ฝนดาวตกสิงโต 2552

รูปภาพของ ssspoonsak

ฝนดาวตกสิงโต 2552

7 พฤศจิกายน 2552 รายงานโดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด

ฝนดาวตกสิงโตหรือฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids) ในปีนี้อาจกลายเป็นข่าวดังและได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากนักดาราศาสตร์คำนวณพบว่าอัตราการเกิดดาวตกในฝนดาวตกกลุ่มนี้อาจสูงกว่าระดับปกติ และคาดว่าสามารถสังเกตเห็นได้ชัดในแถบตะวันออกของยุโรปจนถึงเกือบทั้งหมดของเอเชียโดยไม่มีแสงจันทร์รบกวน

ฝนดาวตกเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติซึ่งทำให้มองเห็นดาวตกจำนวนหนึ่งพุ่งออกมาจากบริเวณเดียวกันบนท้องฟ้า ฝนดาวตกเกิดขึ้นทุกปีและมีอยู่หลายกลุ่ม จำนวนดาวตกมีหลายระดับ ตั้งแต่ต่ำมากเพียงไม่กี่ดวงต่อชั่วโมงจนถึงมากกว่า 100 ดวงต่อชั่วโมง ฝนดาวตกเกิดขึ้นเมื่อโลกเดินทางฝ่าเข้าไปในบริเวณที่มีสะเก็ดดาวอยู่หนาแน่นในอวกาศ สะเก็ดดาวเหล่านี้มีต้นกำเนิดจากดาวหาง เมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ น้ำแข็งที่ผิวจะระเหิดและนำพาเศษชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่เรียกว่าสะเก็ดดาว (meteoroid) หลุดออกมาและทิ้งไว้ตามทางโคจร เราเรียกแนวของสะเก็ดดาวเหล่านี้ว่าธารสะเก็ดดาว (meteoroid stream) ฝนดาวตกสิงโตเกิดจากดาวหางเทมเพล-ทัตเทิล (55P/Tempel-Tuttle) มีคาบประมาณ 33 ปี ล่าสุดได้ผ่านเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อ พ.ศ. 2541 ฝนดาวตกส่วนมากมีชื่อตามดาวหรือกลุ่มดาวที่จุดกระจายฝนดาวตก (radiant) ปรากฏอยู่ ฝนดาวตกสิงโตจึงมีจุดกระจายอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต

ในอดีตนักดาราศาสตร์ไม่สามารถพยากรณ์เวลาและอัตราการเกิดดาวตกจากฝนดาวตกได้ หรือทำได้ก็ไม่แม่นยำนัก เทคนิคการพยากรณ์ซึ่งนำมาใช้กับฝนดาวตกสิงโตตั้งแต่ปี 2542 ด้วยการสร้างแบบจำลองเพื่อพยากรณ์การเคลื่อนที่ของสะเก็ดดาวโดยคำนึงถึงแรงภายนอกที่ส่วนใหญ่คือแรงโน้มถ่วงกระทำต่อสะเก็ดดาว ทำให้การพยากรณ์ฝนดาวตกสิงโตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาค่อนข้างใกล้เคียงกับปรากฏการณ์จริง แม้จะยังมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้

ดาวหางเทมเพล-ทัตเทิล มีธารสะเก็ดดาวอยู่หลายสาย ธารสายหลักที่โลกจะเข้าไปใกล้ในปีนี้กำเนิดขึ้นเมื่อดาวหางโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อ ค.ศ. 1466 และ 1533 โดยทั่วไปธารสะเก็ดดาวจะมีเส้นทางอยู่ใกล้วงโคจรของดาวหาง แต่เบี่ยงเบนไปเนื่องจากแรงรบกวนจากวัตถุต่าง ๆ ในระบบสุริยะ

ผลงานวิจัยโดยนักดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญการพยากรณ์ฝนดาวตกจากอย่างน้อย 3 กลุ่ม ให้ผลใกล้เคียงกันว่าฝนดาวตกสิงโตในปีนี้จะมีดาวตกถี่มากที่สุดในเวลาเกือบตี 5 ของเช้ามืดวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ตามเวลาประเทศไทย ด้วยอัตราประมาณ 130 - 200 ดวงต่อชั่วโมง (เดิมคาดหมายว่าอาจสูงถึง 500 ดวง แต่ผลการพยากรณ์ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนลดลงมาที่ 200 ดวงต่อชั่วโมง) นอกจากนั้น ตัวเลขนี้ยังใช้กับสถานที่ที่ท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีสิ่งใดบดบังท้องฟ้า ไม่มีแสงรบกวน และจุดกระจายดาวตกอยู่ที่จุดเหนือศีรษะ

ฝนดาวตกสิงโตเริ่มขึ้นราววันที่ 10 พ.ย. โดยมีอัตราต่ำมาก แล้วจะค่อย ๆ สูงขึ้นจนสูงที่สุดในราววันที่ 17-19 พ.ย. หลังจากนั้นจึงลดลงและสิ้นสุดในราววันที่ 21 พ.ย. ช่วงวันที่มีดาวตกถี่มากที่สุด ประเทศไทยจะเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่คืนวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2552 โดยเริ่มในเวลาประมาณ 00:30 น. (เข้าสู่วันที่ 18) คาดว่าดาวตกในชั่วโมงแรกจะมีน้อยมาก อาจเห็นเพียงไม่กี่ดวงแต่มักพุ่งเป็นทางยาวบนท้องฟ้าโดยมีทิศทางมาจากซีกฟ้าตะวันออก

เมื่อเวลาผ่านไป จุดกระจายฝนดาวตกซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวสิงโตจะเคลื่อนสูงขึ้นตามการหมุนของโลก อัตราการเกิดดาวตกก็จะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จากการคำนวณคะเนว่าช่วงเวลา 03:00 - 04:00 น. ควรนับได้อย่างน้อย 5 ดวง และอาจถึง 10 ดวง ดาวตกสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วท้องฟ้า แต่เมื่อลากเส้นตามแนวของดาวตกแต่ละดวงย้อนกลับไปจะบรรจบกันที่บริเวณหัวสิงโตซึ่งมีลักษณะคล้ายเคียว มีดาวหัวใจสิงห์เป็นส่วนของด้ามเคียว

เมื่อใกล้เช้า กลุ่มดาวสิงโตจะเคลื่อนขึ้นไปอยู่สูงเหนือศีรษะ ผลการพยากรณ์ระบุว่าดาวตกอาจมีจำนวนมากที่สุดในช่วงเวลา 04:00 - 05:00 น. หากสังเกตในที่มืด ห่างไกลจากเมืองใหญ่ ช่วงเวลาดังกล่าวควรนับได้อย่างน้อย 60 ดวง และอาจสูงถึง 100 ดวง โดยในช่วงใกล้ตี 5 จะมีอัตราสูงสุดราว 1-2 ดวงต่อนาที และอาจสูงกว่านี้ที่ 2-3 ดวงต่อนาที นักดาราศาสตร์คาดว่าจะมีลูกไฟ (fireball) ซึ่งเกิดจากสะเก็ดดาวขนาดใหญ่ให้เห็นได้บ้าง

หากเป็นไปตามการพยากรณ์ ช่วงเวลา 05:00 - 05:30 น. ควรนับดาวตกได้เป็นจำนวนราวครึ่งหนึ่งของช่วงเวลา 04:00 - 05:00 น. ก่อนท้องฟ้าสว่าง สำหรับในเมืองที่มีแสงไฟฟ้าและมลพิษรบกวน ดาวตกที่นับได้จะต่ำกว่านี้ประมาณ 6-7 เท่า สำหรับผู้ที่ต้องการดูฝนดาวตกครั้งนี้ เนื่องจากคาดหมายว่าดาวตกจะมีจำนวนมากที่สุดในช่วงใกล้เช้ามืด ดังนั้นหากไม่สะดวกที่จะเฝ้าสังเกตตลอดทั้งคืน แนะนำให้นอนเอาแรง แล้วตั้งนาฬิกาปลุกเพื่อตื่นมาดูตั้งแต่ตี 4 เป็นต้นไป

