กว่าจะถึง..เมือง "ปาย"

          คนไทยเพิ่งจะแห่เที่ยวปายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยิ่งมีการออกบู๊ธไทยเที่ยวไทย โปรโมชั่นที่พัก บวกด้วยแพคเกจพาเที่ยวเมืองปาย และการประชาสัมพันธ์ผ่านละครหรือรายการต่างๆ ด้วยแล้ว คงไม่ต้องบอกว่าจะเกิดอะไรตามมา
          คนเยอะมากๆ.. 
          อาจเป็นด้วยเมืองปายไม่ใช่เมืองขนาดใหญ่ เวลาคนไปเที่ยวทั้งโดยนัดหมายและมิได้นัดหมาย ก็เลยทำให้เมืองๆ นี้ดูแคบไปถนัดตา
          มองโลกแง่ดี มีเงินไหลเข้าสู่ผู้ประกอบการรายย่อม รายใหญ่ อิ่มหนำกันถ้วนหน้า

          แวะเชียงใหม่ 1 คืน
          โปรแกรมสั้นๆ สำหรับการเที่ยวปาย 3 วัน 2 คืน กำลังดี เหมาะกับคนที่ลางานหลายวันไม่ได้ และพอจะเที่ยวจนรู้จักปายในบางมุม …เธอคือใคร ? ทำไมใครต่อใครถึงได้พูดถึงเธอมากมายขนาดนี้!!
          พี่นู๋ “ซูชี๋” ขอไปพิสูจน์เสน่ห์ปายหน่อยเหอะ…
          13-14-15-16 พฤศจิกายน ตีตราจองเพื่อนสนิทกะรถคู่ใจ 
          ได้เวลาขึ้นเหนือกันแล้ว ! 
          หลังติดต่อห้องพักเรียบร้อย เป็นอันชัวร์ว่าไม่ต้องแอบไปเป็นกะเหรี่ยงเดินหาที่พักให้เสียเวลา และเพื่อให้มั่นใจว่าได้ที่พักดี ราคาสมเหตุสมผล (ออกแนวขอถูกแต่คุ้มค่า -_-)
          ถูกและดี.. แนะนำให้ซื้อห้องพักจากงานไทยเที่ยวไทย ปีที่แล้วจัดถี่เหลือเกิน
คิดในใจอาจเป็นไปได้ว่า ไหนๆ หัวดำหัวแดงนอกประเทศยกเลิกห้องพักไปด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการ(ม็อบ)เมือง หันมาขายทัวร์ปิดท้ายปลายปีกับพี่ไทยแทน อุดหนุนคนไทยด้วยกันในยามที่ง้อต่างชาติไม่สำเร็จ จะเป็นไรไป!
          ใครที่ซื้อห้องพักผ่านอินเทอร์เน็ต ต้องเช็คผ่านเว็บไซต์เอเจนท์หลายๆ ที่ แต่ละรายให้ราคาไม่เท่ากัน เช็คกับเว็บเอเจนท์ไม่พอ ต้องเช็คราคาในเว็บของโรงแรมโดยตรงด้วย และทางที่ดีให้โทรศัพท์สายตรงไปที่โรงแรมอีกทีหนึ่ง 
          เจอมาแล้ว.. จองทางโทรศัพท์ เผลอๆ ถูกกว่าจองผ่านเอเจนท์ หรือผ่านเว็บไซต์โรงแรม  
          บางโรงแรมก็ใจร้าย.. ถ้าจองผ่านเว็บไซต์ ให้ราคาฝรั่งถูกกว่าคนไทยก็มี(งี้ด้วย!)

          จากกรุงเทพฯ ออกเดินทางตั้งแต่ตี 5 หนีรถติด รีบบึ่งออกมาก่อนเป็นดีที่สุด ขับตรงไปแวะเชียงใหม่ 1 คืน ก่อนที่จะออกเดินทางตอนเช้าไป “ปาย” 
          มื้อเช้ากินแบบง่ายๆ ที่นครสวรรค์ ไก่ย่าง ข้าวเหนียว เอาแค่พออิ่มท้อง พร้อมน้ำส้มอีกคนละแก้ว เดินทางไกล ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในรถ จึงไม่จำเป็นต้องเติมพลังมากมาย 
          มื้อกลางวันจอดแวะกินที่ลำปาง “ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกทุ่งรุ่งเรือง” ร้านอยู่ปากทางเข้าวัดย่าเป้า ทางที่จะตรงไปลำพูน เชียงใหม่ จอดรถได้หน้าร้านและเลยเข้าไปหน่อย บริเวณหน้าวัด
          ร้านนี้เปิดขายสองห้อง คนเต็มตลอด ก๋วยเตี๋ยวแยกหม้อ เนื้อวัวและเนื้อหมู จะสั่งก๋วยเตี๋ยวคนละชาม ลูกชิ้นลวกจิ้ม หรือเนื้อลวกจิ้ม จดใส่กระดาษส่งให้แม่ค้า ส่วนผักสดและน้ำเปล่า บริการตัวเองจ้ะ 
          อิ่มแล้วแวะซื้อกล้วยแขก ร้านรถเข็นอยู่ใกล้กับร้านก๋วยเตี๋ยวเป็นของหวานตบท้าย (รู้ว่าอ้วน..และกล้วยอาจฆ่าคุณได้..แต่นานๆ ที) อดซื้อชิมไม่ได้ เพราะขี้สงสัยทำไมขายดีนัก อร่อยหรือเปล่า.. คำตอบอยู่ที่ลิ้นคนกิน !!


