ย้ายเมืองหลวง. . .ง่ายจริงหรือ?

รูปภาพของ pornchokchai
ย้ายเมืองหลวง. . .ง่ายจริงหรือ?
  AREA แถลง ฉบับที่ 305/2566: วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2566

 

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

 

            หลายคนกังวลเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ เพราะ “โลกร้อน” เลยคิดจะย้ายเมืองหลวง ทำได้จริงหรือ อันที่จริงทำได้ และเคยทำกันมาแล้ว แต่จะทำจริงหรือ และควรทำหรือไม่ โดยเฉพาะสำหรับกรุงเทพมหานคร

            การย้ายเมืองหลวงในอดีต ทำกันมามากมาย เช่น ในจีน ก็ทำมาแล้ว เราคงเคยได้ยินเมืองหลวงเก่าๆ ของจีน เช่น ไคฟง ลั่วหยาง นางกิง ซีอาน หรือเฉิงตู เป็นต้น ในญี่ปุ่นก็มีนครหลวงเก่าอย่างนารา และเกียวโต สาเหตุสำคัญของการย้ายเมืองหลวงได้สำเร็จก็เป็นเหตุผลทางการเมืองนั่นเอง แม้แต่ไทยก็ย้ายจากกรุงสุโขทัย มาอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงเทพมหานคร แล้วทำไมจะย้ายอีกไม่ได้

            อีกเหตุผลหนึ่งที่ย้ายเมืองหลวงทั้งเมืองได้ก็เพราะการย้ายประชากร อย่างเช่นในสมัยสามก๊ก เมืองหลวงก็ได้แก่เมืองลกเอี๋ยง ต่อมาตั๋งโต๊ะสั่งย้ายไปเมืองเตียงอัน และโจโฉสั่งย้ายไปเมืองฮูโต๋ การย้ายแต่ละครั้งก็มักกวาดต้อนประชาชนและเอาสมบัติต่างๆ จากเมืองเก่าไปด้วย  แม้แต่กรุงเวียงจันทน์ของลาว หรือนครธมของกัมพูชา ก็ถูกไทยบุกยึดมาแล้ว พม่าก็ยึดกรุงศรีอยุธยาพร้อมกวาดต้อนผู้คนไป

            สำหรับกรุงเวียงจันทน์ก็เคยถูกเผาร้างมาเช่นกัน ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี และในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีกรณีกบฏอนุวงศ์ ในแต่ละครั้งกรุงเวียงจันทน์ก็ร้างไป มีการอพยพผู้คนชาวลาวมาอยู่ในเขตไทย เช่น สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม และทางตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือใกล้กับกัมพูชา เพื่อว่าคนเหล่านี้จะได้ไม่มีโอกาสกลับไปยังกรุงเวียงจันทน์อีก ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงได้จะต้องย้ายประชากรไปด้วย  แต่ในยุคสมัยใหม่คงเป็นไปได้ยากที่จะย้ายประชากรออกนอกเมืองไป

            ในประเทศต่างๆ ก็มีการแยกเมืองหลวงที่เป็นเมืองบริหารออกจากเมืองหลวงทางเศรษฐกิจ เช่น

            - แคนาดา: ออตโตวา กับ โตรอนโต

            - ไนจีเรีย: อาบูจา กับ ลากอส

            - บราซิล: บราซิเลีย กับ เซาเปาโล

            - ปากีสถาน: อิสลามาบัด กับการาจี

            - ฟิลิปปินส์: เกซอนซิตี้ กับ มะนิลา

            - มาเลเซีย: ปุตราจายา กับ กัวลาลัมเปอร์

            - เมียนมา: เนปยีดอ กับ ย่างกุ้ง

            - สหรัฐอเมริกา: วอชิงตันดีซี กับ นิวยอร์ก

            - ออสเตรเลีย: แคนเบอร์รา กับ ซิดนีย์ เป็นต้น

            อาจกล่าวได้ว่าเมืองหลวงราชการย้ายได้ แต่เมืองหลวงทางเศรษฐกิจคงย้ายไม่ได้ ยิ่งในกรณีการย้ายกรุงเทพมหานคร มีความเป็นไปไม่ได้อยู่ 2 ประการก็คือ

