มาลองดู"กิจกรรมเข้าจังหวะ"กัน

กิจกรรมเข้าจังหวะ (rhythmic activities)

ความมุ่งหมายของกิจกรรมเข้าจังหวะ
    1. เพื่อให้เด็กได้รับความสนุกสนาน ร่าเริงจากการเล่นกิจกรรมเข้าจังหวะ
    2. เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสแสดงออกและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
    3. เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์การเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างมีจังหวะ
    4. เพื่อพัฒนาร่างกายให้มีความสง่างาม
    5. เพื่อพัฒนาด้านสังคมและความร่วมมือในหมู่คณะ
    6. เพื่อให้เกิดความซาบซึ้งต่อสุนทรียภาพในการเคลื่อนไหวเข้าจังหวะ
    7. เพื่อให้มีความรู้ในเรื่องราวของกิจกรรมเข้าจังหวะ

ขอบข่าย
    วิชาการเล่นเป็นจังหวะนี้ ได้กล่าวแล้วว่าได้แก่กิจกรรมการเล่นทุกชนิดที่ทำให้เข้ากับจังหวะ ฉะนั้นอาจจะแยกออกเป็นประเภท ได้ดังนี้

1. การเคลื่อนไหวเบื้องต้น (Fundamental Movement or Basic Movement)
แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
        - การเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่ (Locomotor Movement)
        - การเคลื่อนไหวแบบอยู่กับที่ (Non Locomotor Movement)

การเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่แบ่งออกเป็น 8 อย่างดังนี้ 

    เดิน (walk)                                               
      คือการเคลื่อนไหวด้วยการก้าว เป็นการเปลี่ยนน้ำหนักตัวจากเท้าหนึ่งไปยังอีกเท้าหนึ่ง และขณะที่เปลี่ยนน้ำหนักตัวนั้น เท้าข้างหนึ่งจะอยู่บนพื้นเสมอ 
    วิ่ง (run)            
      คือการก้าววิ่งแบบธรรมดาลงสู่พื้นด้วยเท้าที่ขนาน ลำตัวเอนไปข้างหน้าเล็กน้อย งอแขนกำมือหลวมๆแกว่งขึ้นลงตรงๆ จังหวะที่ก้าวเท้าตกลงสู่พื้นจะต้องเข้ากับจังหวะดนตรี 
    เขย่ง (hop)         
      คือการกระโดดเท้าเดียวขึ้นจากพื้น แล้วลงด้วยเท้าใดเท้าหนึ่งเพียงข้างเดียว เท้าที่ตกลงสู่พื้นนั้นจะต้องเข้ากับจังหวะดนตรีด้วย 
    กระโดด (jump)  
      คือการกระโดดขึ้นจากพื้นด้วยเท้าทั้งสอง และลงด้วยเท้าทั้งสองเช่นกัน จังหวะที่เท้าลงสู่พื้นต้องเข้ากับจังหวะดนตรี 
    วิ่งโหย่ง (leap) 
      คล้ายกับวิธีวิ่ง แต่การวิ่งโหย่งนั้นช้ากว่าธรรมดา คือลอยตัวอยู่ในอากาศนานกว่า จังหวะที่เท้าลงสู่พื้นที่ต้องเข้ากับจังหวะดนตรี 
    วิ่งสลับเท้า (skip) 
      คือการก้าวเท้าและวิ่งเขย่งสลับกันนั่นเอง แต่เป็นไปอย่างรวดเร็วเหมือนกับการวิ่ง การเขย่งนั้นก็เป็นการเขย่งที่ก้าวไปข้างหน้ามากๆทุกครั้งที่กระโดดต้องให้เข้ากับจังหวะดนตรี 
    ลื่นไถล (slide) 
      คือการก้าวโดยลากเท้าข้างหนึ่งไปและลากเท้าอีกข้างหนึ่งมาชิด การลากเท้าไปชิดแต่ละครั้งจะต้องให้เข้ากับจังหวะดนตรี 
    ควบม้า (gallop)  
      ให้กระโดดก้าวเท้าซ้ายไปวางข้างหน้าในเวลาไล่เลี่ยกันให้กระโดดก้าวเท้าขวาไปวางหลังเท้าซ้ายทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ แต่เท้าซ้ายต้องอยู่ข้างหน้าเสมอ (เท้าใดอยู่ข้างหน้าก็ให้อยู่ข้างหน้าตลอด) แต่ละครั้งที่เท้าหน้าลงสู่พื้นต้องให้พอดีกับจังหวะดนตรี 
       