แม้ว่าการพยากรณ์ฝนดาวตกอาจมีความแม่นยำเชื่อถือได้มากขึ้นตามที่ได้พิสูจน์มาแล้ว แต่เราต้องตระหนักว่าฝนดาวตกแตกต่างจากปรากฏการณ์อื่นอย่างสุริยุปราคาหรือจันทรุปราคาที่สามารถระบุเวลาได้แม่นยำถึงระดับทศนิยมของวินาที เรามองไม่เห็นสะเก็ดดาวในอวกาศ จึงไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าแท้จริงแล้วมันเคลื่อนที่และอยู่กันหนาแน่นมากน้อยเพียงใด การพยากรณ์ที่กล่าวมานี้อาศัยแบบจำลองซึ่งพอจะใช้เป็นแนวทางได้ แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะตรงกับปรากฏการณ์จริง หากตรงก็แสดงว่าวิธีการพยากรณ์ที่ทำมานั้นได้เดินมาถูกทางแล้ว หากไม่ตรงก็เป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถนำไปใช้ปรับปรุงการพยากรณ์ในอนาคต ดังนั้นไม่ว่าดาวตกจะมีจำนวนมากหรือน้อย การสังเกตดาวตกก็เป็นประโยชน์สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลทางดาราศาสตร์เสมอ

ดูเพิ่ม

เว็บไซต์อื่น

  • Prediction of the 2009 Leonids - IMCCE Meteor Shower Ephemerides Server
  • Leonid Multi-Instrument Aircraft Campaign - NASA
  • ------------------------------------------------------

     


    ฝนดาวตก 2552 ฝนดาวตกลีโอนิดส์

    เมื่อวันที่ 8 พ.ย. น.ส.ประพีร์ วิราพร นายกสมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปรากฏการณ์ฝนดาวตกสิงโต หรือฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids) ในปีนี้ อาจได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากนักดาราศาสตร์คำนวณพบว่า อัตราการเกิดดาวตกอาจสูงกว่าปกติ

    โดยเฉพาะในช่วงตี 4 ถึง ตี 5 ครึ่งของเช้ามืดวันที่ 18 พ.ย. 2552 อาจได้เห็นถึงชั่วโมงละ 200 ดวง โดยเป็นจำนวนที่มากรองจากเมื่อปี พ.ศ.2544 ซึ่งเป็นปีที่มีความฮือฮามากมีถึง 1,000 ดวงต่อชั่วโมง

    นายกสมาคมดาราศาสตร์ฯ กล่าวอีกว่า ฝนดาวตกเกิดขึ้นเมื่อโลกเดินทางฝ่าเข้าไปในบริเวณที่มีสะเก็ดดาวซึ่งเป็นเศษ ชิ้นเล็กๆ ที่หลุดมาจากดาวหางและทิ้งไว้ตามทางโคจร โดยเรียกแนวของสะเก็ดดาวเหล่านี้ว่า ธารสะเก็ดดาว สำหรับฝนดาวตกสิงโต เกิดจากดาวหางเทมเพล-ทัลเทิล ซึ่งมีธารสะเก็ดดาวอยู่หลายสาย โดยปีนี้คาดว่าจะเห็นฝนดาวตกสิงโตในอัตราที่มาก เพราะโลกจะเข้าไปใกล้ธารสะเก็ดดาวในอดีต 2 สายธาร คือ ช่วงปี ค.ศ.1466 และ ค.ศ.1533 ซึ่งฝนดาวตกสิงโต จะเริ่มขึ้นประมาณวันที่ 10 พ.ย.นี้ แต่มีอัตราฝนดาวตกค่อนข้างต่ำ และจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนสูงที่สุดประมาณวันที่ 17-19 พ.ย.นี้ และสิ้นสุดลงในวันที่ 21 พ.ย.นี้

    สำหรับช่วงที่มีดาวตกถี่มากที่สุดนั้น น.ส.ประพีร์ กล่าวอีกว่า ในประเทศไทย สามารถมองเห็นได้ทั่วประเทศ แต่มีเงื่อนไขคือ ท้องฟ้าจะต้องใส เห็นดวงดาวชัดเจน

