รัฐสวัสดิการ

รัฐสวัสดิการ (Welfare State) เป็นระบบสวัสดิการที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย ปัจจุบันนี้หลายพรรคการเมืองกำลังใช้ คำว่า “รัฐสวัสดิการ” ในการหาเสียงเลือกตั้ง อะไรคือประชานิยม อะไรคือรัฐสวัสดิการที่แท้จริงกันแน่? หลายฝ่ายเสนอว่าหัวใจของการปฏิรูปสังคมและการเมืองในยุคนี้ ต้องเป็นการสร้างรัฐสวัสดิการ และการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า

สัปดาห์นี้ โลคัลทอล์คขอนำเสนอ รัฐสวัสดิการ ทั้งแนวคิด ปัญหาอุปสรรคในสังคมการเมืองไทย และทำไมเราจึงต้องการรัฐสวัสดิการ?

 

ปลดปล่อยพลังการผลิต เคลื่อนรัฐสวัสดิการ

สุริยันต์ ทองหนูเอียด กองเลขา สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.)

‘รัฐสวัสดิการ’ ในกระแสการหาเสียงเลือกตั้งที่พรรคการเมืองชูอยู่ในขณะนี้นั้น มันเป็นสวัสดิการแบบอุปถัมภ์โดยรัฐและทุน ไม่ใช่ในมิติของการเมืองภาคประชาชน จะให้มีรัฐสวัสดิการ ต้องเริ่มตั้งแต่วิธีคิด วิธีการและเครื่องมือที่จะนำไปสู่สิ่งนี้ด้วย

วิธีคิดก็ต้องมาจากการปลดปล่อยพลังการผลิตเสียก่อน ตราบใดที่รัฐไทยยังไม่กระจายสิทธิการถือครองที่ดินออกไป รัฐไทยก็ไม่มีภาษีที่จะมาทำรัฐสวัสดิการ เพราะถ้าพูดถึงรัฐสวัสดิการก็ต้องพูดถึงที่มาของเม็ดเงินด้วย

ดังนั้นจึงต้องคิดถึงการปฏิรูปพลังภาคการผลิตทั้งหมด ตั้งแต่ที่ดิน เทคโนโลยีทางการผลิต รวมไปถึงระบบตลาดที่จะมารองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ประเทศไทยยังไม่มีการกระจายการถือครองที่ดินออกไป ไม่มีการส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตให้กับเกษตรกรรายย่อย รัฐสนับสนุนแต่เกษตรกรรายใหญ่และบรรษัทขนาดใหญ่เท่านั้น

ถ้ายังไม่สามารถปลดปล่อยพลังการผลิตได้ ชาวบ้านก็ได้แต่รอคอย แล้วก็อ่อนเปลี้ยหมดแรง แล้วก็ร้องขอ ซึ่งการขอก็คือการอุปถัมภ์ การอุปถัมภ์ก็คือนโยบายประชานิยม และประชานิยมก็คือการหลอกชาวบ้านว่านี่คือ รัฐสวัสดิการ

ทำให้รัฐสวัสดิการมีมิติที่ขึ้นตรงต่อนักการเมือง นายทุน นักธุรกิจ แต่ยังไม่มีใครเสนอให้ปลดปล่อยพลังการผลิต แล้วทำให้เกิดรัฐสวัสดิการในลักษณะที่ไม่ใช่การอุปถัมภ์ แต่มาจากการออกจากทุกภาคส่วนในสังคม

พอเรามีวิธีคิดแล้ว เราก็มาคิดวิธีการ-เครื่องมือที่จะนำไปสู่ ‘รัฐสวัสดิการ’ ซึ่งก็ยังไม่มี เพราะเราไปพึ่งอยู่กับหน่วยงาน องค์กรของรัฐ ของพรรคการเมือง หรือองค์กรกึ่งรัฐกึ่งเอกชนอย่าง พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) มากเกินไป ซึ่งไม่ใช่การนำไปสู่รัฐสวัสดิการอย่างแท้จริง แต่ก็ต้องย้อนกลับไปที่พูดไปแล้วว่า “ต้องมีการปลดปล่อยพลังการผลิตก่อน” ส่วนเครื่องมือที่มีอยู่ก็ไม่ใช่ของประชาชนอย่างแท้จริง

