user warning: Duplicate entry '536306482' for key 'PRIMARY' query: INSERT INTO accesslog (title, path, url, hostname, uid, sid, timer, timestamp) values('การเล่นเบสบอล', 'node/91344', '', '13.58.132.97', 0, '0d9e6105609af038da5c1fd7a679d3f6', 146, 1716116033) in /home/tgv/htdocs/modules/statistics/statistics.module on line 63.

ข้อเรียกร้องเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเร่ร่อน

รูปภาพของ pornchokchai
ข้อเรียกร้องเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเร่ร่อน
  AREA แถลง ฉบับที่ 622/2563: วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2563

 

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
 sopon@area.co.th 

            มูลนิธิอิสรชนได้นำเสนอข้อเรียกร้องเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะแก่ทางราชการ ทั้งนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชน จึงนำมาเผยแพร่เพื่อช่วยกันกระตุ้นให้ภาครัฐช่วยเหลือคนเร่ร่อน และให้ทุกฝ่ายสนับสนุนการพัฒนาคนเร่ร่อน ให้มีชีวิตที่สร้างสรรค์ในสังคม

 

จดหมายเปิดผนึก

เรื่อง นำเสนอข้อเรียกร้องเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

 

            จากการที่มูลนิธิอิสรชน ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมาเป็นระยะเวลานานกว่าสิบปี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ในการจัดทำ “โครงการสะท้อนเสียงคนไร้ที่พึ่ง เพื่อการเข้าถึงสวัสดิการอย่างยั่งยืน” โดยการลงพื้นที่รับฟัง “เสียง” จากกลุ่มคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะโดยมุ่งเน้นใน 3 กลุ่มหลักได้แก่  (1)กลุ่มคนเร่ร่อนถาวร (กลุ่มคนเร่ร่อนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะมาเป็นเวลานาน) (2) กลุ่มคนเร่ร่อนหน้าใหม่ (กลุ่มคนตกงานที่ต้องออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ) โดยเน้นกลุ่มคนตกงานในช่วงสถานการณ์ covid – 19 และ (3) กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการต้องออกมาเร่ร่อน (กลุ่มคนในชุมชนแออัด กลุ่มคนตกงานที่ต้องเช่าที่อยู่ เป็นต้น)   

            จากการจัดกระบวนการ “รับฟังเสียงคนเร่ร่อนผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ” 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านกระบวนการในรูปแบบ Focus group พบว่า เพื่อนคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานของรัฐเป็นจำนวนมาก และในกลุ่มนี้มีจำนวนมากที่ถูกผลักให้ต้องออกมาเป็นคนเร่ร่อน ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะจากโครงสร้างสังคมที่ไม่เท่าเทียม กระทั่งถึงการถูกซ้ำเติมจากสังคมจนทำให้ไม่สามารถก่อร่างสร้างตัวกลับคืนสู่สังคมได้อย่างแท้จริง

            มูลนิธิอิสรชนจึงขอเป็นกระบอกเสียงแทนคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เพื่อส่งเสียงแสดงความคิดเห็นในรูปแบบข้อเสนอทางสังคมให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่มีพันธกิจในการ  พัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพเต็มศักยภาพและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการ จัดระบบสวัสดิการที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันและมีความมั่นคงในชีวิต ได้ใช้เป็นข้อมูลในการบูรณาการสร้างแผนงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของ คนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ รวมถึงการช่วยเหลือดูแลคนกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มในการออกมาเร่ร่อนไม่ให้ต้องออกมาเร่ร่อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับสังคมต่อไป

            ข้อเสนอทางสังคมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

 

ประเด็น 1 : การจัดการกระบวนการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน

            จากการเก็บข้อมูลพบว่า คนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะจำนวนมาก เข้าไม่ถึงสวัสดิการที่รัฐมอบให้เช่น การไม่สามารถเข้าถึงเงินเยียวยาในสถานการณ์ covid-19 เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์โทรศัพท์ การเข้าไม่ถึงรัฐสวัสดิการในหลายรูปแบบเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน บัตรหาย หรือการเป็นคนไร้รัฐทั้งที่เกิดในประเทศไทย เป็นต้น กลุ่มคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ จึงมีข้อเสนอ โดย

            ขอให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้ามาเป็นตัวกลางในการสร้างการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ดังนี้

