ดาวพุธ

     ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์ดวงลำดับแรกในระบบสุริยะ (Solar system) คือเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ดาวพุธเป็นดาวที่สว่างมากเมื่อมองจากโลกแต่ว่าสามารถสังเกตเห็นได้ยากเนื่องจากดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากคือมีระยะห่างเชิงมุม (มองจากโลก) ไม่เกิน 28 องศา เราสามารถสังเกตเห็นดาวพุธได้เพียงไม่กี่วันใน 1 เดือน ซึ่งจะสังเกตเห็นดาวพุธได้ในช่วงหัวค่ำ(หลังจากดวงอาทิตย์ตกดิน)หรือตอนเช้ามืด(ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น)

ดาวพุธมีพื้นผิวที่คล้ายกับพื้นผิวของดวงจันทร์คือมีผิวขรุขระเนื่องจากจากการชนของหลุมอุกกาบาต โดยดาวพุธจะไม่มีดาวบริวาร แกนกลางของดาวพุธประกอบด้วยโลหะอยู่จำนวนมากทำให้มีสนามแม่เหล็กบนดาวพุธประมาณ 1 % ของโลก อุณหภูมิบนพื้นผิวมีความแตกต่างกันมากคืออาจร้อนสุดได้ถึง 427 องศาเซลเซียส และเย็นที่สุดได้ถึง -183 องศาเซลเซียส

 

การหมุนรอบตัวเองและการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวพุธ

ดาวพุธหมุนรอบตัวเองใช้เวลา 59 วัน(ของโลก) ในขณะที่ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ 88 วัน(ของโลก) คือมีอัตราส่วนระหว่างการหมุนรอบตัวเองกับการโคจรรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 3:2 หมายถึงดาวพุธหมุนรอบตัวเอง 3 รอบจะโคจรรอบดวงอาทิตย์ได้ประมาณ 2 รอบ(ดังรูป) ทำให้ดาวพุธหันด้านเดิมเข้าหาดวงอาทิตย์ทุกๆการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 2 รอบ จึงทำให้เวลา 1 วัน(ของดาวพุธ) คือนับตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นถึงดวงอาทิตย์ขึ้นบนดาวพุธ มีเวลาเท่ากับ 2 ปี(ของดาวพุธ)

 

วงโคจร

วงโคจรของดาวพุธเป็นวงโคจรที่มีความรีมากที่สุดของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ(ถ้าไม่นับดาวพลูโตที่เป็นดาวเคราะห์แคระ) คือมีจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด(perihelion) 46 ล้านกิโลเมตร และจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุด(aphelion) 70 ล้านกิโลเมตร นั่นหมายความว่า ถ้าไปอยู่บนดาวพุธจะเห็นดวงอาทิตย์มีขนาดเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก โดยเมื่ออยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดจะเห็นดวงอาทิตย์ใหญ่เป็น 2 เท่าครึ่งของเมื่ออยู่ไกลดวงอาทิตย์ที่สุด ซึ่งโตประมาณ 4 เท่าของที่เห็นจากโลก ระนาบการโคจรกับระนาบของเส้นผ่านศูนย์กลางดาวพุธเกือบเป็นระนาบเดียวกันนั่นหมายความว่าบนดาวพุธจะไม่มีฤดูกาล และจะมีผิวดาวพุธบางส่วนที่ใกล้กับขั้วโลกจะไม่โดนแสงอาทิตย์เลยทำให้มีอากาศหนาวเย็นตลอดเวลา

 

โครงสร้างของดาวพุธ

ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์ที่เล็กที่สุดในระบบสุริยะ มีพื้นผิวที่เป็นหินคล้ายกับโลก โดยดาวพุธมีส่วนประกอบโดยรวมเป็นโลหะประมาณ 70 เปอร์เซนต์(โดยน้ำหนัก) และซิลิเกต (Silicate) ประมาณ 30 เปอร์เซนต์ แกนกลางของดาวพุธมีขนาดใหญ่คือมีรัศมีถึง 1800 กิโลเมตร(ประมาณ 75 เปอร์เซนต์ของรัศมีดาวพุธ) ประกอบด้วยโลหะเป็นส่วนมาก ล้อมรอบด้วยแมนเทิล(ที่ประกอบด้วยซิลิเกตเป็นหลัก)หนา 600 กิโลเมตร และมีเปลือกที่ประกอบด้วยซิลิเกตเป็นส่วนใหญ่ หนาประมาณ 100-300 กิโลเมตร

ชั้นบรรยากาศ

ชั้นบรรยากาศของดาวพุธมีความเบาบางมากและก็ไม่เสถียรนัก เนื่องจากดาวพุธมีมวลน้อยมากจึงทำให้มีแรงดึงดูดไม่เพียงพอที่จะยึดชั้นบรรยากาศไว้ได้นาน ชั้นบรรยากาศของดาวพุธประกอบไปด้วยแก๊สออกซิเจน ไฮโดรเจน โซเดียม ฮีเลียม โพแทสเซียม และแคลเซียม โดยไฮโดรเจนและฮีเลียมนั้นได้มาจากลมสุริยะ ส่วนแก๊สอื่นๆเกิดขึ้นบนดาวพุธเอง สำหรับด้านที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์อากาศบนดาวพุธจะร้อนมากทำให้แก๊สเบาอย่างเช่นฮีเลียมมีพลังงานสูงสามารถหลุดออกไปนอกอวกาศได้ ส่วนด้านมืดของดาวพุธที่หนาวเย็นนั้นชั้นบรรยากาศจะมีความหนาแน่นมากกว่าเนื่องจากโมเลกุลของแก๊สมีพลังงานไม่เพียงพอที่จะหลุดออกสู่อวกาศได้

 


 

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 469 คน กำลังออนไลน์