 

น้ำเดือดหยดเดียว - น้ำเดือดทั้งหม้อ

สุริยันต์ กล่าวต่อว่า แม้ภาคประชาชนก็มีการเคลื่อนไหว ชูคำขวัญ ชูนโยบาย แต่ยังไม่มีการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนที่จะเข้าไปต่อสู้ผลักดันเลย ยังไม่มี นั่นคือ ต้องมีกระบวนการไปใช้อำนาจส่วนกลางตรงนั้น “ต้องมีพรรคการเมืองภาคประชาชน” เพื่อจะสามารถเข้าไปต่อรองในส่วนนี้

แม้ว่า อบต. เทศบาล ก็สามารถทำรัฐสวัสดิการได้ในระดับท้องถิ่น แต่ก็พบว่าเป็นเพียงระบบอุปถัมภ์ ซึ่งก็ไม่แตกต่างกับพรรคการเมืองระดับชาติ ที่ทำเพื่อการหาเสียงเลือกตั้ง ขยายฐานเสียงและหัวคะแนนมากกว่ามุ่งแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน

ข้อเสนอของภาคประชาชนเองก็ต้องมาพูดคุยกัน ไม่ใช่แค่ชูคำขวัญ โฆษณาเหมือนพรรคการเมือง แต่ต้องคุยกันว่าจะใช้เครื่องมืออะไรที่แหลมคมพอจะผลักดันให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการได้

การเลือกตั้งที่จะถึงในครั้งนี้ ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงคุณภาพนักการเมืองไทย และความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยไทยแล้ว เพราะเราไม่มีตัวเลือกที่ดีเลย มีแต่การชูความฝัน คำขวัญในการหาเสียงเท่านั้น ไม่มีใครพูดถึงประเด็นที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นพรรคการเมืองใดก็ตามที่จะขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็มาจากเสียงของคนส่วนน้อยที่ใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมเข้ามาสู่อำนาจเท่านั้นเอง

การเมืองทุกวันนี้เป็นการเมืองของชนชั้นนำ และยังไม่รู้แน่ชัดเลยว่าจะนำประเทศไปในทิศทางใด ไม่มีนักการเมืองคนใด พูดถึงการปฏิรูปที่ดิน การปลดปล่อยพลังการผลิต หนี้สินภาคประชาชน หรือคนจนว่าจะอยู่อย่างไรต่อไปในรัฐบาลสมัยหน้า คิดว่าในวันที่ 23 ธ.ค. นี้จะเป็นการเลือกตั้งที่ล้มเหลวมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะภาคประชาชนไม่สามารถทำประชาสังคมกับพรรคใดได้เลย

หากเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างขนาดใหญ่ หรือระดับบน (ระดับประเทศ) ได้ในทันที เราก็สามารถทำประชาธิปไตยในระดับชุมชนท้องถิ่นได้ เราต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถสร้างน้ำเดือดหยดเดียว แล้วเปลี่ยนน้ำทั้งหม้อได้ แต่เราต้องสร้างน้ำเดือดทั่วทั้งหม้อ ทุกหยดในชุมชนก็ควรจะต้องมีระบบการจัดการ จัดตั้งกลไก สร้างเครื่องมือที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยภาคประชาชนให้ได้

แต่ทั้งนี้ก็ต้องผลักดันพร้อมกัน ทั้งการเมืองระดับล่างและระดับบน การทำรัฐสวัสดิการก็เช่นกัน หากทำได้แค่ 2-3 หมู่บ้าน ก็เป็นได้แค่แปลงสาธิต ฉะนั้นต้องทำให้เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ หลายๆ จุด กล่าวคือ ต้องสร้างการเมืองระดับชุมชน และร่วมกันผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายสู่โครงสร้างส่วนบน ข้างล่างก็ต้องรู้จักข้างบน ข้างบนก็ต้องรู้จักข้างล่างด้วย

