พิสูจน์ชัด โรงไฟฟ้าถ่านหินไร้มลพิษ

รูปภาพของ pornchokchai
AREA แถลง ฉบับที่ 34/2564: วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม 2564

 

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
 sopon@area.co.th 

 

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะกรรมการในคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไร้มลพิษ เป็นพลังงานราคาถูกและยั่งยืน ควรสร้างเพื่อประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

                                                                                         

13    มกราคม    2563

เรื่อง      ขอเสนอความเห็นต่อการศึกษาของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

เรียน     ประธานคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์
           สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้

                     ตามที่คณะกรรรมการฯ ได้ว่าจ้างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ทำการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้  กระผมในฐานะกรรมการคนหนึ่งได้ไปสังเกตการณ์การจัดประชุมของทางสถาบันฯ เป็นระยะๆ มีความเห็นว่าการศึกษานี้ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้เลย เช่น การจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 3 รอบ ไม่สามารถได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ต่างฝ่ายต่างก็ตั้งอยู่บนจุดยืนเดิม ที่สำคัญ การศึกษานี้ไม่ได้พิสูจน์ให้คำตอบที่ชัดเจน เช่น ฝ่ายค้านก็ยังอ้างอยู่ตลอดเวลาว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมีมลพิษ ทั้งที่เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินในอดีตและเป็นแค่คำกล่าวหาของฝ่ายต่อต้าน ไม่ใช่เทคโนโลยีถ่านหินในปัจจุบัน  กระผมจึงได้ทำการศึกษาจากข้อมูลที่เป็น Hard Facts มานำเสนอเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของคณะกรรมการ ดังนี้:
 

เกี่ยวกับการเจ็บป่วย
            มักมีคำอ้างที่ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินก่อมลพิษและทำให้สุขภาพของประชาชนเสียหาย กระผมจึงไปศึกษากรณีจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมหนักและโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อพิจารณาถึงมลพิษ โดยดูจากสถิติการเจ็บป่วยต่างๆ โดยตรวจสอบข้อมูลการเสียชีวิตจากโรคที่อาจเกี่ยวข้องกับมลพิษข้อมูล ซึ่งเป็นจากกระทรวงสาธารณสุขในท้องที่จังหวัดระยอง เทียบกับทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร ซึ่งพบว่าอัตราการเสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คนนั้น มีน้อยมากในจังหวัดระยอง โดยพิจารณาจากตารางต่อไปนี้

 

 

            1. ในกรณี โลหิตเป็นพิษ (A40-A41) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 38.6 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศสูงถึง 135.2 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 47.6 คน แสดงว่าชาวระยองมีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าอย่างชัดเจน

            2. ในกรณี เนื้องอก (C00-D48) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 99.3 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 123.3 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิตสูงถึง 185.6 คน แสดงว่าระยองคงไม่มีมลพิษที่ทำให้คนเสียชีวิตเท่าในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ

            3. ในกรณี โรคเลือดและอวัยวะสร้างเลือด และความผิดปกติเกี่ยวกับกลไกของภูมิคุ้มกัน (D50-D89) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 1.1 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 1.7 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 1.9 คน แสดงว่าระยองก็คงไม่มีมลพิษที่ทำให้คนเสียชีวิตเท่าในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ

            4. ในกรณี โรคทางจิตเวชและความผิดปกติของพฤติกรรม (F01-F99) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 1.3 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศสูงมากถึง 2.3 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 0.8 คน แสดงว่าชาวระยอง แม้มีความตายจากโรคจิตเวช แต่ก็ยังเพียง 57% ของทั่วประเทศ

            5. ในกรณี ความดันโลหิตสูง (I10-I15) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 7.0 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 13.1 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 5.9 คน แสดงว่าชาวระยอง แม้มีความตายจากโรคความดันโลหิตสูง แต่ก็ยังเพียง 53% ของทั่วประเทศ

            6. ในกรณี โรคของทางเดินระบบหายใจ (J00-J98) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 62.7 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 63.8 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 76.0 คน แสดงว่าปัญหาระบบทางเดินหายในในระยองก็พอๆ กับทั่วประเทศ แต่ก็ยังน้อยกว่าในกรุงเทพมหานคร