          ผ่านลำปาง ไปลำพูน อีกไม่กี่กิโลเมตรก็ถึงเชียงใหม่แล้ว..
          คราวก่อนมาเชียงใหม่ ไปพักที่โรงแรมธาริน มาเชียงใหม่ครั้งนี้อยากเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง จองโรงแรมเชียงใหม่ภูคำไว้ ขับรถไปตามทางที่จะไปดอยสุเทพ อยู่ก่อนถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 

 

 เมืองเชียงใหม่เมื่อมองจากห้องพักโรงแรม

         

          เช็คอินเสร็จ วางกระเป๋าพักเหนื่อยในห้องหลังอุดอู้อยู่ท้ายรถมาหลายชั่วโมง ส่วนเจ้าของกระเป๋านั่งรถสองแถวเข้าเมืองไปหากลิ่นอายเมืองเหนือ 
          รถสองแถวที่นี่คิดค่าบริการต่อคน 20 บาทเป็นขั้นต่ำ เรียกตรงไหนก็จอด เรียกไปไหนก็ไป ราคาขึ้นอยู่กับระยะทาง (แพงกว่านั่งรถเมล์ที่กรุงเทพฯ ตั้งเยอะ! อดคิดไม่ได้ทุกทีที่ไปต่างจังหวัด ค่าแรงต่ำกว่ากรุงเทพฯ แล้วทำไมค่ารถโดยสารถึงได้แพงนัก *-*) 
          ช่วงที่ไปเชียงใหม่ เพิ่งมีข่าวการต่อต้านการจัดผังเมืองใหม่ในเทศบาลเชียงใหม่ ตามร้านค้าและถนน จึงมีป้ายคัดค้าน แสดงความไม่เห็นด้วยอยู่ทั่วตลาด คนเดือดร้อนมีไม่ใช่น้อย ไม่รู้จะช่วยยังไง ได้แต่ท่องไว้ ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

 

          นับว่าโชคดีมีเวลาแอ่วเชียงใหม่ในงานประเพณียี่เป็งพอดี ซึ่งเป็นวันจัดงานวันสุดท้ายหลังค่ำคืนลอยกระทงเมื่อวันที่  13 พฤศจิกายน

          ระหว่างรอให้ค่ำมืดตามเวลาของพิธีการจะเริ่ม ถือโอกาสไหว้พระขอพรที่วัดเกตการาม (พระเกษแก้วจุฬามณี)
          วัดเกตการาม หรือวัดเกต เป็นวัดที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตั้งแต่ปีพ.ศ.2518 เป็นวัดเก่าแก่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง สร้างเมื่อปี พ.ศ.1971 สมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน กษัตริย์ราชวงศ์มังราย พระราชบิดาของพญาติโลกราช ในช่วงที่พระองค์ครองราชย์ พ.ศ.1954-1985 
          พระธาตุวัดเกตเป็นที่ประดิษฐานของพระเกศาธาตุ เดิมชาวบ้านเรียกว่า พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี ถือเป็นการจำลองพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาไว้ในโลกมนุษย์ ดังนั้นจึงสร้างให้ยอดพระธาตุเอียง เพื่อมิให้ยอดชี้ขึ้นไปตรงกับองค์ที่อยู่บนสวรรค์ เพราะถือว่าเป็นการไม่สุภาพ
          พระธาตุวัดเกต เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีจอ ตามความเชื่อโบราณ เมื่อมนุษย์สิ้นอายุขัย ดวงวิญญาณจะไปสถิตอยู่ตามพระธาตุเจดีย์ต่างๆ ตามปีที่เกิด และขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ หากได้ไปนมัสการพระธาตุประจำปีเกิด ถือได้ว่าเป็นบุญกุศลและทำให้อายุมั่นยืนยาว
          ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น วิหารชด เป็นสถาปัตยกรรมภายในวัดเกตการามที่สร้างขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หลังคาวิหารซ้อนกัน 4 ชั้น รวมหลังคาที่คลุมมาถึงบันไดเป็น 5 ชั้น พิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมวัตถุเครื่องใช้ที่เจ้าหลวงและพระญาติของล้านนาในอดีตนำมาถวายเป็นพุทธบูชา อาคารไม้โรงเรียนนักธรรม ที่สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2462 และพระอุโบสถที่มีลวดลายศิลปะที่ไม่ได้หาชมได้ง่ายๆ เสียดายที่สุภาพสตรี มีโอกาสได้ชมเพียงด้านนอกเท่านั้น