 

เก็บภาษีคนรวย หนุนคนจน

จอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

ท่ามกลางการหาเสียงของพรรคการเมืองในขณะนี้ ยังไม่เห็นพรรคการเมืองไหนที่นำเอาเรื่องของรัฐสวัสดิการมาใช้อย่างจริงจัง มีแต่เลียนแบบนโยบายบางอย่างของพรรคไทยรักไทย รัฐบาลชุดที่แล้ว เช่น เรียนฟรีจริงในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นต้น

หากเป็นรัฐสวัสดิการจริงๆ และถ้ามีพรรคการเมืองไหน ชูเรื่องรัฐสวัสดิการจริงจะต้องเป็นรัฐสวัสดิการที่เป็นองค์รวม เป็นแบบแพ็คเกจ คือ ตั้งแต่เรื่องของสุขภาพ การศึกษา หลักประกันด้านชราภาพ ที่ดินสำหรับเกษตรกรรายย่อย หลักประกันด้านที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน การบริการด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ที่สะดวก ราคาถูก ทั้งรถเมล์ รถไฟ

ระบบสวัสดิการเป็นระบบที่ให้หลักประกันพื้นฐานสำหรับทุกคนให้มีบ้านอยู่ มีที่ดินทำกิน มีหลักประกันการมีงานทำด้วย ซึ่งต้องทำกันอย่างเป็นองค์รวม

รัฐสวัสดิการ เป็นปรัชญาความเชื่อเรื่องบทบาทหน้าที่ของรัฐ ซึ่งต้องเป็นรัฐที่ให้ความสำคัญต่อการรับผิดชอบความอยู่ดีกินดีของประชาชนทุกคนในลักษณะที่มีความเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนแข่งขันกันเอง ใครได้ดีก็ได้ดีไป ใครตกทุกข์ได้ยากก็ตกทุกข์ไป แต่เป็นรัฐที่ดูแลเรื่องสิทธิของประชาชนในการอยู่ดีกินดี มองเรื่องของสวัสดิการสังคม เป็นสิทธิไม่ใช่เป็นรางวัล ความเมตตา แต่เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน

เป็นรัฐที่ดูแลให้ประชาชนทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เป็นสิทธิของทุกคนที่จะได้รับการดูแลในสิ่งเหล่านั้นจากรัฐ มีลักษณะของความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าคุณจะรวยจนมีสถานะทางสังคมอย่างไร แต่สิทธิในการศึกษา การดูแลรักษาสุขภาพเท่ากัน การมีงานทำ บำเหน็จบำนาญเท่ากัน ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างคนรวยคนจน

และถ้าจะมีรัฐสวัสดิการได้ก็ต้องมีการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า แต่เราก็พบว่าไม่มีพรรคการเมืองไหนที่ประกาศว่าจะขึ้นภาษี หรือเก็บภาษีที่มีระบบชั้นในอัตราก้าวหน้ามากขึ้น จะเก็บภาษีแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย เก็บภาษี ภาษีที่ดิน ต้องมีสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบด้วย

ซึ่งเท่าที่ดูแล้ว ผมคิดว่ายังไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีอุดมการณ์ในเชิงรัฐสวัสดิการ มีแต่พรรคการเมืองที่คิดว่า จะทำอย่างไรที่จะเสนอนโยบายเอาใจประชาชนเท่านั้นเอง โดยไม่ต้องไปขึ้นภาษีอะไรมากนัก ไม่กระทบคนรวย หรือพูดง่ายๆ คือ ระบบรัฐสวัสดิการต้องมีการเก็บภาษีที่หนักกับคนที่รวยมหาศาล แล้วนำเงินภาษีที่ได้มาทำให้รัฐสวัสดิการมันอยู่ได้