            7. ในกรณี โรคของระบบกล้ามเนื้อกระดูกและเนื้อเยื่อประสาน (M00-M99) ชาวระยองมีอัตราการเสียชีวิต 2.7 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 4.9 คน และในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิต 3.4 คน แสดงว่าระยองก็คงไม่มีมลพิษที่ทำให้คนเสียชีวิตเท่าในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ

 

            เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของผู้ป่วยในโรคสำคัญต่างๆ ที่อาจเชื่อมโยงกับมลพิษในจังหวัดระยองแยกตามอำเภอ จะเห็นได้ว่าในเขตอำเภอเมือง ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนัก นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ นั้น แม้มีผู้ป่วยโรคติดเชื้อและเนื้องอกในอัตราที่มากกว่าอำเภออื่น แต่สำหรับโรคอื่นๆ คือ โรคเลือด ภาวะแปรปรวนทางจิต โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหายใจ และโรคระบบกล้ามเนื้อ กลับน้อยกว่าอำเภออื่นที่ตั้งอยู่ในเขตชนบทห่างไกลจากนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าถ่านหิน  ดังนั้นจึงไม่อาจสรุปได้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นสาเหตุของการป่วยต่างๆ  การมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่น่าจะก่อมลพิษอย่างมีนัยสำคัญ ประเทศไทยจึงควรวางใจที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินในภูมิภาคที่จำเป็นต่อไป

 

ที่อยู่อาศัยในพื้นที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องสวนกระแส
            ตามที่มีบางพวกกล่าวว่าระยอง-มาบตาพุดมีมลพิษทั้งจากโรงงานขนาดใหญ่และโรงไฟฟ้าถ่านหิน  ประจักษ์หลักฐานอย่างหนึ่งที่พึงพิจารณาก็คือจำนวนบ้านจัดสรร-อาคารชุดที่เกิดขึ้นมหาศาลในแต่ละปี โดยศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนบ้านจัดสรรและอาคารชุดในเขตเทศบาลนครระยอง เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง มีเกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนกระแสความเชื่อผิดๆ ที่ว่าบริเวณดังกล่าวมีมลพิษจนประชาชนไม่กล้าเข้าไปอยู่

            ข้อมูลเฉพาะปี 2559-2563 หรือ 5 ปีล่าสุด มีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ถึง 33,891 หน่วย รวมมูลค่าถึง 74,095 ล้านบาท หรือราคาเฉลี่ยหน่วยละ 2.186 ล้านบาท  การเปิดตัวของที่อยู่อาศัยในแต่ละปีนั้น ขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับในปี 2563 คาดว่าจะมีการเปิดตัวทั้งหมด 7,445 หน่วย รวมมูลค่า 15,350 ล้านบาท  อาจกล่าวได้ว่าโดยเฉลี่ยแต่ละปี มีโครงการที่อยู่อาศัยเกิดใหม่ปีละ 6,778 หน่วย รวมมูลค่าเฉลี่ย 14,819 ล้านบาท  ถ้ามีมลพิษจริง ก็คงไม่มีการเปิดตัวโครงการกันมากขนาดนี้ในแต่ละปี

 

            สำหรับในรายละเอียดพบว่ามีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่เฉพาะในช่วงปี 2559-2563 ถึง 417 โครงการ โดยกลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นทาวน์เฮาส์ 16,574 หน่วย หรือ 49% ของอุปทานทั้งหมด  รองลงมาเป็นบ้านเดี่ยว 9,486 หน่วย หรือ 28% นอกนั้นเป็นบ้านแฝด อาคารชุดและอาคารพาณิชย์ตามลำดับ  อย่างไรก็ตามในด้านมูลค่า บ้านเดี่ยวมีสัดส่วนสูงสุดถึง 39% รองลงมาเป็นทาวน์เฮาส์ 35% บ้านแฝด 14% อาคารชุดและอาคารพาณิชย์ตามลำดับ