  การเคลื่อนไหวแบบ Non Locomotor Movement
    เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่เคลื่อนที่ เพราะฉะนั้นมักจะเป็นการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับแขน มือ ลำตัว และส่วนอื่นมากกว่า ทักษะการเคลื่อนไหวเบื้องต้นเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการเรียนกิจกรรมเข้าจังหวะประเภทอื่นๆต่อไป (รวมทั้งกีฬาเกือบทุกชนิดด้วย) ดังนั้นจึงควรฝึกทักษะทั้ง 8 อย่างนี้เป็นอย่างดี กิจกรรมต่างๆที่สามารถนำมาสอนได้แก่ เก้าอี้ดนตรี เต้นและก้ม เครื่องบินขึ้นฟ้า และม้าวิ่ง รถไฟวิ่ง เพลงกระต่ายขี้เซา Go Round and Round The Village, Oh Susana, A hunting We Will Go, etc. 

2. การเล่นประกอบเพลง (Singing game)
หมายถึง การละเล่นที่ใช้การร้องเพลงประกอบ มักจะเป็นการเต้นที่ใช้ทักษะการเคลื่อนไหวเบื้องต้นง่ายๆชนิดเคลื่อนที่ โดยวิธีสอนการเล่นประกอบบทเพลงมีส่วนประกอบดังนี้

  สอนร้องเพลง   
    1) ให้ฟังเพลงพร้อมทั้งฮัมเพลงและเคาะจังหวะไปด้วย
    2) ครูร้องและให้เด็กร้องตามเป็นวรรค
    3) ครูและเด็กร้องพร้อมๆกัน
    4) ให้เด็กฝึกร้องกันเอง
 
     
  สอนท่าเต้น   
    1) สอนและสาธิตให้ดูและให้เด็กทำตามทีละขั้น
    2) รวมขั้น (Step) ต่างๆ เข้าด้วยกันตามแบบการเต้นของเพลงนั้น
    3) ทบทวนท่าการเต้นทั้งหมดอีกครั้ง
    4) ให้เด็กทบทวนท่าเต้นเอง 
     
  รวมการเต้นและเพลงเข้าด้วยกัน  
    1) ครูร้องเพลงพร้อมสาธิตท่าเต้นให้ดูทีละวรรคและให้เด็กทำตาม
    2) ครูและเด็กทำท่าเต้นพร้อมกันโดยครูเป็นตัวอย่างและให้คำแนะนำ
    3) ให้เด็กแยกไปฝึกหมู่
    4) ให้เด็กทั้งหมดมารวมให้พวกหนึ่งร้องเพลงและพวกหนึ่งเต้น
    5) ให้ร้องเพลงและเต้นพร้อมกัน
 

3. การเคลื่อนไหวตามบทเพลง (Motion Song, Action Song)
    หมายถึง เพลงร้องที่มีการทำท่าประกอบ การเล่นตามบทเพลงนี้เป็นการเล่นที่เพิ่มความสนุกสนานให้กับเด็กมากยิ่งขึ้น การเล่นประเภทนี้นอกจากจะให้เด็กออกกำลังกายด้วยการเล่นเกมต่างๆแล้ว ยังเพิ่มกิจกรรมการร้องรำทำเพลงประกอบเข้าไปด้วย ครูอาจจะคิดเกมการเล่นขึ้นมาเองและแต่งเพลงให้เด็กร้อง ขณะเดียวกันก็พยายามแทรกเนื้อหาที่ส่งความรู้และความสามารถของเด็กหรือแก้ไขข้อบกพร่องของเด็กไปในตัว การเล่นตามบทเพลงนี้มีอยู่หลายเกมด้วยกัน ได้แก่ มอญซ่อนผ้า เป็นต้น