หลักเรื่องสวัสดิการเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับกฎบัตรของสหประชาชาติ ตามหลักสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่ต้องทำ ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว ทักษิณก็หยิบเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นมาทำ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ขบวนการภาคประชาชนขับเคลื่อนมานาน แต่มันก็ไม่ก้าวหน้า เพราะให้สิทธิครอบคลุมเฉพาะคนที่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลักเท่านั้น ซึ่งแท้จริงแล้วต้องครอบคลุมทั่วหน้า ทั้งหมดสำหรับทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย

 

ต้องจัดตั้งพรรคการเมืองภาคปชช.

ด้านอุปสรรคที่ทำให้รัฐสวัสดิการในประเทศไทยไปไม่ถึงไหน ก็เพราะเราไม่มีพรรคการเมืองภาคประชาชน ระบบสวัสดิการที่เกิดขึ้นได้ในหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น อังกฤษ ก็เกิดขึ้นมาจากพรรคแรงงาน-พรรคกรรมกร ซึ่งในสมัยนั้น พรรคแรงงานมีฐานหลักอยู่ที่แรงงานรายได้ต่ำ เช่น กรรมกรถ่านหิน และกรรมกรในภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมร่วมด้วย

เมื่อพรรคการเมืองมีฐานอยู่ที่ผู้ใช้แรงงานแล้ว พรรคการเมืองก็ต่างทำงานรับผู้ใช้แรงงาน พรรคการเมืองในประเทศไทยตอนนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใด ที่มีฐานจริงๆ อยู่ที่คนยากคนจน หรือเกษตรกรรายย่อย ผู้ใช้แรงงานเลย

พรรคการเมืองในประเทศไทยล้วนแต่เป็นตัวแทนของนายทุน หรือชนชั้นกลาง และผู้มีอันจะกินในสังคม เขาต้องการอำนาจ เขาไม่ได้เข้ามาเพื่อรับใช้ประชาชนอย่างที่เขาโฆษณา สิ่งที่เขาต้องการคือ อำนาจ การที่มีพรรคการเมืองมากมายในประเทศไทย ก็ไม่ได้สะท้อนว่า นักการเมืองไทยมีอุดมการณ์ แข่งขันกันหลายอุดมการณ์ แต่สะท้อนว่ามีกลุ่มคนที่ต้องการแย่งชิงอำนาจรัฐกันมากมาย

การเลือกตั้งครั้งนี้ เราคงทำอะไรไม่ได้มาก แต่แน่นอนว่า เราสามารถตั้งคำถามกับพรรคการเมืองได้ ว่าเขาจะมีนโยบายอะไร หรืออาจจะเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบาย ที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนมากที่สุด ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าพรรคไหนนะ พูดตรงๆ หรือเราอาจจะเห็นว่า เราไม่ศรัทธาพรรคการเมืองใดเลย เราก็ไปกากบาทไม่เลือกพรรคใดก็ได้

ผมคิดว่าเรื่องรัฐสวัสดิการไม่ว่าพรรคการเมืองไหนเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำ และต้องมีการผลักดันจากภาคประชาชนมากกว่า เช่น การนำเสนอกฎหมาย 10,000 รายชื่อ ขึ้นไป หลักจากได้รัฐบาลชุดใหม่แล้ว ซึ่งหากรัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลผสม ที่แข่งขันกันหลายพรรค ก็จะเปิดช่องทางให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

แต่หากเป็นรัฐบาลที่มีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ถือเสียงข้างมากหรือเกือบทั้งหมดในสภา ก็จะเกิดอาการไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่สนใจว่าองค์กรภาคประชาชนจะคิดเห็นอย่างไร แต่หากเป็นรัฐบาลผสม โอกาสของภาคประชาชนในการต่อสู้เรื่องนี้ก็ง่ายขึ้น