            บ้านเดี่ยวที่นำเสนอขายในตลาดมีราคา 2-3 ล้านบาทเป็นสำคัญ  ส่วนบ้านแฝดมีราคาอยู่ที่ 2-3 ล้านบาทเป็นสำคัญเช่นกัน ส่วนทาวน์เฮาส์ กลุ่มใหญ่ที่สุดขายในราคา 1-2 ล้านบาทเป็นหลัก  และโครงการอาคารชุดมักขายห้องชุดในราคา 2-3 ล้านบาท ซึ่งถือว่าราคาค่อนข้างสูง ประกอบกับในพื้นที่ระยอง-มาบตาพุดยังมีพื้นที่ว่างอยู่มากมาย ความต้องการห้องชุดเพื่อการอยู่อาศัยจึงมีจำกัด

            โดยสรุปแล้ว โครงการที่อยู่อาศัยภาคเอกชนนี้ ประชาชนผู้ซื้อบ้านในพื้นที่สมัครใจอยู่อาศัยในพื้นที่เหล่านี้เองโดยไม่มีการบังคับ  และไม่ใช่ผลการบังคับด้านเศรษฐกิจที่ต้องซื้อที่อยู่อาศัยในราคาถูกเพราะจำเป็นต้องทำงานใกล้ที่ทำงาน  แต่คงเป็นเพราะในบริเวณนี้ไม่ได้มีมลพิษมากมายดังที่ได้รับการเข้าใจผิดๆ ดังนั้น ที่อยู่อาศัยจึงเกิดเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาลสวนทางกับความเชื่อดังกล่าว ระยองและมาบตาพุดไม่ได้มีมลพิษดังที่เชื่อ พิสูจน์ได้จากการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของบ้านจัดสรร-อาคารชุดในพื้นที่

 

จำนวนโรงแรมในเขตอำเภอเมืองระยองก็เพิ่มขึ้นมาก
            มีบางกลุ่มกล่าวว่าในจังหวัดระยองและมาบตาพุดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าถ่านหิน น่าจะมีมลพิษในระดับสูง  แต่ในความเป็นจริง ยังมีโรงแรมเกิดเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา  หักล้างความเชื่อดังกล่าว

            ทั้งนี้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม 2563 ดร.โสภณ ได้ไปสำรวจการเกิดขึ้นของโรงแรมต่างๆ ในเขตเทศบาลนครระยอง และเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ปรากฏว่าโรงแรมต่างๆ เกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ถ้าหากมีมลพิษจริง โอกาสที่จะเกิดโรงแรมใหม่ๆ คงมีน้อยมาก  นี่แสดงว่ามลพิษไม่มีจริงหรือมีน้อยเกินกว่าที่ประชาชนจะมีชีวิตอย่างปกติสุข

แผนที่ตั้งโรงแรมที่สำรวจในวันที่ 24 ธันวาคม 2563 โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

 

            ในการสำรวจเบื้องต้นที่ในวันที่ 24 ธันวาคม 2563 พบโรงแรมตามพื้นที่ระยอง-มาบตาพุดทั้งหมด 29 แห่ง ปรากฏว่าเป็นโรงแรมที่เปิดในปี 2553 และก่อนหน้าจำนวน 13 แห่ง และมาถึงปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 29 แห่ง  หรืออีกนัยหนึ่งเพิ่มขึ้นจาก 100% เป็น 223% หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัว หรือเท่ากับเพิ่มขึ้นปีละ 8.4% นับว่าเพิ่มขึ้นสูงกว่าจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีเสียอีก การเพิ่มขึ้นของโรงแรมซึ่งส่วนหนึ่งใช้สำหรับนักท่องเที่ยว นักทัศนาจร ผู้ติดต่อ ตลอดจนบุคคลอื่น แสดงว่าในพื้นที่ระยอง-มาบตาพุดนี้ ไม่ได้มีมลพิษมากมายอย่างมีนัยสำคัญนัก  โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงไม่มีปัญหาสำหรับชุมชนแต่อย่างใด
 

ประชากรในพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น
            บางคนกลัวว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ในความเป็นจริง ประชากรตามบริเวณใกล้โรงไฟฟ้าถ่านหินกลับไม่ได้ลดลงตามอ้าง  สิ่งที่จะพิสูจน์ได้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมีมลพิษหรือไม่ ก็ดูได้จากจำนวนประชากรในพื้นที่ในฐานะที่เป็นประจักษ์หลักฐาน หรือเป็น Hard Facts ที่ชัดเจนที่สุด  ถ้าประชากรเพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดลง ก็แสดงว่าไม่มีมลพิษ แต่ถ้าประชากรลดลง ก็อาจแสดงว่ามีปัญหาในพื้นที่เพราะประชาชนคงอยู่ไม่ได้เนื่องจากมลพิษนั่นเอง  เรามาดูการเปลี่ยนแปลงประชากรในพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่ง คือที่จังหวัดระยอง และที่เหมืองแม่เมาะ ลำปาง ดูว่าข้อมูลประชากรเป็นอย่างไรบ้าง

 

            1. ที่จังหวัดระยองมีโรงไฟฟ้าอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ บจก.เก็คโค-วัน โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี และโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี ตั้งอยู่ในเขตมาบตาพุตและอำเภอเมืองระยอง มีเขตการปกครองที่โรงไฟฟ้าเหล่านี้ตั้งอยู่ 2 แห่งคือ เทศบาลนครระยอง และเทศบาลเมืองมาบตาพุด

            2. ที่จังหวัดลำปางที่มีโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ที่อำเภอแม่เมาะ มีเทศบาลตำบลแม่เมาะตั้งอยู่ และยังมีพื้นที่ในตำบลอื่นในอำเภอแม่เมาะตั้งอยู่ด้วยเช่นกัน

 

            จากข้อมูลประชากรชี้ให้เห็นว่า ในกรณีจังหวัดระยองพบว่าในเขตเทศบาลเมืองระยอง มีประชากร ณ สิ้นปี 2552 อยู่ 59,262 คน แต่ ณ สิ้นปี 2562 มี 63,565 คน หรือเท่ากับเพิ่มขึ้นปีละ 0.7% โดยเฉลี่ย  ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยการเพิ่มขึ้นของประชากรทั่วประเทศที่ 0.47%  ยิ่งในกรณีเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดที่มีทั้งนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ ก็ปรากฏว่า อัตราเพิ่มของประชากรสูงถึง 3.49% ต่อปีในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

            และหากรวมเทศบาลทั้งสองแห่งนี้คือเทศบาลนครระยอง และเทศบาลเมืองมาบตาพุดเข้าด้วยกันเพราะอยู่ติดกัน จะพบว่าจำนวนประชากรของทั้งสองเทศบาล เพิ่มจาก 109,447 คน ณ สิ้นปี 2552 เป็น 134,279 คน ณ สิ้นปี 2562 หรือเท่ากับเพิ่มขึ้น 2.07% ต่อปีโดยเฉลี่ย  ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งจังหวัดระยองที่มีอัตราเพิ่มที่ 1.84% ต่อปี  ประชากรไหล่บ่าเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่นี้ทั้งที่คนภายนอกเข้าใจผิดว่ามีมลพิษมากมาย

            ส่วนที่อำเภอแม่เมาะที่เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าแม่เมาะนั้น ปรากฏว่าจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจาก 23,303 คน ณ สิ้นปี 2552 เป็น 24,328 คน ณ สิ้นปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.43% ต่อปีในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา  แสดงว่าโรงไฟฟ้าไม่ได้สร้างปัญหาให้กับชุมชนดังที่เข้าใจ  ในรายละเอียดของอำเภอแม่เมาะนั้นพบว่ามีเพียงตำบลจางเหนือที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากโรงไฟฟ้าที่สุดที่มีประชากรลดลงปีละ -0.03% หรือแทบจะไม่ลดเลย ทั้งนี้คงเป็นเพราะเป็นตำบลในถิ่นที่ทุรกันดารกว่าที่อื่น

