จะปฏิบัติอย่างไรให้มีความก้าวหน้าในธรรม

 

จริต 6

    จริต แปลว่า  จิตท่องเที่ยว  สถานที่จิตท่องเที่ยวหรืออารมณ์เป็นที่ชอบท่องเที่ยวของจิตนั้น   สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประมวลไว้เป็น  ๖   ประการด้วยกัน คือ      

๑. ราคจริต  จิตท่องเที่ยวไปในอารมณ์ที่รักสวยรักงาม  คือพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ  กลิ่นหอม รสอร่อย  สัมผัสนิ่มนวล รวมความว่า  บุคคลผู้เป็นเจ้าของจริตมีอารมณ์หนักไปในทางรักสวยรักงาม ชอบระเบียบ  สะอาด  ประณีต  มีกิริยาท่าทางละมุนละไมนิ่มนวล  เครื่องของใช้สะอาดเรียบร้อย  บ้านเรือนจัดไว้อย่างมีระเบียบ  พูดจาอ่อนหวาน  เกลียดความเลอะเทอะสกปรก  (อย่าตีความหมายว่า ราคจริตมีจิตมักมากในกามารมณ์  ถ้าเข้าใจอย่างนั้นพลาดถนัด)

๒. โทสจริต  มีอารมณ์มักโกรธเป็นเจ้าเรือน  เป็นคนขี้โมโหโทโส  อะไรนิดก็โกรธ  อะไรหน่อยก็โมโห  เป็นคนบูชาความโกรธว่าเป็นของวิเศษ

๓. โมหจริต  มีอารมณ์จิตลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ  ชอบสะสมมากกว่าจ่ายออก  ไม่ว่าอะไรเก็บดะ  ผ้าขาดกระดาษเก่า  ข้าวของตั้งแต่ครั้งใดก็ตาม ชอบเอารัดเอาเปรียบ รวมความว่าเป็นคนชอบได้ไม่ชอบให้

๔. วิตกจริต  มีอารมณ์ชอบคิด ตัดสินใจไม่เด็ดขาด  มีเรื่องที่จะต้องพิจารณานิดหน่อยก็ต้องคิดตรองอยู่อย่างนั้น  ไม่กล้าตัดสิน

๕. สัทธาจริต  มีจิตน้อมไปในความเชื่อเป็นอารมณ์ประจำใจ   โดยไร้เหตุไรผล    มีใครแนะนำอะไรตัดสินใจเชื่ออย่างเดียวไม่ได้       พิจาณา

๖. พุทธจริต  เป็นคนเจ้าปัญญาเจ้าความคิด มีความฉลาดเฉลียว  มีปฏิภาณไหวพริบดี   การคิดอ่านหรือการทรงจำก็ดีทุกอย่าง

           อารมณ์ของชาวโลกทั่วไป  สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประมวลอารมณ์ว่า อยู่ในกฎ  ๖ ประการตามที่กล่าวมาแล้วนี้  บางคนมีอารมณ์ทั้ง  ๖  อย่างนี้ครบถ้วน บางรายก็มีไม่ครบ  แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองมีจริตอย่างไรก็ให้วิเคราะห์ตนเองดู  ถ้ามีอารมณ์อะไรนำหน้าบ่อย ๆ ก็คือจริตนั้น ให้ลองสังเกตตนเอง  เช่น ไม่พอใจก็ขึ้นหน้าขึ้นตา น้ำเสียงบอกอารมณ์โมโห  คือ โทสจริต    หรือทำอะไรก็คิดอยู่นั่นไม่ทำซักทีคิดแล้วคิดอีก  คือ  วิตกจริต   หรือใครพูดอะไรก็เชื่อหมดไม่ไตร่ตรอง  คือ สัทธาจริต  หรือจะทำอะไรต้องสวยก่อน เป็นระเบียบ คือ ราคจริต  หรือ ทำอะไรต้องดูข้อมูล พิสูจน์ ค้นก่อน คิดก่อน คือ พุทธจริต        

           เมื่อวิเคราะห์ตนเองแล้ว และรู้ว่าจริตที่เด่นของตนเองคืออะไรแล้ว ต้องยอมรับความจริงก่อน(แม้จะแปลกพิสดารไปบ้างก็ต้องยอมรับ)  ว่าจริตของตนเองหนักไปทางไหน  หลวงปู่ก้าน จิตตธัมโม ท่านได้เทศน์ว่า ให้น้อมนำเอากรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ว่าเหมาะสมกันเข้าพิจารณาหรือภาวนา เพื่อความผ่องใสของอารมณ์จิต   เพื่อการพิจารณาวิปัสสนาญาณ เพื่อมรรคผลนิพพานต่อไป   แต่ขั้นต้นจะต้องสร้างบารมีตามลำดับก่อน  คือ ทาน   ศีล  ภาวนา  ซึ่งควรจะทำตามลำดับขั้น            

