คณะศิลปกรรมศาสตร์

หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต (ศป.บ.) ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ แบ่งเป็นหลายสาขาวิชาคือ

สาขาวิชาการออกแบบทัศนศิลป์ (Visual Design Program)
          เปิดสอนหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบทัศนศิลป์ มี 3 วิชาเอก คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) การออกแบบแฟชั่น (Fashion Design) และศิลปะเครื่องประดับ (Jewelry Design) มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านที่ก้าวหน้าทันสมัย สอดคล้องกับพัฒนาการสังคมและระบบธุรกิจในปัจจุบัน

คุณสมบัติของผู้เรียน
          ผู้เรียนต้องมีความรู้ความสามารถและทัศนคติที่ดีทางด้านการออกแบบทัศนศิลป์ในแต่ละด้าน มีความมั่นใจที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถและบุคลิกภาพให้เป็นนักออกแบบที่พร้อมด้วยระบบระเบียบ และทัศนคติเชิงธุรกิจ ให้สอดคล้องในวิชาชีพของตน

หลังจบการศึกษา
          บัณฑิตสามารถเลือกประกอบอาชีพงานออกแบบและผลิตในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และการประกอบอาชีพอิสระตามความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจของตนเอง

สาขาวิชาการออกแบบสื่อสาร (Communication Design Program)
          เปิดสอนหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบสื่อสาร เป็นการเรียนการสอนทางด้านการออกแบบ 2 มิติ ออกแบบสิ่งพิมพ์ ออกแบบโฆษณาถ่ายภาพ วีดิทัศน์ ออกแบบเว็บเพจคอมพิวเตอร์ มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ สอดคล้องกับพัฒนาการสังคมปัจจุบัน

คุณสมบัติของผู้เรียน
          ผู้เรียนต้องมีความรู้ความสามารถและมุ่งมั่นทางด้านการออกแบบสื่อสาร มีความคิดสร้างสรรค์ มีระบบระเบียบ ติดตามการเปลี่ยนแปลง มีทัศนคติในเชิงธุรกิจ สนใจการสร้างสรรค์งานออกแบบที่สัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย มีความสุขในการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการออกแบบ

หลังจบการศึกษา
          บัณฑิตสามารถเลือกประกอบอาชีพในบริษัทโฆษณา บริษัทห้างร้านที่ผลิตสื่อบันเทิง งานออกแบบทั่วไปและสามารถพัฒนาธุรกิจของตนเองได้


สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ศึกษา (Music Education Program)
          เปิดสอนหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ศึกษา 2 วิชาเอกคือ ดุริยางคศาสตร์ไทยและดุริยางคศาสตร์สากล ดนตรีศึกษาที่มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถด้านดนตรีไทยหรือสากล พร้อมทั้งกระบวนการทางด้านการศึกษาที่สามารถสอนในระบบการศึกษา รวมทั้งดนตรีศึกษาในสังคม ชุมชน และครอบครัว

คุณสมบัติของผู้เรียน
          ผู้เรียนต้องมีความรู้ความสามารถและทัศนคติที่ดีทางด้านดนตรีและในการศึกษาทางดนตรี มีสำนึกของความเป็นครู พร้อมที่จะเรียนรู้และถ่ายทอด และเป็นตัวอย่างของความดีงามในสังคม

หลังจบการศึกษา

          บัณฑิตสามารถเลือกประกอบวิชาชีพครูในระดับต่างๆ ถ่ายทอดความรู้ความสามารถทางดนตรีในสังคม ชุมชน และครอบครัว รวมทั้งการเป็นนักดนตรีตามความสามารถเฉพาะบุคคล

สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์สากล (Music Program)
          เปิดสอนหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์สากล มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถทางดนตรีสากล ทั้งแนวคลาสสิคและร่วมสมัย มีศักยภาพและจรรยาบรรณในวิชาชีพดนตรี สร้างสรรค์ดนตรีที่ร่วมสมัยสอดคล้องกับสภาพสังคม

คุณสมบัติของผู้เรียน
          ผู้เรียนต้องมีความรู้ความสามารถและมีทัศนคติที่ดีในการศึกษา ค้นคว้า และพัฒนาทักษะทางดนตรี มีความมุ่งมั่น มีความประณีต และมีรสนิยมทางดนตรี พร้อมที่จะแสดงความสามารถเฉพาะตน และแสดงความสามารถร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลังจบการศึกษา
          บัณฑิตสามารถเลือกประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับดนตรี สร้างสรรค์ดนตรี บริษัทห้างร้านที่ผลิตสื่อทางดนตรี สร้างงานดนตรีร่วมสมัย เป็นนักดนตรี รวมทั้งการช่วยฝึกฝนทางดนตรีให้กับผู้ที่สนใจทั่วไป