 

          มาถึงเชียงใหม่ทั้งที อุดหนุนกระทงใบน้อย ตั้งใจอธิษฐาน ปล่อยไปกับสายน้ำปิง ..สบายใจ

          ปีนี้จังหวัดอื่นจัดงานประเพณีลอยกระทงเสร็จสิ้นไปตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน แต่ที่เชียงใหม่มีงานยี่เป็งเพิ่มขึ้นอีก 1 วัน ซึ่งเป็นวันที่จัดขบวนแห่ที่เรียกว่า “ขบวนประกวดกระทงใหญ่ ชิงถ้วยพระราชทานฯ” เลยพลอยได้สนุกกับคนเชียงใหม่ไปด้วย

 

          งานประเพณียี่เป็ง จัดขึ้นบริเวณกาดหลวง หรือตลาดเทศบาลเชียงใหม่ ต่อเนื่องไปที่ริมน้ำปิง สะพานนวรัฐ กิจกรรมมีให้เลือกชมทั้งเวทีดนตรี งานวัด จำหน่ายสินค้า และใครใคร่ลอยโคม หรือลอยกระทง ก็เลือกได้ตามความสำราญ 

  


          โคมมีให้เลือกหลายขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ ราคา 25, 30, 50 บาท ขึ้นอยู่กับพ่อค้าแม่ค้า ขนาดเล็กของร้านนี้ อาจเป็นขนาดกลางของอีกร้าน ดังนั้นควรเปรียบเทียบราคากับขนาดของโคมเพื่อความได้เปรียบของเราเอง (ตามประสา..ไม่ยอมขาดทุนง่ายๆ)

 

          ลอยโคมไปพร้อมความทุกข์.. ลอยได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และครอบครัว 
          เสียดายตรงที่การลอยโคมเริ่มพิสดารมากขึ้น วัยรุ่นนี่ชอบนักเชียว ติดประทัดหรือพลุไปกับโคมด้วย ไม่รู้ว่าสร้างสรรค์ตรงไหน !! ไม่กล้าเดินเข้าไปถาม กลัวได้ลูกประทัดที่จุดชนวน โยนกลับมาเป็นคำตอบ..
          เรื่องประทัดต้องระวังหน่อย โยนกันไป โยนกันมา ตั้งใจจะเข้าไปเที่ยว อาจได้แผลเป็นของฝาก โดยหาผู้รับผิดชอบไม่ได้..

          ไหนๆ มาถึงเชียงใหม่ ถ้าไม่กินขันโตกก็ต้องหาอาหารพื้นเมืองกิน โชคดีได้คนพื้นที่ พาไปชิมที่ร้านบ้านไร่ยามเย็น 
          ร้านนี้เปิดบริการ 11.00-24.00 น. บรรยากาศดี อาหารอร่อย (โดยการโหวตจากคนร่วมโต๊ะ) เหมาะสำหรับคนกรุงเทพฯ ที่โหยหาอาหารเหนือแต๊ๆ เจ้า
          อร่อยทุกเมนูที่สั่ง ได้แก่ แอบผึ้ง ส้าผัก ต้มเห็ดถอบ ยำยอดมะขาม แกงผักหวาน แมงมันทอด เป็นจานเด็ดที่หน้าตาค่อนข้างแปลก แต่รับประกันว่าหากินยากในกรุงเทพฯ (ร้านบ้านไร่ยามเย็น โทร.0-5324-4796, 0-5324-7999)

 

แอบผึ้ง-แกงผักหวาน-แมงมัน

          ปาย..รออยู่
          อิ่มจากอาหารมื้อเช้าที่บวกราคาอยู่ในห้องพักที่จ่ายไปจนแน่ใจว่าจะไม่หิวจนกว่าจะเดินทางถึงอำเภอปาย 
          ตื่นเต้นและตัดสินใจอยู่พอควร หลังจากได้ยินมาว่าถนนหนทางทรหดไม่น้อย 
          ไหนๆ ก็ไปปายครั้งแรก สักครั้งหนึ่งที่ได้ลองขับรถไปเอง จะได้กลับไปคุยถูก จริงอย่างว่า..หรือ?