            1.  ทาน เป็นการสร้างบุญในเบื้องต้น เป็นการให้การสละทรัพย์สิน สิ่งของสมบัติของตนที่มีอยู่ให้ผู้อื่น โดยมุ่งหวังจุนเจือผู้อื่นให้ได้รับประโยชน์และความสุข ด้วยความมีเมตตาจิต  อันจะทำให้จิตใจสูงขึ้น

            2. ศีล  คุณธรรมของมนุษย์คือ ศีล 5 ที่ต้องรักษาไว้ให้บริบูรณ์ในส่วนของฆราวาส  เป็นการรักษากายและวาจา เป็นกำลังให้เกิดสมาธิ

            3. ภาวนา  เป็นการรักษาใจรักษาจิต และซักฟอกจิตให้เบาบาง หรือจนหมดกิเลส หรือความโลภ  โกรธ  และหลง อันเป็นเครื่องร้อยรัดให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด  การเจริญภาวนา มี 2 อย่าง คือ สมถภาวนา (การทำสมาธิ)  การทำจิตให้เป็นสมาธิ คือทำจิตให้นิ่งอยู่ในอารมณ์เดียว และวิปัสสนาภาวนา เป็นจิตที่คิดใคร่ครวญ หาเหตุผลในสังขารธรรมทั้งหลาย ให้เป็นไตรลักษณ์  คือ อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา   ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้เป็นเหตุและผลของกันและกัน และอุปการะซึ่งกันและกัน การทำสมาธิเป็นบันไดขั้นต้นที่จะก้าวไปสู่การเจริญวิปัสสนาภาวนา 

             ดังนั้นการรู้จริตตนเองจึงทำให้การเจริญวิปัสสนาภาวนาจะก้าวหน้าเร็วขึ้น เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วให้น้อมนำพิจารณากาย ท่านได้ยกตัวอย่าง กรณีที่มีจริตเป็น ราคจริต อารมณ์ที่รักสวยรักงาม คือพอใจในรูปสวย ต้องพิจารณาอสุภรรมฐาน  อสุภ ได้แก่สิ่งที่ไม่สวยงาม เช่น ซากศพ  คือมีจิตพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงว่า ร่างกายของคนและสัตว์ แท้จริงแล้วเป็นอนิจจัง คือ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกขังคือ ทนอยู่สภาพนั้นไม่ได้ วัน เวลา ย่อมพรากความสวยงาม ไปจนเข้าสู่วัยชรา และในทันทีที่ตายร่างการก็จะเน่าเปื่อย ส่งกลิ่นเน่าเหม็น ในที่สุดก็จะเปื่อยยุ่ย  หาตัวตนของเราไม่ได้เลย เป็นอนัตตา  สำหรับผู้ที่มีจริตใดก็ให้พิจารณาตามแต่จริตของตน  พระพุทธองค์ทรงบัญญัติเป็นแบบอย่างไว้ 40 ประการ เรียกกันว่า “กรรมฐาน 40”  ซึ่งจะเลือกวิธีใด ใช้วิธีใดก็ได้ ตามแต่จริตของตนเอง และวาสนาบารมีที่ได้เคยสร้างมาแต่ในอดีตชาติจิตจะชอบกรรมฐานกองนั้นมากกว่ากองอื่น ๆ และการเจริญภาวนาจะก้าวหน้าเร็ว  สำหรับ “ กรรมฐาน 40 ”  มีรายละเอียดเยอะมาก ท่านได้ให้ไปค้นเองค่ะ
           หลังจากนั้นท่านได้เทศน์ว่าการเจริญภาวนาจึงควรทำบ่อย ๆ ทำให้มาก ๆ จนจิตเป็นอารมณ์แนบแน่นไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด คือไม่ว่าจะยืน  เดิน  นั่ง  นอน  จะทำให้การปฏิบัติก้าวหน้าขึ้นค่ะ

          จริต 6  เป็นอย่างไร ลองวิเคราะห์ตนเอง  และขอฝากพุทธศาสนสุภาษิตสำหรับทุกท่านค่ะ

        “ กมฺมุนา วตฺตตีโลโก              สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ” 
        “ ททมาโน ปิโย โหติ             ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ”
        “ โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา         เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก ”
        “ วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ              คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ”
        “ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ                 นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ”

 

สร้างโดย: 
sss28282

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 449 คน กำลังออนไลน์