สาขาวิชานาฏศิลป์ (Dance Program)
          เปิดสอนหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์ เปิดสอน 2 วิชาเอกคือ นาฏศิลป์ไทยและนาฏศิลป์สากล มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่เป็นผู้นำทางด้านนาฏศิลป์อนุรักษ์อย่างคมชัด และสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามารถที่แตกต่างกัน แต่ความแตกต่างจะเชื่อมโยงและผลักดันซึ่งกันและกัน

คุณสมบัติของผู้เรียน
          ผู้เรียนต้องมีความรู้ความสามารถและทัศนคติที่ดีทางด้านนาฏศิลป์แต่ละด้าน มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวิชาชีพ มีความเป็นผู้นำ และมีจริยธรรมที่สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน

หลังจบการศึกษา
          บัณฑิตสามารถเลือกประกอบอาชีพทางด้านนาฏศิลป์ไทยหรือนาฏศิลป์สากล ตามความถนัดของตนในวงการธุรกิจบันเทิงภาคเอกชน หรือประยุกต์ความสามารถไปช่วยสร้างเสริมการประกอบวิชาชีพตามที่ต้องการ


สาขาวิชาศิลปศึกษา (Arts Education Program)
          อยู่ในช่วงปฏิรูปการศึกษาและปรับปรุงหลักสูตรใหม่เป็นหลักสูตร 5 ปี เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการผลิตครูที่มีคุณภาพสูงในทุกๆ ด้าน โดยรัฐบาลได้จัดทุนสนับสนุนตลอดหลักสูตร 5 ปี เป็นเงินทุน 400,000 บาทต่อคน สำหรับสาขาวิชาศิลปศึกษา ภายใต้นโยบายใหม่อาจเปลี่ยนชื่อเป็นสาขาวิชาศิลปกรรมศาสตร์ศึกษา จะรับนิสิตคนรวม 30 คน ประกอบด้วยทัศนศิลป์ นาฎศิลป์ (ไทย-สากล) และดุริยางคศิลป์ ในปีการศึกษา 2546 เป็นรุ่นแรก ทั้งนี้เกณฑ์การรับนิสิตเฉพาะสาขานี้ เปิดรับสมัครเพื่อการสอบตรง โดยผู้สมัครจะต้องมีคะแนนเฉลี่ยระดับมัธยมปลาย (GPA) ตั้งแต่ 2.75 หรือ 3.00 ขึ้นไป (ยังอยู่ในช่วงของการสรุปร่วมกัน)

คุณสมบัติของผู้เรียน
          ผู้เรียนต้องมีความรู้ความสามารถและทัศนคติที่ดีในระบบการศึกษา เป็นผู้นำทางสติปัญญาและความรู้ ความคิดทางด้านทัศนศิลป์ นาฏศิลป์ และดุริยางคศิลป์ เชื่อมั่นในความดีงาม และเชื่อมั่นว่าระบบการศึกษาคือหัวใจของการพัฒนาสังคม

หลังจบการศึกษา
          บัณฑิตสามารถประกอบอาชีพให้ตรงกับเป้าหมายในการศึกษาคือเป็นครูในระดับการศึกษาต่างๆ และครูโครงการโรงเรียนในฝัน รวมทั้งการเป็นผู้จัดระบบ กระตุ้น และถ่ายทอดทางด้านศิลปศึกษาและกิจกรรมต่างๆ ในหน่วยงาน องค์กร ชุมชน รวมทั้งการสร้างงานตามความถนัดของแต่ละบุคคล

สาขาวิชาศิลปะจินตทัศน์ (Imaging Art Program)
          เปิดสอนหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะจินตทัศน์ ที่ได้ผสานจิตรกรรม เซรามิกส์ ศิลปะภาพพิมพ์ เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งงานศิลปะ 2 มิติ และ 3 มิติ ขยายเชื่อมโยงไปสู่ภาพถ่าย วีดิทัศน์ คอมพิวเตอร์ และสื่ออื่นๆ การศึกษาอาจมุ่งเน้นสื่อหลักอย่างใดอย่างหนึ่งหรือผสมผสานสื่อต่างๆ มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตเพื่อนำเสนอศิลปะร่วมสมัยสำหรับสังคมปัจจุบันและอนาคต

คุณสมบัติของผู้เรียน
          ผู้เรียนต้องมีความรู้ความสามารถ ทัศนคติ และความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย สำหรับสังคมปัจจุบันและอนาคต เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ มีระบบคิดและพร้อมที่จะพัฒนาความคิดและจินตนาการให้ปรากฏเป็นรูปธรรม