          จากเมืองเชียงใหม่ มุ่งหน้าถึงปาย 98 กิโลเมตร และถ้าจะไปแม่ฮ่องสอน 207 กิโลเมตร 
          ระยะทางแค่นี้ การขับขี่บนถนนพื้นราบสบายมาก อาจใช้เวลาไม่นาน แต่สำหรับเส้นทางที่ต้องขับผ่านข้ามเขาขึ้นลงแต่ละเขา ต้องเพิ่มเวลาเดินทางอีกไม่น้อยกว่า 3 เท่า 
          98 กิโลเมตร กว่าจะถึงปาย จึงต้องใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น กรณีไม่คุ้นทาง หรือต้องการแวะพักระหว่างทาง (ระหว่างทางไปมีร้านกาแฟหลายร้าน ให้นั่งจิบพร้อมชมทิวทัศน์รอบขุนเขา) ขับไป แวะไปแบบไม่เร่งรีบ วิธีนี้ดีไปอีกแบบ
หายห่วงเรื่องสภาพถนนตลอดระยะทางดี เพียงแต่ว่าวิ่งได้แค่สองเลน คือ รถสวนไป กับรถสวนมา
          และไม่ต้องตกใจถ้าจะเห็นรถมอเตอร์ไซค์ตั้งแถวเป็นขบวน ชวนกันไปเที่ยวปาย บ้างก็ขี่ไปเป็นคู่กับหวานใจ 
          เห็นฝีมือบรรดาสิงห์นักขี่แล้วต้องยกนิ้วให้ทั้งไทยและฝรั่ง ผ่านเขาลูกแล้วลูกเล่าอย่างสบายใจ

          การเดินทางไป “ปาย” สามารถเลือกได้หลายวิธี
          ^-^ ขับรถไปเอง.. ไปถึงปายเลยแหละ แต่ต้องระวังหน่อยสำหรับมือใหม่ที่ไม่ชินการขับขึ้นลงเขา ไม่ว่ารถเกียร์กระปุก หรือออโตเมติค เก๋ง กระบะ รถตู้ รถบัสเล็ก เดินทางไปได้ไม่ลำบาก ขอแค่เบรคดี สมรรถนะพร้อม ไม่เกเร ควรศึกษาวิธีการขับขี่เพื่อความปลอดภัย เช่น การขับเข้าโค้ง ควรลดความเร็วรถ หรือใช้เกียร์ต่ำขณะใช้เส้นทางลาดชัน คอยสังเกตป้ายบอกสภาพถนน และใช้ความเร็วตามที่กำหนดตลอดระยะทาง


          ^-^ นั่งรถทัวร์ไปลงเชียงใหม่ แล้วต่อรถตู้ที่ท่ารถเชียงใหม่คนละ 150 บาท รถตู้ออกตั้งแต่ 7 โมงเช้า สิ้นสุดปลายทางที่ตลาด จากนั้นจะเช่ารถมอเตอร์ไซค์ จักรยาน หรือเหมารถตู้นำเที่ยวในอำเภอปาย ก็สามารถใช้บริการได้ในย่านเดียวกัน
          ^-^ ขับรถไปจอดไว้ที่เชียงใหม่ แล้วเช่ารถตู้นำเที่ยวจากเชียงใหม่ หรือใช้บริการรถตู้จากรีสอร์ทบางแห่งที่ให้บริการ ค่าเช่าขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการ ประมาณ 1,500-1,800 บาทต่อวัน รวมคนขับแต่ไม่รวมค่าน้ำมัน ควรเลือกใช้เช่ารถตู้ที่ชำนาญทาง เพราะจะนำเที่ยวได้ด้วย 
          ^-^ นั่งเครื่องบินไปลงที่ปาย วิธีนี้สะดวกแต่ไม่ได้อรรถรสการสัมผัสเส้นทางที่คดเคี้ยว 700 กว่าโค้ง รับรองว่าใครที่เคยไปปายครั้งแรก หรือไม่เคยไปถึงแม่ฮ่องสอน เป็นต้องหวาดเสียว ครั้งหนึ่งในชีวิต !!
          ^-^ไปไหนไม่ถูก ซื้อเป็นทัวร์ เที่ยวได้คุ้ม ทัวร์รู้ทุกซอกทุกมุม แต่ข้อเสีย(เล็กน้อย) คือขาดความอิสระ ไปไหนไปกันทั้งคันรถ ไม่เหมาะกับคู่ที่คิดไปโรแมนติค จะออกแนวเฮฮาซะมากกว่า

          ขับรถไปได้ครึ่งทาง ขอแวะร้านกาแฟรักจัง กิโลเมตรที่ 58 ตรงข้ามกับหน่วยควบคุมไฟป่า ห้วยน้ำดัง พักคนและพักรถไปในตัว มองรถคันแล้วคันเล่า ต้องมุ่งหน้าไปจุดหมายเดียวกันแน่ๆ 

 


          รถคันน้อย แซงรถทัวร์สีส้มบ้าง ถูกรถตู้แซงบ้าง ต้องยอมให้ ท่องไว้ในใจ..ขับช้าแต่ชัวร์ ถึงช้าหน่อย..แต่ปลอดภัย อะไรประมาณนั้น..

