห่วงหาอาลัยอาวรณ์ต่อสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ
     2.2 เมื่อพยาบาทวิตกกำเริบ คือ เมื่อใจของเราถูกความโกรธเข้าครอบงำ เกิดความรู้สึกอยากล้างผลาญ ทำลายผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการคิดผลาญทรัพย์ ผลาญชีวิต หรือผลาญเกียรติยศ ศักดิ์ศรีก็ตาม
     2.3เมื่อวิหิงสาวิตกกำเริบ คือ เมื่อใดที่ใจของเราเกิดความคิดอยากจะเบียดเบียนผู้อื่น คิดจะเอาเปรียบ คิดจะกลั่นแกล้งรังแกเขา
 เมื่อใดที่ความคิดทั้ง 3 ประเภทนี้เกิดขึ้นให้รีบไปฟังธรรม อย่ามัวชักช้า มิฉะนั้น อาจไปทำผิดพลาดเข้าได้
 3.เมื่อมีผู้รู้มาแสดงธรรม คือ เมื่อมีผู้มีความรู้มีความสามารถและมีธรรม มาแสดงธรรมให้รีบไปฟัง เพราะบุคคลเช่นนี้หาได้ยากในโลก
 ต้องรอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกก่อน  แล้วต้องตั้งใจศึกษาธรรมของพระองค์ให้เข้าใจแตกฉาน เท่านั้นยังไม่พอ จะต้อง
มีความสามารถถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นได้อีกด้วย ดังนั้นเมื่อมีโอกาสเช่นนี้ เราต้องรีบไปฟังธรรมจากท่าน

คุณสมบัติของผู้แสดงธรรมที่ดี
 “อานนท์ การแสดงธรรมให้คนอื่นฟัง ไม่ใช่ของง่ายเลยผู้ที่จะแสดงธรรมให้คนอื่นฟัง จะต้องอยู่ในธรรมะถึง 5 ประการ” 
นี่คือพุทธวจนะที่ตรัสแก่พระอานนท์ ถึงคุณสมบัติของผู้แสดงธรรมที่ดี 5 ประการคือ
 1.ต้องแสดงธรรมไปตามลำดับของเรื่องไม่วกวน ไม่กระโดดข้ามขั้นข้ามตอน แสดงธรรมลุ่มลึกไปตามลำดับ ซึ่งผู้ที่จะแสดงเช่นนี้ได้จะต้อง
     1.1มีความรู้จริง รู้เรื่องที่จะเทศน์จะสอนดีพอที่จะทราบว่าอะไรควรพูดก่อน อะไรควรพูดทีหลัง
     1.2 มีวาทศิลป์ มีความสามารถในการพูด มีจิตวิทยาในการถ่ายทอด รู้สภาพจิตใจ ของผู้ฟังว่าควรรู้อะไรก่อน อะไรหลัง
     1.3 ต้องมีการเตรียมการ วางเค้าโครงเรื่องที่จะแสดงล่วงหน้าทำอะไร มีแผน ไม่พูดเบา ไม่ใช่เทศน์ตามอำเภอใจ
          ต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่างนี้ จึงจะแสดงธรรมลุ่มลึกไปตามลำดับได้
 2.ต้องแสดงธรรมอ้างเหตุอ้างผลให้ผู้ฟังเข้าใจได้ ผู้แสดงจะต้องเข้าใจเรื่องที่จะแสดงอย่างปรุโปร่ง ไม่ใช่ท่องจำเขามาพูด เวลาแสดงธรรมก็อ้างเหตุอ้างผล ยกตัวอย่างประกอบ แยกแยะให้เห็นอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งได้ เมื่อผู้ฟังสงสัยซักถามจุดไหน ประเด็นไหนก็ชี้แจงให้ฟังได้
 3.ต้องแสดงธรรมด้วยความหวังดีต่อผู้ฟังอย่างจริงใจ มีความเมตตากรุณาอยู่เต็มเปี่ยมในใจ พูดไปแล้วผู้ฟังยังไม่เข้าใจ ยังตามไม่ทัน
สติปัญญายังไม่พอ ก็ไม่เบื่อหน่าย ไม่ละทิ้งกลางคัน แม้จะพูดซ้ำหลายครั้งก็ยอม มีความหวังดี ต้องการให้ผู้ฟังรู้ธรรมจริงๆ มุ่งทำประโยช์แก่ผู้ฟังเต็มที่ ไม่ใช่พูดแบบขอไปที

 4.ต้องไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ คือไม่เห็นแก่ชื่อเสียงคำสรรเสริญเยินยอ ลาภสักการะ เพราะฉะนั้นไม่ว่าการแสดงธรรมนั้นจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ จะมีคนมาฟังมากน้อยเท่าไร ก็ไม่ถือเป็นอารมณ์แสดงธรรมอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ว่างานของคนใหญ่คนโตก็แสดงอย่างเต็มที่แต่งานของคนกระจอกงอกง่อย ก็แสดงกะล่อมกะแล่มไม่เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าผู้ใดแสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ ผู้นั้นก็เป็นเพียงลูกจ้างของคนฟัง กระแสเสียงที่แสดงก็มักจะเต็มไปด้วยการประจบประแจงเจ้าภาพซึ่งเป็นนายจ้าง ลงได้เอาอามิสมาเป็นเจ้าหัวใจแล้วละก็เป็นใช้ไม่ได้ทีเดียว
 5.ต้องไม่แสดงธรรมกระทบตนเองหรือผู้อื่น คือ ไม่ฉวยโอกาสยกตัวอย่างความดีของตัวเองเพื่อโอ้อวด หรือยกความผิดพลาดของคนอื่นเป็นตัวอย่างเพื่อประจานความผิดของเขา ไม่ใช่ถือว่ามีไมโครโฟนอยู่ในมือ ก็คุยอวดตัวทับถมคนอื่นเรื่อยไป ผู้พูดต้องมุ่งอธิบายธรรมะจริงๆ หากจะยกตัวอย่างเรื่องใดประกอบ เพื่อเป็นข้อสนับสนุนให้ผู้ฟังเข้าใจข้อธรรมะที่แสดง ก็ต้องระวังไม่ให้ผู้อื่นเสียหาย การฉวยโอกาสเวลาแสดงธรรมใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่นเป็นการกระทำผิดแบบฉบับของศาสนาพุทธ
  เราจะเห็นได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงวางวิธีการเผยแผ่ศาสนาของพระองค์ไว้อย่างรอบคอบ  แทนที่จะมุ่งแต่แผ่อิทธิพลศาสนาของพระองค์และทับถมโจมตีศาสนาอื่น กลับทรงวางคุณสมบัติควบคุมผู้ทำการสอนศาสนาไว้อย่างรัดกุม ซึ่งหาดูได้ยากในศาสนาอื่นๆ

                                  

                                                              

                                                                    สารบัญ คลิกที่นี่

สร้างโดย: 
นางปาลิดา สวนชังและนางสาวนันทิชา เรืองวินิตวงศ์

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 567 คน กำลังออนไลน์