หลังจบการศึกษา
          บัณฑิตสามารถเลือกการสร้างสรรค์งานศิลปะในสังคม หรือประยุกต์ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ไปสู่วิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามความถนัดและความสามารถของแต่ละบุคคล


สาขาวิชาศิลปะการแสดง (Performing Art Program)
          เปิดสอนหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการแสดง เปิดสอน 2 วิชาเอก คือ การแสดงและกำกับการแสดง การออกแบบเพื่อการแสดง การออกแบบเพื่อการแสดงเป็นงานเบื้องหลังการแสดงที่ศึกษาค้นคว้า และปฏิบัติในเรื่องเวที ฉาก-แสง-สี-เสียง การออกแบบเครื่องแต่งกายการแสดง การแต่งหน้าเพื่อการแสดง มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่เป็นผู้นำการสร้างสรรค์ทั้งการแสดง การกำกับการแสดง และการออกแบบเพื่อการแสดงตามความสามารถของแต่ละบุคคล

คุณสมบัติของผู้เรียน
          ผู้เข้าเรียนต้องมีความรู้ ความสามารถ และทัศนคติที่ดีทางด้านศิลปะการแสดงในแต่ละสาขาวิชา มีความคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นผู้นำ มีความพร้อมที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถและบุคลิกที่สอดคล้องกับวิชาชีพของตน ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลังจบการศึกษา
          หลังจบการศึกษา บัณฑิตสามารถประกอบอาชีพตามความถนัดในแต่ละสาขาวิชาที่ศึกษา ทั้งในวงการแสดง วงการบันเทิง สื่อโทรทัศน์ และสื่ออื่นๆ ในระบบธุรกิจที่ก้าวหน้าทันสมัย ตามความต้องการและศักยภาพของบัณฑิตแต่ละบุคคล

สาขาวิชาการออกแบบตกแต่งภายใน

มีจุดมุ่งหมายที่จะผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ทางศิลปะและการออกแบบตกแต่งภายใน โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาศักยภาพทางความคิด การสร้างสรรค์ การนำเสนอผลงานการออกแบบที่ก้าวหน้า และสามารถทำการออกแบบโดยการประยุกต์ใช้ศิลปะและพื้นฐานความต้องการของมนุษย์ เข้ากับเทคโนโลยีและวิทยาการร่วมสมัย ให้สามารถปฏิบัติเป็นรูปธรรมได้ด้วยเหตุนี้สาขาวิชาการออกแบบตกแต่งภายในจึงได้จัดกระบวนการการเรียนการสอนที่ให้ความรู้ทั้งทางด้านพื้นฐานและทฤษฎีทางศิลปะและการออกแบบผสมผสานกับเทคโนโลยีและวิทยาการที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการสร้างทักษะและพัฒนาการความสามารถในเชิงเทคนิคการออกแบบ การวางแผนงาน การจัดการการออกแบบและการจัดการการก่อสร้างตกแต่งภายใน เปิดโอกาสให้นักศึกษาเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้วยการเรียนการสอนและการฝึกปฏิบัติงานในลักษณะส่วนบุคคล และการทำงานเป็นกลุ่ม การอบรมเชิงปฏิบัติการ รวมไปถึงการร่วมกิจกรรมทางวิชาการและทางวิชาชีพกับองค์กรและสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

โอกาสในการประกอบอาชีพ

         บัณฑิตของสาขาวิชาการออกแบบตกแต่งภายในจะเป็นผู้ มีความพร้อมในทฤษฎีและวิธีการออกแบบที่กว้างขวางผ่านกระบวนการการเรียนการสอนที่หลากหลาย บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาสามารถทำงานทั้งในสาขาวิชาชีพหลัก เช่น นักออกแบบตกแต่งภายใน (Interior Designer) รวมถึงการมีความสามารถในการจัดการระบบงานออกแบบ (Interior Design Management) การบริหารจัดการงาน ก่อสร้างตกแต่งภายใน (Interior Construction Management) และในสาขาวิชาชีพรอง ได้แก่ นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ นักออกแบบหรือที่ปรึกษางานเฉพาะทาง นักออกแบบนิทรรศการ นักวิชาการ นักวิจัย เป็นต้น ซึ่งการประกอบวิชาชีพในสาขางานต่าง ๆ เหล่านี้สามารถทำได้ทั้งการประกอบวิชาชีพอิสระ ทำงานในองค์กรหรือสถาบัน ทั้งหน่วยงานราชการและเอกชนได้เป็นอย่างดี

คณะประมงกลับสู่หน้าแรก


 

สร้างโดย: 
นางสาวมานิดา จิระเสถียรพงศ์

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 592 คน กำลังออนไลน์