          ในที่สุดก็เดินทางถึงอำเภอปาย ก่อนจะหามื้อเที่ยงเป็นรางวัลสำหรับวันนี้ ขอพารถคู่ใจไปนอนนิ่งที่ Pai Herbs Resort ที่พักที่จองไว้ล่วงหน้าเมื่อหลายเดือนก่อน (www.paiherbresort.com)


          Pai Herbs Resort อยู่ห่างจากตลาดประมาณ 1 กิโลเมตร สบายมากที่จะเดินทอดน่องชมเมือง เมืองที่ใครๆ พูดถึงกันนักหนา  
          “ฉันกำลังจะมาค้นหาคำตอบ ..มีอะไรดีที่นี่”
          บ่ายๆ แบบนี้ ตลาดยังไม่ค่อยคึกคักเท่าตอนเย็น นอกจากร้านค้าขายงานไอเดีย ร้านอาหารพื้นเมือง ร้านกาแฟ ร้านโปสการ์ด ยังมีถนนคนปาย ซึ่งเป็นโครงการที่ชุมชนบ้านป่าขาม ร่วมกับเทศบาลตำบลปาย จัดต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2551 ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2552 
          ตัดสินใจไปฝากท้องที่ร้านครัวเวียดนาม ตรงข้ามกับโรงพยาบาลปาย ถนนเขตเขลางค์ ซอย 4 
          เจ้าของร้านเพิ่งเปิดร้านนี้ไม่กี่เดือน เธอชื่อ “แอน” ไม่ใช่คนเวียดนาม ไม่ใช่คนปายด้วย แต่เป็นคนไทยแท้ๆ ที่เกิดจังหวัดนครพนม และไปใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ มาเปลี่ยนใจก็ตอนได้มาเที่ยวปาย เกิดหลงเสน่ห์เมืองนี้เข้า
          เลยต้องเป็นเจ้าของร้านครัวเวียดนามโดยตั้งใจ เช่นเดียวกับเจ้าของร้านจำนวนไม่น้อย ที่มีความคิดไม่ต่างกัน 
          คิดอย่างคนสร้างสรรค์ ไม่ใช่มาเป็นลูกจ้าง แต่เป็นผู้ประกอบการ ใช้ความรู้ความสามารถ ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานดังที่ปรากฏอยู่มากมายบนถนนที่คนมาเยือนเมืองในหมอกแห่งนี้ ต้องแวะเวียนเข้าไปชม
          แล้วก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ลูกค้าของร้านครัวเวียดนาม ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่นี่ เท่าที่เดินสำรวจเห็นจะมีร้านนี้ร้านเดียวที่ขายอาหารเวียดนาม 
          แค่ชื่อเมนูก็ชวนอร่อย 
          :) กอยก๋วน..หวลฝัน 
          :) ฮอยอัน..ฉันรักเธอ 
          :) จ่าหย่อ..ห้อไส้ๆ 
          :) หมูฮานอย..อร่อยเฮๆ 
          :) ฮาลองเบย์..เฮ้!อะไรกันนี่ 
          :) ฮ่องเต้..ติ่มซำ 
          :) จอหงวน 
          :) แหนมเนือง..เฟื่องอารมณ์

          อะไรเป็นอะไร ต้องไปชิมเอง ราคาถูก กินแล้วคุ้ม เพราะวัตถุดิบเช่นแป้งปอเปี๊ยะสั่งมาไกลจากเวียดนามโดยตรง 
          กลางวันสั่งกินได้ที่ร้าน ช่วงเย็นต้องไปกินที่ถนนคนเดิน
 


 


          มื้อเย็นตั้งใจไปกินขนมจีนน้ำเงี้ยว กับข้าวซอย ที่ตลาด ได้กินสมใจ  นั่งยองๆ โซ้ยขนมจีนน้ำเงี้ยวราคา 15 บาท และข้าวซอย 30 บาท ส่วนน้ำเปล่าเสิร์ฟฟรี
 

          ถนนคนเดินในยามค่ำคืน อาจจะมากด้วยผู้มาเยือนในช่วงต้นฤดูหนาวของปาย เมื่ออากาศเริ่มเย็น ความคิดถึงปายเริ่มมากขึ้น 
          ที่นี่จึงเริ่มคึกคักเป็นพิเศษ และจะคึกคักต่อเนื่องไปถึงเดือนมกราคม ถึงเวลานั้นอุณหภูมิจะลดลงต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส บางรีสอร์ทที่พักถูกจองเต็มไปจนต้นเดือนกุมภาพันธ์ 
          ถนนสายเล็กๆ แห่งนี้ คุณจะสนุกกับเดินชมร้านค้า และเผลอใจควักเงินไปกับของที่ระลึกจากปาย เช่น โปสการ์ด เสื้อ เข็มกลัด แม็กเน็ท หรือขนมที่มีหน้าตาและรสชาติแปลกๆ ที่บอกได้ว่าอร่อย ขณะที่อาจไม่คุ้นลิ้นคนเมืองที่กินยาก อาทิ แป-กี (มันฝรั่งบดกับกะทิ) 10 บาท ข้าวเงี้ยว (ข้าวผสมหมู) 10 บาท อาละหว่า 20 บาท แปงโม้ง 20 บาท ข้าวปุกงาดำ 10 บาท ข้าวพันผัก 20 บาท