            ส่วนที่ตัวเทศบาลตำบลแม่เมาะนั้น ประชากรลดลงปีละ -0.42%  แต่การนี้คงเป็นเพราะเป็นพื้นที่จัดสรรที่ดินขึ้นมาใหม่  โอกาสขยายตัวจึงจำกัด ประชากรจึงไปขยายตัวในตำบลอื่นแทน  และในพื้นที่โดยรอบ ประชากรลดลง โดยในจังหวัดลำปางโดยรวมลดลงปีละ -0.35% ซึ่งก็พอๆ กับที่เทศบาลตำบลแม่เมาะ  ยิ่งกว่านั้นในจังหวัดโดยรอบ คือ อุตรดิตถ์ แพร่ พะเยา ประชากรก็ลดลงปีละ -0.21% -0.45% และ -0.31% ตามลำดับ มีเพียงเชียงใหม่ที่มีประชากรเพิ่มขึ้นปีละ 0.86% และจังหวัดน่าน และเชียงราย ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่ประชากรเพิ่มขึ้น  การสูญเสียจำนวนประชากรในจังหวัดเล็กๆ ให้กับจังหวัดหรือเมืองขนาดใหญ่ในภูมิภาคเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ จึงไม่อาจสรุปได้ว่ามลพิษจากโรงไฟฟ้า ทำให้ประชากรลดลง

            การที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น หรือไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในพื้นที่โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันเช่นนี้ จึงเป็นประจักษ์หลักฐานที่ชัดเจนว่า โรงไฟฟ้าไม่ได้ก่อให้เกิดมลพิษจนทำให้ประชาชนไม่สามารถอยู่ได้ หรือไม่ประสงค์ที่จะอยู่อย่างปกติสุขในพื้นที่ได้ เราจึงควรสร้างความมั่นให้กับประชาชนในความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า ยิ่งในกรณีโรงไฟฟ้ายุคใหม่ที่เน้นถ่านหินบิทูมินัสและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการดักจับมลพิษ ประชาชนจึงยิ่งมีความมั่นใจได้มากขึ้น        โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงมีคุณต่อชาติและเป็นที่ต้อนรับของประชาชน

 

ประชามติของประชาชน
            จากการเข้าร่วมสังเกตการณ์สานเสวนาของสถาบันฯ พบว่าผู้แทนของประชาชนในท้องถิ่นทั้งที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และที่อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ต่างประสงค์ให้มีการทำประชามติ เพื่อให้เห็นว่าประชาชนในท้องถิ่นที่แท้ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน  และผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ทั้งสองยังมั่นใจว่าถ้าส่วนใหญ่ไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็จะยินดีน้อมรับตามประชามติโดยไม่ขัดขืน  การที่ประชาชนในท้องถิ่นที่อยู่ใกล้พื้นที่ก่อสร้างมีความมั่นใจถึงเพียงนี้ ก็แสดงว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ไม่น่าจะมีปัญหา และยังเป็นการสร้างโอกาสให้กับท้องถิ่นอีกด้วย

            กระผมเองยังในฐานะกรรมการคนหนึ่งที่ได้ไปสังเกตการณ์สานเสวนาของสถาบัน ยังได้ออกค่าใช้จ่ายเองในการไปสังเกตการณ์และพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งส่วนมากก็เห็นสมควรให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินคล้ายกับที่ผู้นำชุมชนได้ยื่นข้อเสนอต่อสถาบันฯ  คณะกรรมการและสถาบันฯ พึงฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ไพล่ไปศึกษาแนวทางการผลิตไฟฟ้าอื่นๆ มาแทนที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน

 

                     กระผมขอเสนอว่าสถาบันฯ ควรทำประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ด้วยการดำเนินการดังนี้:

                     1. ศึกษาการสร้างและการดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ระยอง ลำปาง และที่จังหวัดมาเลเซียซึ่งมีอยู่หลายโรงและต่างตั้งอยู่ริมทะเล (ไม่ใช่ลึกเข้าไปในแผ่นดินเช่นที่กระบี่) ให้ชัดเจนว่า ไม่ได้ก่อมลพิษดังอ้าง

                     2. ศึกษาให้ชัดเจนว่า จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ สงขลาหรือประจวบคีรีขันธ์ หรือควรสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสอง หรือสามบริเวณเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน

                     3. ศึกษาตัวอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่จะสร้างในภาคใต้ว่าก่อหรือไม่ได้ก่อมลพิษแก่ท้องถิ่นอย่างไรหรือไม่ ให้ชัดเจน ไม่ใช่ฟังแต่ฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุนโดยไม่ศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ

 

                     จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ
(ดร.โสภณ พรโชคชัย)
กรรมการกำกับการศึกษาฯ

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 517 คน กำลังออนไลน์