แต่ในระยะยาว เราต้องคิดถึงการสร้างฐานที่จะทำให้เกิด ‘พรรคการเมืองภาคประชาชน’ ซึ่งเป็นเรื่องยาก และไม่สามารถทำได้ภายใน 2-3 ปีนี้ เป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ ปูพื้นฐานและค่อยๆ สร้างขึ้นมา อาจจะทำขึ้นมาจากหลายๆ ขบวนการก็ได้ เช่น ขบวนการแรงงาน ก็สร้างตัวแทนขึ้นมาได้

แต่โดยหลักพื้นฐานแล้วจะต้องไม่มีนายทุนอุดหนุนพรรค ถ้าเป็นพรรคการเมืองภาคประชาชนจริงๆ จะต้องไม่มีเสี่ยใหญ่ๆ มาลงทุนให้ ต้องมาจากการลงขันร่วมกัน จากประชาชนที่เข้าเป็นสมาชิกพรรค เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องสร้างขึ้นมา มิเช่นนั้นระบบการเมืองน้ำเน่าที่เป็นระบบอุปถัมภ์อย่างเช่นปัจจุบันก็จะดำเนินต่อไป การเมืองไทยก็คงไม่ก้าวหน้า

สิ่งแรก คือ การสร้างการเมืองภาคประชาชน สอง คือ การสร้างพรรคการเมืองภาคประชาชน เสนอกฎหมายภาคประชาชน เรียกร้องกดดัน ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างนี้ต้องมาจากการต่อสู้ และต้องสร้างรากฐานที่เข้มแข็ง นั่นคือในระดับการเมืองท้องถิ่น กล่าวคือต้องทำให้ชาวบ้านขึ้นมาเป็นตัวแทนจริงๆ แล้วก็ต้องมีระบบประกันว่า พอชาวบ้านขึ้นมาเป็นตัวแทนแล้ว จะไม่เสีย จะไม่ถูกดึงไปอยู่กับนายทุน นี่คือเรื่องที่ต้องมีกลไกการตรวจสอบอยู่

เรื่องรัฐสวัสดิการ ต้องเป็นระบบที่กลมกลืนกันระหว่างรัฐบาลกลางกับชุมชน เนื่องจากทรัพยากรในแต่ละชุมชนมีไม่เท่ากัน รัฐสวัสดิการจะเป็นเพียงเรื่องแค่ชุมชนทำไม่ได้ ชุมชนแต่ละชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการได้ เช่น การตั้งโรงเรียน ตั้งศูนย์รักษาพยาบาลของชุมชน แต่รัฐบาลกลางต้องทำหน้าที่เกลี่ย หรือเฉลี่ยความเท่าเทียมให้กับทุกๆ ชุมชน กระจัดทรัพยากรให้ทุกๆ คน”

 

ตู้กับข้าวปะทะโลกาภิวัตน์

สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ผมขอเรียก “รัฐสวัสดิการ” ว่า “รัฐตู้กับข้าว” ผมจะขอตอบคำถามว่าทำไมรัฐไทยต้องการ และทำไมต้องมีรัฐสวัสดิการ แม้ว่าเราจะไม่ได้มีรากฐานหรือต้นกำเนิดเหมือนกับประเทศในยุโรป หรือประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย “ทำไมประเทศไทยต้องมีรัฐสวัสดิการ?”

เพราะประเทศของเราก้าวมาถึงยุคโลกาภิวัตน์ และยุคของเสรีนิยมใหม่ ซึ่งไม่ปรานีกับชนชั้นกลาง หรือชนชั้นใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งกลุ่มทุนเสรีนิยมใหม่จะเข้ามาแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า และจะเข้ามาขับไล่เราออกไปจากสิ่งที่เรากำลังขับเคลื่อนกันอยู่

พรรคการเมือง และสื่อมวลชนกระแสหลักต่างก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทน เป็นนายหน้าให้กับทุนนิยมโลกทั้งสิ้น พยายามที่เข้ามาแย่งชิงฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ซึ่งเป็นตู้กับข้าวของเราทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนยากจนเท่านั้น ทุนนิยมโลกกำลังเข้ามาเบียดขับชุมชนท้องถิ่นออกไปจากวงจรชีวิตของการอยู่อาศัยร่วมกัน เราจึงต้องยิ่งทำรัฐสวัสดิการ