    ปีนี้ฝนดาวตกสิงโต เกิดในช่วงคืนเดือนมืด โอกาสเห็นก็จะมีสูงขึ้น วิธีดูที่ดีที่สุดคือ การนอนหงายมองไปที่กลางฟ้าเหนือศีรษะ ดาวตกจะพุ่งมากจากทุกทิศทาง จึงควรกวาดตามองให้ทั่วฟ้า ฝนดาวตกจะมีลักษณะแสงสว่างวาบเคลื่อนที่ผ่านอย่างรวดเร็ว มีสีสันสวยงาม เช่น สีน้ำเงินเขียว สีส้มเหลือง เพราะมีแร่ธาตุประกอบต่างๆกัน เช่น แมกเนเซียม ทองแดง เหล็ก จึงให้สีที่แตกต่างกัน ปลายของดาวตกซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ จะทิ้งควันจางๆ เหมือนไอพ่น หากอยู่ในที่เงียบสงบ บางครั้งอาจได้ยินเสียงด้วย เรียกว่า โซนิกบูม และหากเป็นดาวตกขนาดใหญ่เมื่อเสียดสีกับบรรยากาศจะเห็นเป็นลูกไฟ การเกิดปรากฏการณ์ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเชื่อหรือโหราศาสตร์

    สถานที่ดูฝนดาวตก ฝนดาวตกสิงโต ฝนดาวตกลีโอนิดส์
    จังหวัดปราจีนบุรี ณ อุทยานเขาอีโต้ เหนือสันเขื่อนเก็บน้ำจักรพงษ์ ติดกับสนามแข่งจักรยานเสือภูเขา ตำบลบ้านพระ ตั้งแต่เวลา 00.00 น. ของวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน ต่อเช้ามืดของวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน 2552
    จังหวัดเพชรบูรณ์ ณ ลานชมดาวอุทยานแห่งชาติตากหมอก, ภูทับเบิก, เขาค้อ, อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และบริเวณลานดูดาว อุทยานแห่งชาติตาดหมอก
    จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จัดมหกรรมดาราศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน ในวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2552 โดยจัดกิจกรรมนิทรรศการต่าง ๆ มากมาย เช่น 400 ปีแห่งการค้นพบทางดาราศาสตร์ วิวัฒนาการกล้องโทรทรรศน์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นิทรรศการภาพถ่ายทางดาราศาสตร์โดยฝีมือคนไทย นอกจากนี้ กิจกรรมสาธิตการประกอบนาฬิกาแดด การประกวดวาดภาพทางดาราศาสตร์ และโดยเฉพาะในคืนวันที่ 17 พฤศจิกายน จะมีกิจกรรมให้ประชาชนได้เฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิสต์ จนถึงช่วงเช้าของวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้
    จังหวัดอุบลราชธานี โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาอุบลราชธานี ขอเชิญชวนชมฝนดาวตกลีโอนิดส์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2552 นี้ โดยฝนดาวตก ลีโอนิดส์เห็นได้ 2 ช่วง คือวันที่ 16 – 17 และ 18 – 19 เห็นได้เฉลี่ยชั่วโมงละ 10 – 20 ดวง
    จังหวัดลพบุรี ณ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และแหล่งท่องเที่ยวอ่างซับเหล็ก ในวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน ต่อเช้ามืดของวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน 2552 เนื่องจากเป็นที่โล่ง กว้าง ไม่มีแสงไฟรบกวน และยังมีการตั้งกล้องดูดาวอยู่ที่วัดเขาจีนแล (วัดเวฬุวัน) ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขา ห่างจากอ่างซับเหล็กประมาณ 2 กิโลเมตร นอกจากนั้น ยังเป็นช่วงเดียวกับดอกทานตะวันที่กำลังบานเต็มทุ่งอยู่สองข้างทาง โดยเฉพาะบริเวณหลังอ่างซับเหล็ก หรือบริเวณวัดเขาตะกร้า เช่นเดียวกับเส้นทางมุ่งสู่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ก็มีดอกทานตะวันบานแล้วหลายทุ่งเช่นกัน

สร้างโดย: 
ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย กรุงเทพมหานคร

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 177 คน กำลังออนไลน์