            1. มีการจัดทำบัญชี คนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตสาธารณะในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการส่งต่อความช่วยเหลือ และเป็นผู้ประสานความช่วยเหลือในการเข้ารับสวัสดิการเบื้องต้นในกรณีคนไร้รัฐ อาทิ หากมีการจ่ายเงินเยียวยา กระทรวงฯ สามารถเป็นหน่วยงานกลางในการประสานส่งต่อให้กับคนกลุ่มนี้ได้ ผ่านการลงรายมือชื่อด้วยลายลักษณ์อักษร เป็นต้น

            2. การดำเนินงานเพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการช่วยเหลือให้คนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ สามารถทำบัตรประชาชน ทำเอกสารแสดงตัวบุคคล เพื่อให้เข้าถึงสิทธิสวัสดิการพื้นฐานที่ควรได้รับ

            3. ในด้านการรักษาพยาบาล ขอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นตัวแทนในการประสานงาน ส่วนงานที่รับผิดชอบเพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการการรักษาได้ทุกพื้นที่ เนื่องจากปัญหาที่พบมากคือ คนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ต้องไปทำงานต่างพื้นที่ไม่ได้อยู่ในจังหวัดที่ตนเองมีทะเบียนบ้านอยู่ มีปัญหาการเข้าถึงการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสังคม อยู่เป็นจำนวนมาก                        

 

ประเด็น 2 : การเข้าถึงที่อยู่อาศัย

            จากการเก็บข้อมูลพบว่าคนจำนวนมากในสังคมไทยซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นกลุ่มคนที่มีต้นทุนชีวิตต่ำจนทำให้การใช้ชีวิตในสังคมกลายเป็นเรื่องยาก ซึ่งส่วนมากจะมีวงจรเดียวกันจนเรียกได้ว่าขาดไร้ไปเสียทุกด้าน กล่าวคือ ไม่มีบ้านไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ขาดโอกาสทางการศึกษาไม่มีความรู้ จึงทำให้ต้องทำงานหนักแต่รายได้ต่ำ จนทำให้ไม่สามารถมีที่พักอาศัยได้ต้องกลายเป็นคนเร่ร่อนด้วย 4 สาเหตุสำคัญคือ (1)ไม่มีรายได้เพียงพอจะเช่าที่พักอาศัย (2) ทันทีที่ไม่มีแรงทำงานหนักเนื่องจากอายุมาหรือป่วยและไม่มีงานให้ทำก็ไม่มีรายได้เช่าที่พักอาศัย (3) เข้าไปเช่าที่ในราคาถูกเพื่อปลูกสร้างที่พักอาศัยแต่ถูกไล่ที่ทำให้ไม่มีที่พักอาศัย (4) การต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ สูงกว่าคนอื่นเนื่องจากเช่าที่ปลูกสร้างที่พักไม่มีบ้านเลขที่ เป็นการซ้ำเติมปัญหาให้กับคนที่พยายามจะสร้างที่พักพิงเพื่อดูแลตนเอง หากเราทำความเข้าใจประเด็นนี้ได้อย่างรอบด้านจะพบว่ากระบวนการเชิงโครงสร้างนี้เป็นกระบวนการที่ผลักดันให้มีคนต้องออกมาเร่ร่อนเพิ่มขึ้นทุกวัน กลุ่มคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ จึงมีข้อเสนอต่อประเด็นนี้ไว้ โดย

            ขอให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้ามาเป็นตัวกลางในการดำเนินการ ดังนี้

            1. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดหาห้องเช่าราคาถูกในจุดต่าง ๆ ของเมืองให้คนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ได้สามารถเข้าถึงและใช้เป็นที่พักอาศัยได้

            2. ประสานหน่วยงานซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ซึ่งคนเร่ร่อนเช่าที่ราคาถูกเพื่อพักอาศัย อาทิ การรถไฟ กทม. เทศบาลจังหวัดต่าง ๆ กรมเจ้าท่า ฯลฯ ให้มีการทบทวนการไล่รื้อพื้นที่เช่า และ/หรือวางแผนในการหาพื้นที่เช่าใหม่รองรับการย้ายที่อยู่อาศัยก่อนที่จะมีการไล่รื้อ เพื่อลดปัญหาการเพิ่มจำนวนของคนเร่ร่อนจากการไล่รื้อที่อยู่อาศัย

            3. การสนับสนุนการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ โดยการ จัดหาพื้นที่เพื่อรวบรวมกลุ่มคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ที่ต้องการมีที่พักอาศัยได้เข้าไปเช่าหรือซื้อในราคาถูก หรืออาจเป็นการจับจองด้วยวิธีอื่น เพื่อให้พวกเขาสร้างชุมชนของตนเองโดยได้รับการสนับสนุนดูแลจากรัฐ

