ดร.โสภณหนุน ‘พงศกร ขวัญเมือง’ เรื่องสวนป้อมมหากาฬ

รูปภาพของ pornchokchai
ดร.โสภณหนุน ‘พงศกร ขวัญเมือง’ เรื่องสวนป้อมมหากาฬ
  AREA แถลง ฉบับที่ 712/2563: วันอังคารที่ 01 ธันวาคม 2563

 

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
 sopon@area.co.th 

            ตามที่มีข่าว “ชาวเน็ตจวกลูกชายผู้ว่าฯ กทม.หลังชวนเที่ยวสวนดอกไม้ ‘ป้อมมหากาฬ’ จากการไล่รื้อชุมชน เพียงให้นทท.เซลฟี่” <1> ดร.โสภณกล่าวว่า “ชาวเน็ต” เข้าใจผิด ความจริงควรไล่กฎหมู่ออกจากป้อมมหากาฬนานแล้ว

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวถึงข่าวข้างต้น และทาง ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง บุตรชายพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ได้ออกมาตอบโต้แล้วว่า “ก็มีอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนใหญ่เห็นควร ขอคืนพื้นที่นี้ ให้กลับมาเป็นแหล่งโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ของชาติ และพัฒนาปรับปรุงให้เป็นสถานที่สำหรับศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ของกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกับบริเวณป้อมพระสุเมรุและสวนสันติชัยปราการ กทม. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้ทำตามขั้นตอน โดยเริ่มจากรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนและประชาชนทั่วไป ความเห็นส่วนใหญ่ เห็นควรขอคืนพื้นที่ดังกล่าว และ กทม. ได้ทำความเข้าใจกับชุมชนก่อนล่วงหน้า พร้อมทั้งช่วยเหลือ เยียวยา และจ่ายค่าเวนคืนให้กับผู้ได้รับผลกระทบ ตาม พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน พ.ศ.2535” <2>

            ในเรื่องป้อมมหากาฬนี้มีความเข้าใจผิดที่สังคมควรรู้

 

เกี่ยวกับสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ
            สวนแห่งนี้จัดสร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลสมัย เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 โดยภายในบริเวณสวนมี พระที่นั่งสันติชัยปราการ ที่มีตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติมาประดับไว้ พร้อมกับท่ารับเสด็จขึ้นลงเรือพระที่นั่ง เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นที่จัดพระราชประเพณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยา

            สวนสาธารณะสันติชัยปราการ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์และโบราณสถาน นับเป็นนันทนสถานเอนกประสงค์ที่ได้ประโยชน์ใช้สอยทั้งด้านการพักผ่อนหย่อนใจ การศึกษา และการอนุรักษ์ (ป้อมพระสุเมรุ) พื้นที่โดยรอยได้รับการออกแบบให้สามารถใช้เป็นที่ออกกำลังกายได้หลายประเภท เช่น การเต้นแอโรบิค รำมวยจีน สามารถเป็นสถานที่จัดงานของท้องถิ่นและรัฐบาล เช่น พิธีต้อนรับแขกจากต่างประเทศ รวมทั้งด้านวัฒนธรรม เช่น พิธีลอยกระทง สงกรานต์ เป็นต้น

            ในการวิเคราะห์มูลค่า ตั้งอยู่บนสมมติฐานและตัวเลขดังนี้:
            1. สวนสันติชัยปราการนี้มีผู้เข้าใช้สอยวันละ 2,000 ราย (http://bit.ly/2cMpblp) ดังนั้นจึงสมมติให้ในกรณีสวนสาธารณะ "ป้อมมหากาฬ" ซึ่งมีขนาด 6 ไร่เศษ น่าจะมีผู้เข้าใช้สอยในขนาดใกล้เคียงกัน แต่ลดลงไปสัก 20% เหลือ 1,600 คน เพราะในบริเวณนี้รายล้อมด้วยสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงมากมายเช่นกัน

            2. ในกรณีไม่มีสวนสาธารณะนี้ อาจจัดให้ไปใช้บริการสถานออกกำลังกาย Fitness First ซึ่งเสียเงินเดือนละ 2,400 บาท หรือวันละ 80 บาท อย่างไรก็ตามสถานออกกำลังกายนี้มีเครื่องออกกำลังกายมากมาย แต่ในกรณีป้อมมหากาฬ ไม่มีบริการส่วนนี้ แต่มีแหล่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ในกรณีอาจให้ค่าใช้จ่ายลดลง 30% และมีต้นทุนการดำเนินการอีก 30% รวม ค่าใช้จ่ายสุทธิคนละ 32 บาทต่อวัน (80% x (1-60%))

            3. ดังนั้นในกรณีคนมาใช้วันละ 1,600 คน ณ ค่าใช้จ่ายหรือรายได้คนละ 32 บาทต่อวัน ก็เท่ากับวันละ 51,200 บาท หรือปีละ 18.69 ล้านบาท หากถูกผู้บุกรุกครอบครองไปใช้อีก 10 ปี ณ อัตราดอกเบี้ย 5% ก็เท่ากับว่าส่วนรวมต้องสูญเงินไป 144.32 ล้านบาท ตามสูตร (1-(1/(1+i)n))/i โดยที่ i คืออัตราดอกเบี้ย 5% ส่วน n คือระยะเวลา 10 ปีนั่นเอง