 ขนมแป-กี

 แปงโม้ง

ผ้าพันผัก


          ส่วนสินค้าชาวเขา แนะนำให้ต่อรองราคามากๆ หน่อย สินค้าหลายอย่างราคาแพงกว่าซื้อกรุงเทพฯ เสียอีก เช่น พวงกุญแจ 1 แผง อาจมีราคาสูงถึง 100 บาท แบบเดียวกันนี้อาจหาซื้อได้จากกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่นเพียง 50 บาทเท่านั้น

          เที่ยวกลางวันเมืองปาย
          พฤศจิกายนเป็นเดือนเริ่มต้นของฤดูหนาว อากาศเย็นจัดตอนหัวค่ำ พอๆ กับตอนเช้า อุณหภูมิประมาณ 14 องศาเซลเซียส และเริ่มอบอุ่นจนถึงร้อนในตอนกลางวัน 
          เสื้อผ้าที่เตรียมไปจึงควรมีทั้งแบบสู้แดด และคลายหนาว แจ๊คเก็ตหรือเสื้อไหมพรม และผ้าพันคอ กำลังดี ถ้าขี้หนาวมากๆ อาจพกหมวกและถุงมือไปด้วย 
          ที่ปายสามารถใช้ยานพาหนะได้ทั้งรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ และรถจักรยาน
 สะดวกที่สุดน่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์ ขี่ได้ทุกซอกซอย คล่องตัวกว่า โดยเฉพาะถนนคนเดินไม่อนุญาตให้รถยนต์ขับเข้าไป แต่ก็ต้องระมัดระวังทางโค้งด้วยเช่นกัน ที่แปลกคือไม่ยักเห็นคนใส่หมวกกันน็อค 
          ไม่รู้ทำไม ไม่ได้ถามมาเสียด้วย.. 
          ช่วงที่นักท่องเที่ยวมากๆ การเช่ามอเตอร์ไซค์ลำบากหน่อย เพราะมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ในเมื่อที่นี่เป็นเมืองท่องเที่ยว ผู้คนมักมาเป็นฤดูกาล มาทีใช่น้อยๆ เสียเมื่อไหร่!!
          ส่วนจักรยานเหมาะแค่ขับขี่ในตลาดเท่านั้น ไปไกลๆ กว่าจะปั่นถึงที่หมาย อาจน่องโป่งและต้องพึ่งยานวดแก้เมื่อย สำหรับผู้สูงอายุแล้วเช่ารถตู้หรือรถยนต์ดีที่สุด

          แปลกแต่จริง  แผนที่ท่องเที่ยวของปาย ไม่มีแจกฟรี ต้องซื้อในราคา 20 บาท ไม่อยากเสียเงิน สามารถค้นหาจากอินเทอร์เน็ตแล้วพิมพ์ออกมาใช้งาน หรืออยากซื้อเก็บเป็นที่ระลึก ไม่มีใครว่าอะไร..
          อีกวิธีที่สะดวก ถามทางไปเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการเป็นคนช่างสังเกตจากป้ายบอกทาง ซึ่งระบุแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ.. เนื่องจากปายเป็นเมืองเล็กๆ หลงยาก..

          วัดน้ำฮู  
          วิหารวัดน้ำฮูสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2475 โดยครูบาศรีวิชัย เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอุ่นเมือง ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุสำคัญคู่เมืองปาย มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบล้านนา ต่อมาวิหารหลังนี้ทรุดโทรมลง ไม่สามารถใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปอุ่นเมืองได้ คณะพุทธบริษัทจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และอำเภอปาย จึงได้ร่วมกันบูรณะวิหารหลังนี้ให้คงสถาปัตยกรรมเดิมมากที่สุดเมื่อปีพ.ศ.2533-2534 และอัญเชิญพระพุทธรูปอุ่นเมืองประดิษฐานในวิหารดังเดิม
          บริเวณวัดน้ำฮู มีศาลากลางน้ำ ซึ่งสร้างขึ้นแทนศาลาไม้หลังเดิม เพื่อประดิษฐานพระบรมรูป สมเด็จพระนเรศวร มหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และสมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยา 
          ตามประเพณีชาวเหนือแล้ว นอกจากดอกไม้ ธูป เทียน ยังมีตุงเงินตุงข้าวเปลือก บูชาพระด้วย
          หน้าวัดน้ำฮู มีร้านขายอาหารพื้นเมือง และร้านขายผลไม้อบแห้ง เช่น กีวี สตรอว์เบอร์รี่ ท้อ ลูกไหน ทับทิมแดง จำหน่ายในราคาไม่แพง ที่ร้านเดียวกันนี้ยังจำหน่ายชา และชุดน้ำชาด้วย

 