4. การเล่นพื้นเมือง (Folk Dance)  
    การเต้นรำพื้นเมือง Folk Dance หมายถึง การเต้นรำประจำท้องถิ่นหรือประเทศนั้นๆ ที่นิยมเล่นกันแพร่หลายตลอดมาทุกยุคทุกสมัย เป็นการเล่นที่ไม่ยากนัก มักจะเล่นเป็นหมู่ ใครๆก็สามารถเข้าร่วมเล่นได้ ถ้าได้รับการฝึกเพียงนิดหน่อย เช่น รำวง เต้นรำอินเดียนแดง สำหรับประเทศไทยเรามักจะมีชั่วโมงขับร้องและฟ้อนรำอยู่แล้วในหลักสูตร เด็กไทยก็มักจะได้ทำการเรียนฟ้อนรำต่างๆเหล่านี้มาแล้ว

5. กิจกรรมการเลียนแบบ (Immitative) 
    คือ การเล่นที่ใช้ท่าทางและการแสดงออกที่เลียนแบบสิ่งต่างๆ ซึ่งอาจได้แก่ การเลียนแบบสัตว์ พาหนะต่างๆเป็นต้น การเรียนกิจกรรมประเภทนี้ ไม่จำเป็นต้องแสดงท่าให้ผู้เรียนดู เป็นเพียงแต่ผู้บอกท่าทางที่จะให้เด็กเลียนแบบ เด็กก็จะคิดท่าทางเลียนแบบเองตามความคิดและความเข้าใจของเด็กเอง

จุดมุ่งหมายของกิจกรรมการเลียนแบบ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ในการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อให้นักเรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ๆของร่างกาย และสุดท้ายเพื่อให้เด็กได้รับความสนุกสนานในการเล่น กิจกรรมเลียนแบบสัตว์ เช่น หมีเดิน เดินแบบลูกหมา กระโดดกระต่าย เป็นต้น กิจกรรมเลียนแบบยานพาหนะต่างๆ เช่น รถไฟวิ่ง เครื่องบินตก แจวเรือ เป็นต้น

6. การเล่นเป็นนิยาย (Story Play)  
    เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ควรจัดให้มีสำหรับเด็กในวัย 5-8 ปี (วัยเด็กตอนต้น) เพราะเด็กในวัยนี้ชอบสร้างสรรค์จินตนาการและชอบเลียนแบบ จำแบบอย่างที่ได้พบเห็นมาเล่น ครูจะเล่านิทานหรือนิยายให้เด็กฟัง ให้เด็กเกิดจินตนาการและให้เด็กเคลื่อนไหวไปตามเนื้อเรื่องที่ครูเล่า เช่น เรื่องทัศนาจรเชียงใหม่ คนตัดต้นไม้กับเทพารักษ์ ครูกำหนดให้เด็กเป็นตัวละครในเรื่อง ตัวแสดงย่อมเคลื่อนไหวไปในลักษณะต่างๆตามที่ครูเล่า

จุดมุ่งหมายของกิจกรรมการเลียนแบบ เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ๆของร่างกาย  ให้เด็กได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นออกมา ฝึกให้เด็กรู้จักการเล่นร่วมกับผู้อื่น เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงและเล่นละครอย่างเป็นกันเอง ฝึกให้เด็กรู้จักการทำงานร่วมกัน ฝึกการเป็นผู้นำและผู้ตาม และสุดท้ายเพื่อให้เด็กได้รับความสนุกสนานในการเล่น