            4. นี่ยังไม่รวมรายได้ที่จะได้จากการให้มีการเช่าที่ขายของเพื่อหารายได้มาบำรุงและพัฒนาสาธารณูปโภค และเผื่อมีส่วนเหลือไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญเพื่อประโยชน์ของประชาชนและส่วนรวมในวันหน้า

            ทุกอย่างมีต้นทุน ไม่ใช่ของฟรีเปล่าๆ ปลี้ๆ  ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าในแต่ละปีการที่ไม่มีสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ สังคมต้องสูญเสียโอกาสไปถึง 19 ล้านบาทต่อปี ในระยะเวลา 10 ปีก็เป็นเงิน 144 ล้านบาท เพียงเพราะการ "ดื้อแพ่ง" ของผู้บุกรุกไม่กี่หลังคาเรือน การเอาเปรียบสังคมเป็นสิ่งที่น่าละอายนัก

 

โกหกว่าบ้านกรงนกมาแต่โบราณ
          ตามชุดภาพที่แสดงต่อไปนี้บอกว่า บ้านเลขที่ 47 บ้านทำกรงนกที่ชุมชนบอกว่าเป็นคนอพยพมาจากปักษ์ใต้ ทำอาชีพนี้สืบต่อกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษเป็นวิถีชีวิตชุมชนของคนในป้อมหากาฬ แต่ "ดูกันดีๆ นะครับ บ้านเลขที่ 47 นี้ในปี 2499 เป็นบ้านที่มีคนจีนอาศัยอยู่ทั้งหมด ตามทะเบียนบ้านแผ่นแรก และได้ย้ายทะเบียนบ้านออกหมดในปี 2503 เมื่อกทม. ซื้อที่ดินมา ในปี2516 ที่ดินตรงนี้จะไม่มีบ้านอยู่ (ดูจากทะเบียนบ้านปี 2515 แผ่นที่ 2) บ้านเลขที่นี้จะไม่มีคนอยู่ จนถึงปี 2526 บ้านหลังนี้ก็ยังเป็นบ้านว่าง(ทะเบียนบ้านปี 2526 แผ่นที่3) ความหมายก็คือมีการรื้อบ้านไปแล้วแต่ยังไม่มีการแจ้งรื้อ และไม่มีการจำหน่ายทะเบียนบ้านหลังนี้ทั้งที่ความเป็นจริงบ้านเลขที่ 47 นี้ เดิมเป็นบ้านที่มีคนจีนอาศัยอยู่และได้รื้อย้ายออกไปตั้งแต่ปี 2503"

          "คราวนี้มาดูทะเบียนบ้านแผ่นที่ 4 บ้านเลขที่ 47 ได้มีการปลูกสร้างใหม่ในปี 2532 และขอเลขบ้านใหม่โดยออกเลขทับเลขเดิมในปี 2535 โดยคนที่ขอเลขบ้านคือนางอรุณ นิลใบ ย้ายมาจากบ้านเลขที่132/472 ถนนพระราม6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท ย้ายเข้ามาพร้อมกับครอบครัวในปี 2532 ก็คงสรุปได้แล้วนะครับว่าที่ชุมชนพยายามบอกว่ามีมุสลิมจากปักษ์ใตัมาประกอบอาชีพนี้ในป้อมมหากาฬสืบต่อมาหลายรุ่นน่ะ เป็นความจริงหรือเปล่า? เพราะคนที่อยู่ไม่ได้มีเชื้อสายคนจีนสักนิดเดียว และคงไม่ได้เป็นญาติสืบต่อกันมาจากเจ้าของเดิมชาวจีนแน่นอนใช่ไหมครับ" (http://bit.ly/2cvdocN)

ทะเบียนบ้าน 1

 

ทะเบียนบ้าน 2

 

ทะเบียนบ้าน 3


โกหกว่า ดร.ป๋วยก็เคยอาศัยในชุมชน
          โกหกว่ามีบ้านทรงไทยหลังหนึ่งในชุมชน บอกว่าเป็นของตระกูลอึ๊งภากรณ์ แต่ในความเป็นจริง เมื่อปี 2548 หรือ 11 ปีที่แล้ว "ทายาท 'อึ๊งภากรณ์' ชี้แจงว่า บ้านที่เรียกว่าบ้านไม้โบราณนี้ไม่เกี่ยวข้อง ดร.ป๋วย" นางอุไรวัลย์ อึ๊งภากรณ์ เป็นสะไภ้ และได้รับมรดกจากนางจิบ บุรกิจ และนางอุไรวัลย์ยังพยายามจะรื้อหลังจากได้รับเงินชดเชยจาก กทม. แล้ว แต่ชาวบ้านไม่ยอมให้เขารื้อบ้านของตนเอง เดือดร้อนจนต้องมาให้ กทม. รื้อถอนแทน นี่คือเล่ห์กลที่น่าละอายของคนที่เรียกร้องไม่ยอมย้ายออกไป ส่วนเรื่องของมีค่าไม่ว่าจะเป็นลวดลายต่างๆ ที่ตกแต่งบนตัวบ้านนั้น ก็ถูกแกะขายไปหมดแล้ว (http://bit.ly/2bQJAap)

