รฟม แอชตัน เวนคืนแล้วให้เอกชนใช้ โลกมองอย่างไร

รูปภาพของ pornchokchai
รฟม แอชตัน เวนคืนแล้วให้เอกชนใช้ โลกมองอย่างไร
  AREA แถลง ฉบับที่ 710/2566: วันพุธที่ 30 สิงหาคม 2566

 

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

            เรื่องอาคารชุดแอชตัน อโศก ทำให้หลายคนมองว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้น ทรัพย์ที่ได้มาจะเอาไปใช้อะไรได้บ้าง เอาไปให้เอกชนใช้ไม่ได้เลยใช่ไหม เป็นการเสียผลประโยชน์แก่ชาติและเอื้อประโยชน์เอกชนจริงหรือ มาดูว่าในสากลโลกนอกจากประเทศไทยของเรา เขามองการเวนคืนอย่างไร

            กรณีแอชตัน อโศก มีบทสรุปคร่าวๆ ว่า “. . .ที่ศาลวินิจฉัย คือ ที่ดินทางเข้า-ออกอาคารแอชตัน อโศก ซึ่งเป็นที่ดินของ รฟม. มาจากการเวนคืน จึงไม่อาจนำมาให้เอกชนใช้ในการประกอบการได้ เมื่อไม่สามารถนำที่ดินทางเข้า-ออกมาใช้ได้ ดังนั้นการที่หน่วยงานของรัฐ (กทม.) ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร จึงขัดกับ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่อาคารสูงต้องมีทางออกด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า  12 เมตร. . .” (https://rb.gy/cqyyx)

            ยิ่งกว่านั้นในรัฐธรรมนูญไทยปี 2560 มาตรา 37 ยังมีเขียนไว้ว่า “. . .การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การป้องกันประเทศ หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น และต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายจากการเวนคืนโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ผลกระทบต่อผู้ถูกเวนคืน รวมทั้งประโยชน์ที่ผู้ถูกเวนคืนอาจได้รับจากการเวนคืนนั้น. . .กฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนและกำหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ให้ชัดแจ้ง ถ้ามิได้ใช้ประโยชน์เพื่อการนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือมีอสังหาริมทรัพย์เหลือจากการใช้ประโยชน์และเจ้าของเดิมหรือทายาทประสงค์จะได้คืน ให้คืนแก่เจ้าของเดิมหรือทายาท” (https://rebrand.ly/fsktemt)

            อันที่จริงรัฐธรรมนูญไทยที่ระบุเช่นนี้คงเป็นเพราะที่ผ่านมาการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นงานที่ “ต่ำ-ช้า” นี่เป็นคำพูดของข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการเวนคืนโดยตรง ท่าน “แซว” ตนเองว่า งานที่ทำเป็นเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมาราชการมักจะเวนคืนทรัพย์สินของประชาชนในราคาที่ต่ำๆ และมักจะจ่ายค่าทดแทนช้ามาก จึงทำให้สังคมเกิดความเกรงกลัวและชิงชังกับการเวนคืนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งที่การเวนคืนเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะไม่มีใครรู้ล่วงหน้าตั้งแต่แรก และสถานการณ์แปรเปลี่ยนไปจึงต้องเวนคืน ลองมานึกดูว่าถ้าเวนคืนไม่ได้เลย ทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ที่ผ่ากลางเมืองหรือทางด่วนและรถไฟฟ้าอื่นๆ ก็คงไม่ได้เกิด การเวนคืนเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

            ผมเองก็ศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนพัฒนาเมืองจนถึงระดับปริญญาเอก ประกอบอาชีพด้านการประเมินซึ่งรวมทั้งการประเมินเพื่อการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มากมายหลายโครงการ นอกจากนั้นยังมีโอกาสพาพาคณะข้าราชการไปดูงานด้านการเวนคืนในหลายประเทศ ทั้งในแคนาดา สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ญี่ปุ่น รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาในโครงการศึกษาเพื่อการเวนคืนของธนาคารโลกในกรุงจาการ์ตา และเสนอแนะการเวนคืนเพื่อประโยชน์สาธารณะแก่ทางราชการเช่นในเวียดนามและกัมพูชาในฐานะทำงานที่ปรึกษาให้กับกระทรวงการคลัง ผมจึงขอนำการเวนคืนในวิสัยทัศน์ใหม่มาให้พิจารณา

            ที่ว่าการเวนคืนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ส่วนบุคคลไม่ได้เลยนั้น คงเป็นการตีความแบบตีขลุม อย่างในประเทศมาเลเซีย การเวนคืนที่สวนยาง หรือพื้นที่เกษตรกรรมในชนบทเพื่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเป็นสิ่งธรรมดาที่เกิดขึ้น นี่ก็เพื่อประโยชน์สาธารณะเช่นกัน แต่ประโยชน์นี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อให้ภาคเอกชนมาลงทุน ในประเทศไทยของเราพระราชบัญญัติของการเคหะแห่งชาติ หรือการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในฉบับแรกก็ยังระบุให้มีการเวนคืนเพื่อนำที่ดินมาใช้เพื่อการอุตสาหกรรมหรือที่อยู่อาศัย

            ยิ่งกว่าในการจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่หรือ “การจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ คือ การนำเเปลงที่ดินหลายๆ เเปลงมารวมกัน จัดรูปเเปลงที่ดินใหม่ให้เป็นระเบียบเเละสวยงาม พร้อมทั้งจัดระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการเเละบริการสาธารณะต่างๆ ที่ได้มาตรฐานอย่างครบถ้วนเเละเพียงพอ” (https://tinyurl.com/4rrrnm8e) ก็กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระบุว่า “มาตรา 57 ในกรณีมีความจําเป็นเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รัฐอาจเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาเพื่อใช้ในโครงการจัดรูปที่ดินรายใดก็ได้โดยให้นํากฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม” (https://tinyurl.com/y2karrpj)