            1. ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีข้าราชการส่วนกลางอยู่ราว ๆ 1.2 ล้านคน การย้ายเมืองหลวงที่ต้องย้ายข้าราชการเหล่านี้ไป คงเป็นเรื่องยาก เพราะหากคูณด้วย 5 (รวมลูกเมียและผู้ที่ไปให้บริการค้าขายด้วย) ก็จะเป็นเมืองขนาด 6 ล้านคน การสร้างเมืองขนาดนี้จึงยากที่จะเป็นไปได้  ในกรณีเมืองนูซันตาราซึ่งเป็นนครหลวงใหม่ของอินโดนีเซียนั้น จะมีการย้ายข้าราชการส่วนกลางไปเพียง 4 แสนคน  ทั้งนี้คงเป็นเพราะข้าราชการส่วนใหญ่เป็นส่วนท้องถิ่น แต่ของไทยหนึ่งในสามของข้าราชการอยู่ในส่วนกลาง จึงย้ายได้ยากมาก

            2. กรุงเทพมหานครเป็นเมืองโตเดี่ยว (Primate City) ไม่มีเมืองอื่นที่จะมาทดแทนได้ ชัยภูมิก็อยู่กึ่งกลาง  บรรดาเมืองในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคใต้ ก็ไม่อาจเป็นศูนย์กลางของประเทศไทย ทั้งนี้ต่างจากประเทศอื่นที่มีเมืองขนาดใหญ่หลายเมือง เช่น อินโดนีเซีย มีเมืองที่มีประชากรเกินล้านถึง 14 เมือง ฟิลิปปินส์ก็มีเมืองขนาดใหญ่หลายแห่ง

            ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีผู้แย้งได้ว่า กรุงเทพมหานครต้องย้ายแน่ๆ อสังหาริมทรัพย์คงพังพินาศหมด เพราะระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยจะเพิ่มขึ้นจนกรุงเทพมหานครอยู่ไม่ได้อีกต่อไป มีผลการศึกษาบอกว่าหากน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ละลาย รวมทั้งเหล่าธารน้ำแข็งทั่วโลกละลายหมด จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นถึง 70 เมตร (https://on.doi.gov/41VtCTx) อย่างไรก็ตามการคาดการณ์ (ส่งเดช) แบบพูดความจริงบางส่วน ให้ผู้คนตกใจแบบนี้ ก็มีผู้คัดค้านมากมายเช่นกัน เพราะมีผลการศึกษาระบุชัดว่า

            1. ภายในปี 2593 องค์การนาซาคาดการณ์ว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น 12 นิ้ว หรือ 0.3 เมตรเท่านั้น (https://go.nasa.gov/3Ji8W0C)

            2. ภายในปี 2643 น้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.3-1.6 เมตรจากปัจจุบัน (https://bit.ly/3F64i3b)

            3. ภายในปี 3543 (เกือบพันปีข้างหน้า) ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น 4 เมตร (https://bit.ly/2pFEjs3)

            ประเทศสิงคโปร์คาดการณ์ว่าน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.32-1.01 เมตรเท่านั้น ณ ปี 2643 (https://bit.ly/3JmJVkI) แสดงว่าในอ่าวไทย และประเทศไทย น้ำทะเลก็คงเพิ่มขึ้นในระดับที่ใกล้เคียงกัน จึงไม่ต้องห่วงใยหรือ “บ้าจี้” ตามพวก “โลกร้อน” จน “ขี้ขึ้นสมอง” นัก

            ในขณะนี้มีเมืองริมทะเลที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และยังอยู่ได้ เพราะการสร้างเขื่อนกันไว้ ซึ่งไทยก็อาจเลียนแบบได้เช่นกัน เมืองเหล่านี้ ได้แก่:

            - Lammefjord เดนมาร์ก อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 7 เมตร

            - Zuidplaspolder เนเธอร์แลนด์ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 7 เมตร

            - Haarlemmermeer เนเธอร์แลนด์ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 5 เมตร

            - Amsterdam เนเธอร์แลนด์ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 2 เมตร เป็นต้น

            การย้ายเมืองหลวง (ราชการ) หลายแห่งก็ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ปุตราจายาของมาเลเซีย ก็มีประชากรไปอยู่น้อยมาก ประมาณ 1 แสน ในขณะที่กรุงกัวลาลัมเปอร์อยู่กันล้านกว่าคน กรุงเนปยีดอก็แทบร้าง ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซียน่าจะล้มเหลว และต้องเสียเงินมหาศาลในการสร้าง สู้นำเงินไปพัฒนาประเทศในทางอื่นจะดีกว่า ยิ่งกว่านั้นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปติดต่อเมืองหลวงใหม่จากทั่วประเทศก็จะเพิ่มขึ้นอีก นับเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจ

            อย่างไรก็ตามการย้ายเมืองหลวงที่ประสบความสำเร็จ พึงดำเนินการดังนี้:

            1. ต้องเป็น Smart City มีการวางผังเมืองทุกกระเบียดนิ้ว และเป็นเมืองในแนวตั้ง เช่น สิงคโปร์ มีประชากรประมาณ 8,000 คนต่อตารางกิโลเมตร เช่น ถ้าเราจะสร้างเมืองใหม่ขนาด 6 ล้านคน ก็ไม่ควรใช้พื้นที่เกิน 750 ตารางกิโลเมตร เป็นต้น แต่การสร้างเมืองหลวงใหม่มักสร้างสถานที่ราชการแบบสุดอลังการ ทำให้ความเป็นไปได้มีจำกัด

            2. ต้องเป็นเมืองปิด เพื่อไม่ให้เติบโตแบบไร้ทิศผิดทาง (Urban Sprawl) โดยมี “กำแพงเมืองจีน” ในลักษณะที่เป็นพื้นที่กันชนสีเขียว (Green Belt) ซึ่งต้องเวนคืนที่โดยรอบไว้ ห้ามการก่อสร้างใดๆ

            3. ต้องมีทางเชื่อมเข้าเมืองหลวงใหม่ผ่านรถไฟ ทางด่วนยกระดับจากเมืองท่าริมทะเลหรือสนามบินนานาชาติของเมือง โดยไม่ให้เกิดการเชื่อมทางเพื่อป้องกันการเติบโตแบบไร้ทิศผิดทางนั่นเอง

            สำหรับเมืองหลวงปัจจุบันอย่างกรุงเทพมหานครและกรุงจาการ์ตา ก็ยังต้องพัฒนาต่อไป โดยนอกจากจะมีกำแพงกันน้ำทะเลอย่างในยุโรปแล้ว ยังต้องมีการสร้างรถไฟฟ้าในเขตเมืองกันอย่างขนานใหญ่ ห้ามการสร้างตามชานเมือง เน้นการสร้างแนวสูง จัดผังเมืองใหม่ (Rezoning) แบบในประเทศจีนหลายเมืองที่พอชาวบ้านจากบ้านไปสักปีครึ่งปีก็จำทางเข้าบ้านแทบไม่ได้แล้ว เพราะการจัดผังเมืองใหม่ รวมทั้งการนำพื้นที่การพัฒนาแนวราบ เช่น ชุมชนแออัดมาพัฒนาใหม่ ให้คนได้อยู่ร่วมกันในเมือง แทนการออกนอกเมืองอย่างสะเปะสะปะ

            จะย้ายเมืองหลวงใหม่หรือไม่ก็ตาม เมืองก็ต้อง “ยกเครื่อง” ตลอดเวลา จะปล่อยไปตามยถากรรมไม่ได้

 

 

 
 
 
 
 
 


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 508 คน กำลังออนไลน์