            4. ขอให้มีการประสานหน่วยงานที่ดูแลด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น การไฟฟ้า ประปา เพื่อทบทวนนโยบายของตนเองให้สามารถสนับสนุนคนไร้บ้านที่ต้องปลูกสิ่งปลูกสร้างแบบไม่มีบ้านเลขที่ให้สามารถได้ใช้ ไฟฟ้า น้ำประปา ในราคาเดียวกับคนทั่วไปในสังคม

 

ประเด็น 3 : การสร้างความมั่นคงในชีวิต

            จากการเก็บข้อมูลพบว่า คนจำนวนมากที่ตกงานในช่วงสถานการณ์ covid-19  ต้องกลายเป็นคนเร่ร่อนเนื่องจาก ตกงาน ไม่มีงานทำไม่มีรายได้ และไม่มีเงินเก็บเพื่อสำรองการใช้จ่ายด้วยเหตุผลจำนวนมาก อาทิ รายได้น้อยไม่เพียงพอจะมีเหลือเก็บ มีภาระค่าใช้จ่ายมากต้องดูแลหลายคน การขาดทักษะในการวางแผนชีวิตขาดวินัยในการใช้จ่ายจนไม่มีเงินเก็บ ฯ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ในช่วงสถานการณ์ covid-19  ที่ผ่านมามีคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ กลุ่มคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ จึงมีข้อเสนอต่อประเด็นนี้ไว้ โดย

            ขอให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้ามาเป็นตัวกลางในการดำเนินการ ดังนี้

            1. ประสานงานกับหน่วยงานด้านแรงงานเพื่อสร้างช่องทางการเข้าถึงการจ้างงานให้กับ คนตกงานที่ต้องออกมาเป็นคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เนื่องจากคนกลุ่มนี้เมื่อต้องออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะทำให้โอกาสในการเข้าถึงข่าวสารลดลงอย่างมาก ไม่สามารถเข้าถึงการจ้างานที่รัฐจัดการให้โดยปรกติได้ และคนกลุ่มนี้จำนวนมาก ไม่มีต้นทุนพอและไม่สามารถรับเสี่ยงที่จะประกอบอาชีพอิสระได้

            2. การสนับสนุนให้คนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ บางกลุ่มที่มีเจตจำนง ที่จะใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะสามารถใช้ชีวิตและประกอบอาชีพที่ตนเองต้องการได้อย่างเหมาะสม อาทิการเก็บขยะ การขายของเก่า เป็นต้น โดยการทำความเข้าใจกับสังคม การกำหนดแนวทางจัดการที่ชัดเจนเพื่อคุ้มครองให้พวกเขาเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตในวิถีของตนเองได้โดยไม่ถูกละเมิด รบกวน และไม่ไปละเมิดสิทธิของคนส่วนใหญ่ในสังคม

 

ประเด็น 4 : ด้านการศึกษา

            จากการเก็บข้อมูลพบว่า ประเด็นปัญหาด้านการศึกษามิใช่เป็นประเด็นที่ถูกเรียกร้องโดยคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเท่านั้น แต่ในปัจจุบันยังเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนของสังคมให้ความสนใจ สำหรับในส่วนข้อเสนอของคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะนั้น มีดังนี้

            ขอให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้ามาเป็นตัวกลางในการผลักดันข้อเสนอเพื่อการทบทวนนโยบายให้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้

            1. ทบทวนเงินสนับสนุนในการเรียนภาคบังคับ ของนักเรียน เนื่องจากในปัจจุบันแม้จะมีการสนับสนุนค่าบำรุงการศึกษา หรือ “ค่าเทอม” ให้กับนักเรียนแต่กลับพบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองกลับยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ต่างจากเดิมโดยเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นค่าบำรุงสถานที่ ค่าอุปกรณ์ ฯ เป็นต้น

            2. พัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนให้เท่าเทียมกันเพื่อสร้างความเท่าเทียมในการศึกษา ให้ลูกหลานของคนที่มีรายได้น้อยได้มีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกับคนที่สามารถส่งลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียนราคาแพงได้ เพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคมและช่วยสร้างพลเมืองคุณภาพในอนาคต

 

            ทั้งนี้ ข้อเสนอทั้งหมดนี้ มูลนิธิอิสรชน ได้รวบรวมและเรียบเรียงมาจากความคิดและความต้องการของพี่น้องคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ในฐานะหน่วยงานที่สร้างให้เกิดจุดเชื่อมต่อระหว่างคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพียงเพื่อสร้างกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมอย่างเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่ากันเท่านั้น

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 297 คน กำลังออนไลน์