อันเป็นระบบหลักประกันมาตรฐานขั้นต่ำของสังคม ทั้งทางกายภาพและจิตวิญญาณ ไม่ว่าจะเป็นมีหลักประกันการนับถือศาสนา และการปฏิบัติตามหลักความเชื่อทางวัฒนธรรมประเพณี และมีเสรีภาพทางการเมืองด้วย

 

รัฐสวัสดิการ ในการเมืองไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพรรคแนวร่วมภาคประชาชน

รัฐสวัสดิการเป็นเรื่องที่ภาคประชาชนขับเคลื่อนกันมานานแล้ว ส่วนตัวผมขอชูคำขวัญสำหรับรัฐสวัสดิการว่า “ถ้วนหน้า ครบวงจร และเก็บภาษีก้าวหน้า” กล่าวคือ ถ้วนหน้า คือ ทุกคนต้องอยู่ในระบบเดียว มีมาตรฐานเดียว รัฐสวัสดิการต้องไม่มีโรงเรียนสำหรับคนรวย แล้วก็มีโรงเรียนสำหรับคนจน

ครบวงจร คือต้องมีการทำอย่างเป็นระบบร่วมกัน ทั้งในด้านสุขภาพ สาธารณูปโภค ต้องมีน้ำสะอาด มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการมีสุขภาพที่ดีหรือไม่ด้วย รวมไปถึงระบบการศึกษา รายได้ ทั้งหมดเกี่ยวข้องกันหมด ไม่ใช่ (ทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง) เศษของสวัสดิการซึ่งเป็นแนวคิดของนายทุน ที่คิดว่าต้องมีรัฐสวัสดิการบ้างเท่านั้น

เราต้องเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ถามว่าระดับ GDP (จีดีพี - ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ต่อหัวของประชากรไทยทำรัฐสวัสดิการได้ไหม ตอบว่าได้ ในประเทศอังกฤษ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระดับ GDP ต่อประชากรชาวอังกฤษก็เท่ากับคนไทยปัจจุบันนี้ ผมจึงตอบว่าเราทำได้

ในประวัติศาสตร์การต่อสู้เรียกร้องเรื่องสวัสดิการของประเทศไทย บุคคลแรกที่กล่าวถึงเรื่องนี้คือ ปรีดี พนมยงค์ หลังปฏิวัติ 2475 ซึ่งถูกคัดค้านโดยอภิสิทธิ์ชนทั้งหลาย แล้วก็เขี่ยปรีดีออกจากอำนาจ ต่อมาก็เหตุการณ์นองเลือด ตุลา 2519 และต่อมาเมื่อไทยรักไทยสนใจจะทำรัฐสวัสดิการ แม้จะเพี้ยนไป สุดท้ายก็เกิดการรัฐประหาร 19 กันยา ไล่ผู้นำออกจากประเทศ นั่นคือประเพณีของเรา คือเคลื่อนไหวเรื่องรัฐสวัสดิการ ส่วนประเพณีของเขาก็คือการคัดค้าน

ผมให้ความสำคัญอย่างมากกับการสร้างพรรคภาคประชาชน เราต้องมีวิธีการรณรงค์ ต้องมีพรรค มีกระบวนการเคลื่อนไหว มีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง มีภาคประชาชนร่วมกันผลักดันความก้าวหน้าในสังคม พรรคการเมืองที่หาเสียงอยู่ในตอนนี้ ไม่มีพรรคใดเลยที่พูดถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชน ไม่มีการพูดถึงการเก็บภาษีรายได้ มรดก ทรัพย์สิน ที่ดิน เก็บภาษีจากคนรวยทุกคน รวมถึงตระกูลราชวงศ์ด้วย ไม่มีพรรคใดพูดถึงการถอดกำลังทหารออกจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่พูดถึงสิทธิสตรี กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ฯลฯ