          หมู่บ้านสันติชล 
          ความหลากหลายของคนในเมืองปาย ไม่ได้มีเพียงชาวพุทธ มุสลิม ไทยใหญ่ เท่านั้น ศูนย์วัฒนธรรมจีนยูนาน เป็นชนอีกหนึ่งเชื้อชาติที่พร้อมเปิดบ้านให้เป็นที่รู้จัก ด้วยการสร้างบ้านดิน รองรับนักท่องเที่ยวที่อยากมาพักที่นี่ เปิดร้านอาหารยูนาน  หรือสร้างรายได้ให้กับเยาวชนด้วยการโล้ชิงช้า
 

 

          วัดพระธาตุแม่เย็น
          ทางขึ้นวัดพระธาตุแม่เย็น ค่อนข้างชัน การขี่มอเตอร์ไซค์ในช่วงขาลง ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ระหว่างทางจะมีร้านกาแฟน่ารักๆ อยู่ร้านหนึ่ง และเมื่อขึ้นไปถึงวัดพระธาตุแม่เย็นแล้ว สามารถยืนชมวิวในอำเภอปาย


 

          วัดกลาง-วัดป่าขาม
          สองวัดนี้อยู่ที่ตลาด ผ่านไปผ่านมา แวะเข้าไปไหว้พระประจำวันเกิดเพื่อเป็นสิริมงคล ขนาดฝรั่งเองยังขี่จักรยานเข้ามาชมศิลปะของวัดนี้
 

 วัดกลาง

 วัดป่าขาม

 

          ริมน้ำปาย
          สองฝั่งแม่น้ำปาย เต็มไปด้วยที่พัก บรรยากาศดี แม้ไม่ได้เป็นแขก แต่ก็สามารถไปเดินชมวิว ฟังเสียงน้ำที่ไหลเชี่ยวได้ โดยเดินผ่านตลาด ถัดจากวัดกลาง และวัดป่าขาม ใช้วิธีเดินเท้า ขี่จักรยาน หรือมอเตอร์ไซค์เท่านั้น เนื่องจากรถยนต์ผ่านเข้ามาถนนนี้ไม่ได้
  

          สะพานประวัติศาสตร์ (ท่าปาย)


          ไปสะพานประวัติศาสตร์ (ท่าปาย) อย่าเพียงแค่เก็บภาพอย่างเดียว บันทึกที่บริเวณสะพาน ทำให้นักท่องเที่ยวรู้ที่มาของอำเภอปาย และประวัติของสะพานท่าปายแห่งนี้ เมื่อข้ามไปฝั่งตรงข้ามจะเป็นที่ตั้งของร้านกาแฟวาวี
          แรกเริ่มของสะพานท่าปาย เกิดขึ้นเมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2484 ประเทศญี่ปุ่นประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร และได้เคลื่อนกำลังพลเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพื่อลำเลียงเสบียงอาหารและยุทโธปกรณ์ต่างๆ ผ่านจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเข้าโจมตีประเทศพม่า ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษในขณะนั้น 
          การเดินทัพอันยากลำบากบนเส้นทางที่เป็นหุบเขา และมีลำน้ำปายขวางกั้น กองทหารญี่ปุ่นจึงได้เกณฑ์ชาวไทยจากหมู่บ้านต่างๆ ให้ขุดถางเส้นทางจากจังหวัดเชียงใหม่ ไปยังแม่ฮ่องสอน โดยจ่ายเป็นค่าแรงคนละ 50 สตางค์-1.50 บาท  ส่วนชาวบ้านจากแม่ฮ่องสอน ถูกเกณฑ์ว่าจ้างให้ขุดถางเส้นทางมุ่งหน้าไปเชียงใหม่ ทั้งสองทางมาบรรจบกันที่บริเวณบ้านท่าปาย อำเภอปาย แล้วจึงใช้ช้างลากไม้ใหญ่หร้า 30 นิ้ว ออกจากป่า ตั้งเป็นเสาสร้างขึ้นเป็นสะพาน บรรจบทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกันเหนือแม่น้ำปาย กลายเป็นเส้นทางและสะพานแห่งประวัติศาสตร์สงคราม
          พ.ศ.2489 สงครามโลกสิ้นสุดลง กองทหารญี่ปุ่นถอยทัพกลับ และเผาสะพานไม้ทิ้ง (อ่านประวัติมาถึงตรงนี้มีหลายคนแอบบ่น ทำไมใจร้ายจัง กว่าจะสร้างขึ้นมาได้ เผาทิ้งซะงั้น) 
          ชาวบ้านจึงร่วมแรงกันสร้างสะพานไม้ข้ามแม่น้ำปายขึ้นมาอีกครั้ง ต่อมาพ.ศ.2516 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่  น้ำป่าได้พัดสะพานไม้หายไป ทางอำเภอปายจึงทำเรื่องขอสะพานเหล็กนวรัฐ จากจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งไม่ได้ใช้การแล้ว มาแทนสะพานไม้ที่ถูกกระแสน้ำพัดไป 
          พ.ศ.2518 สะพานนวรัฐจากจังหวัดเชียงใหม่ ทยอยขนย้ายมาประกอบใหม่ โดยใช้เวลาประกอบ 1 ปีเต็ม เป็นสะพานประวัติศาสตร์ท่าปายในปัจจุบัน
 