            การจัดรูปที่ดินก็เพื่อประโยชน์ของเอกชนกลุ่มหนึ่ง แต่เมื่อหาทางออกถนนไม่ได้ หรือที่ดินบางส่วนที่อยู่ในตำแหน่งที่ต้องขอความร่วมมือมาเข้าโครงการจัดรูปที่ดินด้วย แต่ไม่ยอมมา ก็ต้องอาศัยอำนาจการเวนคืนนั่นเอง ทั้งนี้ผมเองก็ได้เป็นที่ปรึกษาให้ JICA เพื่อการจัดรูปที่ดินในหลายต่อหลายโครงการให้กับกรมโยธาธิการและผังเมือง  ที่ผ่านมาในกรุงโตเกียว หรือนครโอซากาหรืออื่นๆ โครงการขนาดใหญ่ในนครเหล่านี้ก็เกิดขึ้นได้ด้วยการจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่ซึ่งประเทศไทยได้เรียนรู้มาจากญี่ปุ่นส่วนหนึ่ง (แต่เรียนไม่ครบ!)

            ผมเคยเสนอให้การเวนคืนทำถนน นอกจากทำถนนเช่นกว้าง 40-100 เมตร แล้ว ยังเวนคืน 2 ข้างทางอีก 40-100 เมตรตามขนาดถนน เพื่อนำที่ดินนี้มาพัฒนา เพราะเมื่อตัดถนนราคาที่ดินก็จะเพิ่มขึ้นมหาศาล จนทำให้ได้ตัดถนนโดยไม่เสียงบประมาณแผ่นดินด้วยซ้ำไป เช่น ถนนในชนบท ค่าที่ดินเป็น 100 ล้าน หากเวนคืนเพิ่มเติมอีก 2 ข้าง ก็เป็นเงิน 300 ล้าน ค่าก่อสร้างมักเป็น 3 เท่าของค่าที่ดินคือ 300 ล้าน รวมต้นทุนค่าเวนคืนคือ 600 ล้าน  แต่เมื่อก่อสร้างถนนเสร็จ ที่ดิน 2 ข้างทางก็เพิ่มขึ้น 3 เท่า คือข้างละ 300 ล้าน รวม 600 ล้าน ก็เท่ากับได้ถนนโดยไม่เสียงบประมาณแผ่นดินเลย ที่ 2 ข้างทางนั้น ส่วนหนึ่งก็อาจทำเป็นพื้นที่สีเขียว อีกส่วนหนึ่งก็อนุญาตให้เอกชนเชื่อมทาง ส่วนหนึ่งก็ปล่อยเช่าหรือขายให้เอกชนไปพัฒนา นำรายได้มาชดเชยการก่อสร้างถนน

            ที่ผ่านผมก็เคยคำนวณให้กับการประปานครหลวงในการคิดค่าธรรมเนียมการขอเชื่อมทางโดยภาคเอกชน ยิ่งกว่านั้นส่วนราชการต่างๆ ก็มีระเบียบให้เชื่อมทางแบบกรณีแอชตัน อโศก ได้ เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมเจ้าท่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย อย่างกรณีหมู่บ้านต่างๆ ตามถนนกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ (ทล.7) ก็มีนักพัฒนาที่ดินหมู่บ้านจัดสรรขอเช่าที่จากการถไฟแห่งประเทศไทย 30 ปี เพื่อใช้เป็นทางออก (หลังหมดสัญญาก็ค่อยต่อกันใหม่)

            ผมเคยเป็นสมาชิก International Association of Assessing Officers (เกี่ยวกับการประเมินเพื่อประโยชน์สาธารณะ) และ International Right of Way Association (เกี่ยวกับการเวนคืน) ก็พบเห็นกรณีศึกษาการเวนคืนเพื่อ “ประโยชน์สาธารณะ” มากมาย แต่เขาไม่ได้ตีความแคบแค่เอาไปทำถนน ทำนิคมอุตสาหกรรมให้ภาคเอกชนเพื่อพัฒนาประเทศก็ได้ หรือให้เชื่อมทางก็ได้ อะไรก็ตามที่ประชาชนได้ประโยชน์และคุ้มค่าก็ควรทำได้

            ในกรณีแอชตัน อโศก ซึ่งมีที่ดินใจกลางเมือง 2 ไร่ 3 งาน 47.60 ตารางวา (เกือบ 3 ไร่) และสามารถสร้างห้องชุดได้ถึง 783 หน่วย มีที่จอดรถ 371 คัน นับว่าสามารถให้ประชาชนได้เข้าอยู่ราว 2,000 คน โดยไม่ “หนักหัว” ใครเลย ไม่ได้ทำให้การจราจรติดขัดเพิ่มขึ้นเพราะอยู่ในแนวรถไฟฟ้า การเปิดทางให้เข้าออกเพื่อสร้างความหนาแน่น (High Density) ให้กับเมือง (ไม่ใช้ความแออัด-Overcrowdedness) จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการพัฒนาเมือง เมืองจะได้ไม่ขยายตัวออกไปกินพื้นที่เกษตรกรรมรอบนอกเมืองอย่างไร้ทิศผิดทาง

            ประเทศไทยคนมีแนวคิดการเวนคืนในมิติใหม่ และกฎหมายต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ควรมีวันหมดอายุได้แล้วเพื่อการพัฒนาประเทศที่ต้องทันการณ์


 

 
 
 
 
 
 


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 453 คน กำลังออนไลน์