ดาวพฤหัสบดี

ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ มีน้ำหนักประมาณ 2.5 เท่าของน้ำหนักของดาวเคราะห์ดวงที่เหลือในระบบสุริยะรวมกัน และมีจำนวนดาวบริวารที่มากที่สุดอีกด้วย เมื่อมองจากโลกแล้วดาวพฤหัสบดีจะมีความสว่างมากที่สุดเป็นอันดับที่สี่รองจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดาวศุกร์ (อย่างไรก็ตามในบางวันอาจจะเห็นดาวอังคารมีความสว่างมากกว่าดาวพฤหัสบดี)

ดาวพฤหัสบดีมีบริวาร 63 ดวง โดยมี 4 ดวงใหญ่เรียงกันอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตร ซึ่งกาลิเลโอเป็นนักดาราศาสตร์คนแรกที่ใช้กล้องส่องพบบริวารสี่ดวงใหญ่นี้เมื่อ ค.ศ. 1610 จึงได้รับเกียรติว่าเป็นดวงจันทร์ของกาลิเลโอ (Galilean moons) ซึ่งได้แก่ Callisto Io Europa และ Ganymede

 

 

ดวงจันทร์ของกาลิเลโอเมื่อเทียบกับดาวพฤหัสบดี
จากบนลงล่าง Callisto Ganymede Europa และ Io

 

สิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่รู้จักเกี่ยวกับดาวพฤหัสบดีคือ จุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี (great red spot) ซึ่งอยู่ที่บริเวณใต้เส้นศูนย์สูตรลงไป 22 องศา ซึ่งเกิดจากลมพายุกินบริเวณกว้างจนสามารถสังเกตุเห็นได้โดยกล้องโทรทรรศน์จากโลก โดยมีขนาดใหญ่กว่าโลกถึง 2-3 เท่าเลยทีเดียว

 

 

Great red spot เมื่อเทียบกับขนาดของโลก

วงโคจร
ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 5 ในระบบสุริยะซึ่งมีระยะห่างเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์ประมาณ 5 เท่าของระยะห่างเฉลี่ยระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ โดยมีความแตกต่างระหว่างจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดกับจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดประมาณ 76.1 ล้านกิโลเมตร

วงโคจรของดาวพฤหัสบดี

ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ที่มีการโคจรรอบตัวเองเร็วที่สุดในระบบสุริยะโดยใช้เวลาเพียง 9.93 ชั่วโมง จึงทำให้ลักษณะของดาวพฤหัสบดีเป็นทรงกลมแป้นคือมีการโป่งออกบริเวณเส้นศูนย์สูตร โดยเส้นผ่านศูนย์กลางในแนวเส้นศูนย์สูตรมีขนาดยาวกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางในแนวขั้วเหนือ-ใต้ถึง 9275 กิโลเมตร แกนการหมุนของดาวพฤหัสบดีมีความเอียงเพียง 3.1 องศา ซึ่งส่งผลให้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลบนดาวพฤหัสบดี

เนื่องจากดาวพฤหัสบดีไม่มีมีพื้นผิวที่เป็นของแข็งทำให้ชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีใช้เวลาในการหมุนแตกต่างกันในบริเวณขั้วและในบริเวณเส้นศูนย์สูตรประมาณ 5 นาที โดยในบริเวณละติจูดตั้งแต่ 10 องศาเหนือถึง 10 องศาใต้มีคาบเวลาการหมุนรอบตัวเอง 9 ชั่วโมง 50 นาที 30 วินาที ส่วนในละติจูดอื่นๆ(บริเวณขั้วเหนือ-ใต้) มีคาบเวลาการหมุนรอบตัวเอง 9 ชั่วโมง 55 นาที 40.6 วินาที แต่คาบเวลาในการหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดีที่ใช้อย่างเป็นทางการคือคาบเวลาการหมุนของแมกนีโตสเฟียร์ (magnetosphere) ของดาวพฤหัสบดี

โครงสร้างของดาวพฤหัสบดี

 

โครงสร้างของดาวพฤหัสบดี


ดาวพฤหัสบดีมีองค์ประกอบที่คล้ายกับดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อเทียบกับดาวเคราะห์ดวงอื่นๆในระบบสุริยะ โดยส่วนนอกสุดประกอบไปด้วยแก๊สไฮโดรเจนและฮีเลียมซึ่งมีอุณหภูมิประมาณ -110 องศาเซลเซียส เมื่อลึกเข้าไปในแกนกลางที่มีอุณหภูมิและความดันเพิ่มขึ้นสถานะของไฮโดรเจนและฮีเลียมจะเปลี่ยนแปลงไป โดยที่ความลึกประมาณ 7,000 กิโลเมตร จะมีอุณหภูมิประมาณ 2,000 องศาเซลเซียส ไฮโดรเจนจะค่อยๆเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว ส่วนที่ความลึกประมาณ 14,000 กิโลเมตร จะมีอุณหภูมิประมาณ 5,000 องศาเซลเซียส ไฮโดรเจนจะกลายเป็นเมแทลลิกไฮโดรเจน (metallic hydrogen) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายเป็นโลหะเหลว ส่วนแกนกลางของดาวพฤหัสบดีที่ความลึกประมาณ 60,000 กิโลเมตร จะเป็นแกนแข็งที่ประกอบด้วย หิน โลหะ และสารประกอบไฮโดรเจน

ชั้นบรรยากาศ

ชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีประกอบด้วยแก๊สไฮโดรเจนเป็นหลักประมาณ 89.8 เปอร์เซนต์ ส่วนอีก 10.2 เปอร์เซนต์ที่เหลือประกอบไปด้วยแก๊สอื่นๆ เช่น ฮีเลียม แอมโมเนีย มีเทน อีเทน องค์ประกอบต่างๆเหล่านี้จะอยู่รวมกันอย่างหนาแน่นทำให้ดาวพฤหัสบดีปรากฏเป็นแถบสีที่สังเกตุเห็นได้อย่างชัดเจน โดยแก๊สในบริเวณเส้นศูนย์สูตรเมื่อได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์จะลอยตัวสูงขึ้นและเคลื่อนตัวไปยังบริเวณขั้ว ส่วนอากาศที่เย็นกว่าที่บริเวณขั้วจะเคลื่อนตัวลงมายังบริเวณที่ละติจูดต่ำกว่าทำให้เกิดการไหลเวียนของบรรยากาศ ซึ่งถ้าดาวพฤหัสบดีอยู่นิ่งๆแล้วการไหลเวียนของบรรยากาศจะไปในทิศทางเดียวกัน แต่เนื่องจากดาวพฤหัสบดีมีการหมุนรอบตัวเองด้วยทำให้นอกจากลมจะพัดจากเหนือ-ใต้แล้วยังพัดไปทางตะวันออก-ตะวันตกด้วย ทำให้เกิดการไหลเวียนของบรรยากาศเกิดขึ้นเป็นหย่อมเล็กๆบนดาวพฤหัสบดี ปรากฏการณ์นี้เองที่ทำให้เกิดแถบสีต่างๆบนดาวพฤหัสบดี โดยแถบสีขาวเกิดจากการเคลื่อนตัวของอากาศเย็น ส่วนแถบสีน้ำตาล-แดง เกิดจากการเคลื่อนตัวของอากาศที่อุ่นกว่า

 

การไหลเวียนของบรรยากาศบนดาวพฤหัสบดี

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 742 คน กำลังออนไลน์