          ปายแคนยอน
          เสียวสุดๆ ต้องที่ปายแคนยอน หรือกองแลน เดินขึ้นเขาประมาณ 100 เมตร จะเห็นทางแคบๆ ที่สามารถเดินต่อไปได้อีก กว้างประมาณหนึ่งไม้บรรทัดนิดๆ แต่น้อยคนจะกล้าเดิน แค่มองไปรอบๆ ที่เป็นหุบเขาลึก พาให้หวาดหวั่น ถ้าเดินไปได้ แล้วเกิดอาการกลัวไม่กล้าเดินกลับ ใครจะช่วย


 

          ตลาดเย็น
          ประมาณ 4 โมงเย็น ถนนสายเล็กๆ เส้นเดียวกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ใกล้กับวัดหลวง และไม่ไกลจากถนนคนเดิน มีตลาดนัดขนาดย่อม ขายผัก อาหารสำเร็จรูป เสื้อผ้า 
          อาหารพื้นเมืองพอมีขายบ้าง เช่น ไส้อั่ว แมลงทอด น้ำพริกหนุ่ม ขนมเกลือ (หน้าตาคล้ายขนมใส่ไส้แต่ไม่มีไส้ และรสชาติจืดๆ เค็มๆ)
 

 

          ร้านกาแฟสุดเก๋..ไม่แวะไม่ได้
          รู้แล้วว่าความสำเร็จของร้านกาแฟที่ปาย ต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะที่นักท่องเที่ยวอดรนทนไม่ได้ ต้องไปยืนแอ๊คท่าถ่ายรูปกับการตกแต่งร้านที่ไม่ธรรมดา เช่น Coffee in love และร้านวาวี ส่วนมาริปาย ไม่ใช่ร้านกาแฟ เป็นที่พักอีกแห่งที่มีวิวดี และบรรยากาศด้านหน้าก็ชวนให้คนลงไปถ่ายรูปด้วย

 

 

          ต้นมะม่วงยักษ์
          หลายคนไม่รู้ที่นี่มีต้นมะม่วงยักษ์ หนึ่งในสยาม


          มาเที่ยว “ปาย” ให้สนุก ได้รับคำแนะนำว่า “อย่าคาดหวังว่าจะมาเจออะไร”
คนต่างถิ่นแวะมาปาย ไม่ว่าจะอยู่นาน หรือมาแป๊บๆ ก็ทำให้พลเมืองเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ 
          การค้นหาเสน่ห์เมืองปาย จึงไม่ใช่แค่การหาอ่านตามหนังสือหรือฟังคำบอกเล่า ต้องหาคำตอบเอง นั่นแหละ “เสน่ห์ปาย”



          หมายเหตุเมืองปาย
          ปาย มีเนื้อที่ประมาณ 2,324 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มฝั่งขวาของแม่น้ำปาย มีทิวเขาสูงโอบล้อมโดยรอบ พื้นที่มีระดังความสูง 600-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล
          ชนพื้นเมืองดั้งเดิมเป็นชาวไทยใหญ่ อพยพจากสงครามกลางเมืองในรัฐฉานประเทศพม่า เมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว
          ที่มาของคำว่า “ปาย” มีหลายตำนาน เช่น ปาย มาจากคำว่า “ป้าย” ภาษาไทยใหญ่แปลว่า หนีหรืออพยพ บ้างก็ว่ามาจากชื่อของผู้นำชาวไทยใหญ่ “ขุนสางปาย” 
          อีกตำนานหนึ่งมาจาก “พลาย” ตามหลักฐานบันทึกในหอสมุดแห่งชาติ (ข้อมูลจาก อ.โกศล กันทะรส) สมัยที่กรุงศรีอยุธยารุ่งเรือง มีเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองขึ้น ได้สั่งให้หาช้าง คล้องช้างไปเป็นเครื่องราชบรรณาการแด่อยุธยา เมื่อเมืองเชียงใหม่มาคล้องช้าง ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเชียงใหม่ พบชุมชนเล็กๆ และคล้องได้ช้างพลายหลายเชือก แล้วนำไปฝึกที่แม่ร่องสอน ภายหลังเพี้ยนเป็นแม่ฮ่องสอน จึงเป็นไปได้ว่าจะตั้งชื่อเมืองเป็น “เมืองพลาย” ต่อมาเพี้ยนเป็นเมืองปาย


Kiss โดยพี่นู๋ “ซูชี๋” 25-11-51

                  thaigoodview.ryo@gmail.com
 

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 626 คน กำลังออนไลน์