พรรคการเมืองของภาคประชาชนต้องเชื่อมโยงกับขบวนการภาคประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งภายหลังสมัชชาเวทีสังคมไทย (TSF, ตุลาคม 2549) ที่มีการนำเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการขึ้นมา นั่นก็ทำให้พรรคการเมืองหยิบเรื่องนี้ไปหาเสียงด้วยเหมือนกัน

แน่นอนว่าต้องรณรงค์กันอีกนาน จนกว่าจะได้ สส.ภาคประชาชนขึ้นมาสักคน แต่ระหว่างทางที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้ ผมและเพื่อนๆ พรรคแนวร่วมภาคประชาชน ก็พยายามให้พรรคตั้งเป็นตุ๊กตาว่าพรรคการเมืองภาคประชาชนน่าจะเป็นแบบนี้ มีการจัดเก็บค่าสมาชิกพรรคแบบอัตราก้าวหน้า ใครมีเงินเดือนน้อยก็ให้น้อย มีมากก็ให้มาก ไม่มีผู้นำพรรค แต่มีการบริหารโดยใช้คณะกรรมการพรรค

พรรคการเมืองภาคประชาชนต้องมีการขับเคลื่อนร่วมกับขบวนการภาคประชาชนต่างๆ แต่องค์กรภาคประชาชนต่างๆ เหล่านั้นก็เป็นอิสระต่อกัน และสามารถกดดัน ลงโทษพรรคได้ หากไม่ปฏิบัติตามนโยบายพรรค ตรวจสอบพรรคได้ ซึ่งเกิดขึ้นจริงแล้วในประเทศบราซิล

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ สำหรับผมและเพื่อนๆ ก็ขอให้ออกไปทำบัตรเสีย หรือขีดเขียนระบายอะไรก็ได้ลงในบัตรเลือกตั้ง แต่! เราจะทำบัตรเสียอย่างนี้ตลอดไปได้หรือไม่ ผมคิดว่าเราไม่ควรจะใช้เวลานานมากนักในการจัดตั้งพรรคการเมืองภาคประชาชนของเราเอง”

รัฐสวัสดิการ (Welfare State)

ระบบทางสังคมที่รัฐให้หลักประกันแก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันในด้านปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น หลักประกันด้านสุขภาพ หลักประกันด้านการศึกษา หลักประกันด้านการว่างงาน หลักประกันด้านชราภาพ และหลักประกันด้านที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน เป็นต้น

ประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการจะใช้ระบบการเก็บภาษีแบบก้าวหน้า คือเก็บภาษีจากคนรวยในอัตราส่วนร้อยละของรายได้สูงกว่าคนจนมาก เก็บจากชนชั้นกลางในระดับพอประมาณ และเก็บจากคนจนน้อยหรือไม่เก็บเลยถ้าจนมาก อาจมีการเก็บเบี้ยประกันสังคมจากคนที่มีงานทำตามอัตราเงินเดือน เงินที่เก็บได้ทั้งหมดรัฐก็จะนำมาใช้จ่ายสำหรับบริการทางสังคมทั้งหมดในระบบรัฐสวัสดิการ ระบบนี้จึงเป็นการ ‘เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข’ คนที่มีรายได้ดีต้องช่วยจ่ายค่าบริการทางสังคมส่วนหนึ่งแก่คนที่ยากจนกว่า

นอกจากนี้จะเน้นไปที่ภาษีทางตรง คือเก็บจากรายได้ ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก และภาษีทรัพย์สิน (ซึ่งรวมถึงหุ้นด้วย) มากกว่าภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีน้ำมัน ภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะอย่างหลังจะถูกบวกในราคาสินค้า รวมถึงสินค้าจำเป็นอุปโภคบริโภค ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม เพราะคนรวยคนจนก็บริโภคสิ่งจำเป็นพอๆ กัน ทำให้คนจนเสียภาษีทางอ้อมในสัดส่วนที่มากกว่าคนรวย

