มารู้จัก...ไอยคุปต์ ! กัน (IYAKOOP)

รูปภาพของ sss28268

ไอยคุปต์ 

ไอยคุปต์ เป็นคำศัพท์ที่คนไทยใช้เรียก อียิปต์สมัยโบราณ มีความหมายรวมถึง ชนชาติ ภาษา และวัฒนธรรม กล่าวโดยย่อคือ ใช้ทั้งในฐานะของคำนามและคุณศัพท์ ส่วนอียิปต์หลังยุคฟาโรห์ นิยมใช้คำว่า "อียิปต์" ตามปกติ

ที่มาของคำว่า "ไอยคุปต์" น่าจะมาจากการทับศัพท์คำภาษากรีก ว่า ไอกึปตอส (Aigyptos) ซึ่งเป็นชื่อที่คล้ายคลึงกับเทพเจ้าในตำนานปรัมปราของกรีก สององค์ด้วยกัน นั่นคือ "ไอกือปิออส" (Aigypios) และ "ไอกึปตอส" (Aigyptos) แต่ที่มีความสำคัญเกี่ยวโยงกับอียิปต์ก็คือ ไอกึปตอส

ตามตำนานของกรีก กล่าวว่า ไอกีปตอส เป็นผู้ตั้งชื่อแผ่นดินอียิปต์ ว่า ไอกึปตอส เทพองค์นี้เป็นโอรสของเบลอส และอันฆินอย ฝ่ายบิดานั้นสืบตระกูลจากโปเซย์ดอน ส่วนฝ่ายมารดาสืบตระกูลจากเนย์ลอส เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำไนล์ ไอกึปตอสได้ครอบครองดินแดนอาระเบีย ซึ่งเรียกว่า เมลัมโปเดส (Melampodes = เท้าสีดำ) ครั้นภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นไอกึปตอส

 นอกจากแนวทางการวิเคราะห์ดังกล่าว ยังมีผู้วิเคราะห์ศัพท์ ไอกึปตอส ว่ามาจากศัพท์สองคำ คือ ไอกฺษ, ไอกอส (aix, aigos) เป็นคำนาม หมายถึง แพะ กับคำว่า ปตอส (ptoss) เป็นกริยา หมายถึง นอบน้อม หรือหวั่นกลัว แต่รวมความหมายแล้ว ไม่ชัดเจนนักว่าจะแปลอย่างไร

ในมหากาพย์โอดิสซี ของโฮเมอร์ เล่มที่ 18 มีกล่าวถึงแม่น้ำไอกึปตอส เมื่อโอดิสเซอุส เดินทางไปถึงแผ่นดินอียิปต์ แม่น้ำดังกล่าวก็คือ แม่น้ำไนล์นั่นเอง

ในภาษากรีกยังมีการใช้คำว่า ไอกึปตอส หมายถึงคนอียิปต์ และแผ่นดินอียิปต์ด้วย ส่วนวิชาอียิปต์วิทยา (หรือ ไอยคุปต์วิทยา) มีในภาษากรีกมานานแล้ว โดยใช้คำว่า ไอกึปติออลอเกีย (Αιγυπτιολογία = Aigyptiologia) ภาษาละตินใช้ว่า ไอกึปโตโลเกีย ( Ægyptologia) และในภาษาอังกฤษถอดโดยตรง ว่า Egyptology

ในภาษาละตินยังมีคำศัพท์เรียกอียิปต์ว่า ไอกึปตุส, ไอกึปตี (Ægypt-us, Ægypt-i) ซึ่งนอกจากหมายถึงแผ่นดินอียิปต์แล้ว ยังหมายถึงกษัตริย์อียิปต์ในตำนานพระองค์หนึ่ง นอกจากนี้ยังมีคำศัพท์เชื่อมโยง กล่าวถึงภาษาอียิปต์ไว้ว่า "ลิงกัว ไอกึปติอาคา" (Lingua Ægyptiaca)

นักภาษาโบราณเสนอว่าคำว่า "ไอกึปตอส" น่าจะได้เค้ามาจากภาษาอียิปต์โบราณ จากคำว่า ฮิ-คุป-ตาฮ (Hi-kup-tah) หรือ ฮา-คา-ปตาฮ (Ha-ka-ptah) ซึ่งถอดจากอักษรภาพ มีความหมายว่า เทพเจ้า คา แห่งปตาฮ์ อันเป็นอีกชื่อหนึ่งของเมืองเมมฟิส คำดังกล่าวมีปรากฏในศิลาจารึกโรเซ็ตตาสโตน (Rosetta Stone) ที่พบ ณ เมืองโรเซ็ตตาด้วย

ไอยคุปต์ในภาษาไทย
          ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการใช้คำ "ไอยคุปต์" ในภาษาไทยมาช้านานเพียงใด แต่ที่มีการกล่าวถึงชัดเจน คือพจนานุกรมไทย ของ มานิต มานิตเจริญ อธิบายไว้ว่า "ไอยคุปต์ หมายถึง อียิปต์"

          อย่างไรก็ตาม ที่ชัดเจนที่สุด น่าจะเป็นข้อทักท้วงและเสนอแนะของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่แสดงพระราชนิยมเกี่ยวกับการใช้คำศัพท์เรียกชื่อทางภูมิศาสตร์ เมื่อราว พ.ศ. 2465 ดังนี้

         "นามประเทศ อิยิปต์ รักให้เรียก ไอยคุปต์ ตามแบบหนังสือสันสกฤต"

          ข้อความดังกล่าว แสดงว่าทรงนิยมให้ใช้ "ไอยคุปต์" แต่ประเด็นที่ว่าตามแบบหนังสือสันสกฤตนั้น ไม่ชัดเจน ว่าหมายถึงอย่างไร เนื่องจากในพจนานุกรมภาษาสันสกฤต เท่าที่ปรากฏในปัจจุบัน ระบุชื่อ อียิปต์ว่า "มิสรเทศ" (สอดคล้องกับคำที่ภาษาอื่นๆ ในตระกูลภาษาอาหรับใช้เรียกชื่อประเทศอียิปต์) อย่างไรก็ตาม ก็อาจมองได้ว่า "ตามแบบหนังสือสันสกฤต" ในที่นี้หมายถึง "รูปลักษณ์ของคำ" นั่นคือ "หนังสือ" ในประโยค ก็คือ "ตัวหนังสือไทยที่เขียนแล้วดูเหมือนคำสันสกฤต" เป็นไปได้ว่า พระองค์ ทรงเห็นว่า การเขียน "ไอยคุปต์" จะทำให้มีรูปลักษณ์ที่คล้ายๆ กับคำสันสกฤต

สร้างโดย: 
ด.ญ จิตตา สรรพวัฒน์ ม.3/8 โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 444 คน กำลังออนไลน์