หลักฐานคำร้องของนางอุไรวัลย์ อึ๊งภากรณ์

 

โกหกว่าจะย้ายแต่เบี้ยว
          โกหกตั้งแต่รุ่นพ่อแม่แล้วว่าจะย้ายออก แต่ก็ไม่ยอมย้ายใช่ไหม นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการกองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ได้เขียนใน FB เล่าว่า "ครั้งหนึ่ง เกือบ 20 ปีมาแล้ว ผมมีโอกาสเข้าไปในชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อเจรจากับผู้นำชุมชนในสมัยนั้นก็คือคุณป้านงลักษณ์ วรมหาคุณ และคุณลุงชาญ ทัพเมฆา การเจรจาเป็นไปด้วยดีโดยทั้งสองท่านขอให้ชะลอการเข้าพื้นที่ของกทม. ไว้ก่อน เนื่องจากยังไม่สะดวกเพราะเด็กๆ ยังไม่ปิดเทอม"

           ". . . ผู้บริหาร (กทม.) ได้ยินยอมผ่อนปรนให้ เป็นอย่างนี้อยู่หลายครั้ง . . . สิ่งที่ผมขอชุมชนในตอนนั้นคือพยายามอย่าปลูกอาคารสิ่งปลูกสร้างใหม่ขึ้นมา. . .ผ่านไปเกือบ 20 ปี ผู้นำทั้งสองท่านเสียชีวิต . . . ถึงวันนี้กลับลืมสิ่งที่พ่อแม่ของตนเองสัญญาไว้ มีการปลูกสร้างอาคารใหญ่โตบุกรุกในที่ดินว่างที่เจ้าของเดิมรื้อย้ายออกไปแล้ว รวมทั้งไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่. . . (http://bit.ly/2cwlL5v)" อย่างนี้ถือเป็นการโกหกหรือไม่

 

โกหกว่าฐานะยากจน
          ถ้ายากจนจริง ทำไมมีบ้านไม้หรูๆ เพิ่งปลูกใหม่ต่อเติมไม่นาน ทั้งที่ไม่ใช่ที่ดินของตนเองเลย ในขณะที่มีการโพนทะนากันว่ามีบ้านอยู่กันมานาน แต่หากเราสังเกตให้ดี และผู้สนับสนุนจากภายนอกไม่ "ใจบอด" จะเห็นได้ว่ามีการก่อสร้างบ้านสวย ๆ ใหม่ ๆ อย่างน้อย 4 หลัง บ้านแต่ละหลังคงมีราคาแพงพอสมควรทีเดียว คนที่ก่อสร้างบ้านเช่นนี้ได้ คงไม่ได้ยากจน แต่ตั้งใจปักหลักปักฐาน ที่ดินที่ก่อสร้างก็คงเป็นที่ดินของกรุงเทพมหานครที่เวนคืนมาแล้ว น่าจะถือเป็นผู้บุกรุก และหากถูกรื้อก็คงเสียดาย จึงต้องต่อสู้สุดขีดเพื่อรักษาผลประโยชน์อันมิชอบของตนเองใช่หรือไม่ จากการสำรวจยังพบว่าในแต่ละครอบครัว รายได้ของหัวหน้าครอบครัวโดยเฉลี่ย 19,421 บาทต่อเดือน รายได้ของครอบครัวเฉลี่ยอยู่ที่ 25,895 บาท นี่ยังคงเป็น "คนจน" อยู่อีกหรือ (http://bit.ly/2aYm8Eh)

รูปบ้านใหม่-โอ่โถง หลังที่ 1

 

รูปบ้านใหม่-โอ่โถง หลังที่ 2-3

 

            ดังนั้น ดร.โสภณ จึงยืนยันได้ว่าการย้ายชุมชนป้อมมหากาฬโดยกรุงเทพมหานครจึงเป็นสิ่งที่ชอบแล้ว และสมควรได้รับการสนันสนุน

 

อ้างอิง
<1> ชาวเน็ตจวกลูกชายผู้ว่าฯ กทม.หลังชวนเที่ยวสวนดอกไม้ ‘ป้อมมหากาฬ’ จากการไล่รื้อชุมชน เพียงให้นทท.เซลฟี่. สยามรัฐ 29 พฤศจิกายน 2563. https://siamrath.co.th/n/200745

<2> โฆษก กทม.ตอบกลับชาวเน็ต ดราม่าสวนดอกไม้ 'ป้อมมหากาฬ' แลกกับการไล่ที่. ช่อง 3. 30 พฤศจิกายน 2563. https://ch3thailandnews.bectero.com/news/220546

 

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 501 คน กำลังออนไลน์