สร้างรัฐสวัสดิการ ยับยั้งกลไกลตลาดเสรี ปฏิรูประบบภาษี

รัฐสวัสดิการเป็นสิทธิของพลเมืองทุกคน ไม่ต้องเป็นการขอทาน ซึ่งเป็นระบบที่ปกป้องศักดิ์ศรี รัฐสวัสดิการควรมีองค์ประกอบสำคัญดังนี้

  • สวัสดิการในรูปแบบเงิน คือ สวัสดิการที่ประชาชนสามารถเบิกจากรัฐในกรณี ลาป่วยบำเหน็จบำนาญเกษียณ สวัสดิการว่างงาน สวัสดิการลาคลอด สวัสดิการเลี้ยงดูบุตร และสวัสดิการเพิ่มรายได้สำหรับคนที่มีรายได้ต่ำ แต่มีงานทำ ฯลฯ

  • ระบบรักษาพยาบาลและยาฟรี ที่ไม่ต้องจ่ายล่วงหน้า ซึ่งรวมถึงสถานดูแลคนชรา และโรงพยาบาลโรคจิตด้วย ระบบการศึกษาฟรีจากอนุบาลถึงระดับมหาวิทยาลัย พร้อมทุนศึกษาแบบ “ให้เลย” เพื่อไม่ให้นักศึกษาเป็นภาระกับครอบครัว

  • ความมั่นคงและมาตรฐานในการมีที่อยู่อาศัย ที่สร้างโดยรัฐในราคาถูกแต่มีคุณภาพ ซึ่งจัดให้ประชาชนเช่า

  • มาตรการเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น ระบบการคมนาคมขนส่งมวลชนในราคาถูกที่รัฐอุดหนุนซึ่งช่วยเสริมประสิทธิภาพในการเดินทาง การสนับสนุนกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมต่างๆ โดยรัฐ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ และนอกจากนี้ อาจมีสื่อมวลชนแบบวิทยุหรือโทรทัศน์ที่เป็นของรัฐที่ไม่มุ่งหากำหรอีกด้วย โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

  • ระบบนักสังคมสงเคราะห์ ที่ให้คำแนะนำกับผู้มีปัญหา ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้ครอบครัว และช่วยคนจนเข้าถึงบริการต่างๆ

  • ระบบการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า โดยตรงที่เก็บจากรายได้ กำไร มรดก และทรัพย์สิน (รวมถึงที่ดิน) โดยมีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำ เพราะเก็บจากคนรวยในอัตราสูงและนอกจากนี้เป็นแหล่งทุนที่ดีที่สุดสำหรับงบประมาณของรัฐสวัสดิการด้วย

  • รักษามาตรฐานความเป็นอยู่ของทุกคน ที่พักอยู่ในประเทศ ดังนั้นสวัสดิการต่างๆ สามารถใช้ได้โดยคนต่างชาติที่มาพักชั่วคราว ศึกษาหรือทำงานในประเทศได้ ในกรณีแรงงานที่มาจากต่างประเทศ สิทธิในสวัสดิการดังกล่าวไม่เป็นภาระเลยเพราะการที่เขาเข้ามาทำงานสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ และจ่ายภาษีอีกด้วย

สร้างโดย: 
นาย ชัชวาล อภิชาติชัยกุล เลขที่ 9 และ นาย วิสุทธิ์ อภิสุทธิกุล เลขที่ 15 ชั้น ม.4/3
รูปภาพของ silavacharee

ตรวจแล้ว เนื้อหาที่ให้ทำคือ การจัดรัฐสวัสดิการของประเทศอังกฤษ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ลองอ่านไหม่ ว่าเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ทำมาหรือไม่ ถ้าไม่เกี่ยวข้องกันให้ทำส่งไหม่ และไม่บอกว่าเรียนอยู่ห้องใหน

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 620 คน กำลังออนไลน์