7. การเล่นแบบคิดสร้างสรรค์ (Creative Rhythms)
        สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 อย่างคือ
        1. Identification Rhythms
        2. Dramatic Rhythms
พื้นฐานทั้งสองนี้ คือ การรู้จักคิดและตีความหมายไปตามการเคลื่อนไหว สภาพห้องจะต้องมีอิสระในการคิดสร้างสรรค์ ตีความหมายของดนตรีและแสดงท่าทางตอบโต้เสียงดนตรีนั้นๆได้ กิจกรรมประเภทนี้เหมาะสำหรับเด็กนักเรียนในชั้นประถมศึกษามากกว่า โดยเฉพาะในชั้นประถมต้น (5-8 ปี) เพราะเด็กในวัยนี้ชอบสร้างจินตนาการและเลียนแบบ


-Identification
    ได้แก่กิจกรรมเข้าจังหวะที่เลียนแบบหรือสมมุติให้เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามจังหวะของดนตรี เช่น พวกสัตว์ต่างๆ ได้แก่ ช้าง ม้า, คนได้แก่ ทหาร อินเดียนแดง, วัตถุได้แก่ ตุ๊กตาล้มลุก, นิยาย ได้แก่ นางฟ้า เทวดา คนแคระ, เครื่องจักร ได้แก่ รถไฟ เครื่องบิน เป็นต้น
-Dramatic
    ได้แก่ กิจกรรมที่นักเรียนจะแสดงออกเป็นเรื่องราวจากความคิดคำนึงของนักเรียนเอง จากนิทาน หรือจากเหตุการณ์ทั่วๆไปที่นักเรียนคุ้นเคย เช่น ไปล่าสัตว์ อยู่ค่ายพักแรม เป็นอินเดียนแดงโจมตีคนผิวขาว เรื่องรบกัน เล่นเป็นสโนไวท์กับคนแคระ ฯลฯ


8. การลีลาศ (Social Dance)  
การลีลาศ แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดด้วยกัน


-Ball Room
    หมายถึงการลีลาศตามแบบแผนที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมเป็นที่นิยมกันทั่วไป เป็นการเต้นที่ช้าๆ เต็มไปด้วยความสง่างาม การลีลาศแบบ Ball Room นี้มีอยู่ด้วยกัน 4 อย่าง คือ Slow Foxtrot, Quick Step, Waltz & Tango
-Latin
    หมายถึงการเต้นรำที่มีจังหวะรวดเร็วมีอยู่หลายชนิดเปลี่ยนแปลงไปตามความนิยมของแต่ละยุคแต่ละสมัย เด็กหนุ่มสาวนิยมกันมาก
การตอบสนองจังหวะเพลงของเด็กแต่ละคน
จำเป็นที่จะต้องสอนให้รู้จักและคุ้นเคยกับจังหวะเสียก่อน

เครื่องดนตรีประกอบกิจกรรม
    เครื่องดนตรีบางอย่างมีความจำเป็นสำหรับเป็นเครื่องให้จังหวะประกอบ ให้นักเรียนเคลื่อนไหวให้เข้ากับจังหวะนั้น เสียงดนตรีจะเป็นเครื่องเร้า ให้เกิดความรู้สึกทางอารมณ์ ฉะนั้นการเลือกเครื่องดนตรี จึงเป็นสิ่งที่สำคัญจะต้องเลือกหาชนิดที่มีเสียงเร้าใจ เครื่องดนตรีเช่นกลอง เหมาะสำหรับตีให้จังหวะในการสอนการเคลื่อนไหวเบื้องตนเพราะมีเสียงจำกัดและชัดเจน ตีให้จังหวะช้าเร็วได้สะดวกและฟังง่าย

สถานที่สำหรับกิจกรรมเข้าจังหวะ
    ควรให้มีบริเวณกว้างพอที่จะเคลื่อนไหวได้สะดวก จะเป็นพื้นหญ้า พื้นไม้ หรือซีเมนต์ก็ได้ ข้อสำคัญ จะต้องเป็นพื้นราบเรียบไม่มีสิ่งกีดขวางอื่นๆ เช่น โต๊ะ เป็นต้น

สร้างโดย: 
ครูรัฐธรรมนูญ

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 410 คน กำลังออนไลน์