สีกับกราฟฟิก ช่วงชั้นที่ 2-3

รูปภาพของ supatkul

     สีเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญในการออกแบบ สีมีอิทธิพลในเรื่องของอารมณ์การสื่อความหมายที่เด่นชัด และกระตุ้นต่อการรับรู้ของคนเราได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เรื่องของสียังเป็นเรื่องสำคัญในการออกแบบ เพื่อความสวยงาม สื่อความหมาย งานบางชิ้นที่ออกแบบมาดี แต่ถ้าใช้สีไม่เป็น อาจทำให้งานทั้งหมดที่ทำมาพังได้ง่ายๆ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องรู้จักสี และเลือกใช้สีให้เป็น

องค์ประกอบของสี
 1. สี , เนื้อสี (Hue)
     เนื้อสี คือความแตกต่างของสีบริสุทธิ์แต่ละสี เช่น สีแดง สีน้ำเงิน โดยจะแบ่งเนื้อสีออกเป็น 2 ชนิดคือ
     1. สีของแสง (Colored Light) เป็นความแตกต่างสั้นยาวของคลื่นแสงที่เรามองเห็น เริ่มจากสีม่วงไปสีแดง
     2. สีของสาร (Colored Pigment) เป็นสีที่มองเห็นบนวัตถุ โดยเกิดจากการดูดซึม และสะท้อนของความยาวคลื่นแสง

 2. น้ำหนักสี (Value / Brightness)
     น้ำหนักของสีก็คือ เรื่องของความสว่างของสี หรือการเพิ่มสีขาว สีดำลงในเนื้อสีที่เรามีอยู่ และการปรับเปลี่ยนน้ำหนักของสีทำให้ภาพดูมีมิติ ดูมีความลึก หรือที่เราเรียกกันว่า โทน Tone ซึ่งบางครั้งสร้างความน่าสนใจ ดึงดูด และความสมจริงให้กับงานที่เราออกแบบได้
     น้ำหนักสีสาร เราจะเรียกว่า น้ำหนักสี Value ส่วนน้ำหนักสีของแสง เราเรียกว่า ความสว่าง Brightness

 3. ความสดของสี (Intensity / Saturation)
     ความสดของสีหรือความอิ่มตัวของสี เป็นเรื่องที่มีความสำคัญในการออกแบบ
     การใช้สีบางครั้งอาจจะต้องลดหรือเพิ่มความสดของสีใดสีหนึ่ง หรือทั้ง 2 สีเลยก็ได้
     การลดความสดของสีอาจจะเพื่อไม่ให้งานที่ออกมามีสีฉูดฉาดเกินไป

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสี
    
แม่สีปกติจะประกอบไปด้วย สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน เป็นสีที่ไม่ได้เกิดจากการผสมสีหลัก และเป็นต้นกำเนิดของสีทั้งหมด ต่อมาสีในขั้นที่ 2 ก็จะเกิดจากการผสมสีขั้นแรกเข้าด้วยกัน สีแดงกับสีเหลืองได้ ส้ม, สีเหลืองกับน้ำเงิน ได้ เขียว, สีน้ำเงินกับแดง ได้ แดงม่วง
ต่อมาขั้นที่ 3 เกิดจากการผสมสีขั้นต้นกับสีที่อยู่ติดกันทั้งสองด้าน ดังนั้นในขั้นที่สามก็จะได้สีทั้งหมด 6 สี

การผสมสี
     การผสมสีคือการทำให้เกิดเป็นสีต่างๆ มีวิธีการผสม 2 แบบ คือ
1. การผสมสีแบบบวก (Additive Color Mixing)
     รูปแบบนี้จะเป็นการผสมสีของแสง โดยความยาวคลื่นแสงหรือสีพื้นฐาน คือ แดง เขียว และน้ำเงิน เมื่อคลื่นแสงมีการซ้อนทับกันก็จะเกิดการบวกและรวมตัวกันของความยาวคลื่นแสง จึงเป็นที่มาของ “สีแบบบวก” สีที่ได้ เช่น แดง + เขียว = เหลือง , แดง + น้ำเงิน = แดงแกมม่วง เป็นต้น สื่อที่ใช้สีแบบนี้ เช่น จอโปรเจคเตอร์ ทีวี จอคอมพิวเตอร์

2. การผสมสีแบบลบ (Subtractive Color Mixing)
     จะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของลำแสง แต่เกี่ยวเนื่องกับการดูดกลืนและสะท้อนแสงของวัตถุต่างๆ เมื่อแสงมีการสีขาวส่องลงมาที่วัตถุ วัตถุนั้นจะดูดกลืนแสงที่ความยาวคลื่นบางระดับไว้ และสะท้อนแสดงที่เหลือออกมา จึงเป็นที่มาของ “สีแบบลบ” สีหลักจะมี แดงแกมม่วง (Magenta) น้ำเงินแกมเขียว (Cyan) และสีเหลือง (Yellow) สีที่ดูดกลืนกันเช่น แดงแกมม่วง + เหลือง = แดง , น้ำเงินแกมเขียว + เหลือง = เขียว เป็นต้น สื่อที่ใช้สีแบบนี้ เช่นงานพิมพ์สี่สี รูปวาด ดินสอสี

การเลือกสีมาใช้งาน
     สามารถแบ่งการเลือกตามคุณสมบัติของสี ได้แก่
1. การเลือกเนื้อสี (Choose Hue)
     ในการเลือกใช้สีเราจะเลือกจาก
     1. ความหมายของสี โดยจะต้องเลือกสีให้เหมาะสมกับเรื่องที่เราจะสื่อด้วย (ดูความหมายของสีจากเอกสารประกอบ color.xls)
     2. เลือกเนื้อสีที่อยู่ด้วยกันแล้วดูดีเหมาะสม หรือเลือกสีในโครงสี
     3. เลือกสีให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน (Target User) รู้ว่าจะต้องใช้สีกับใคร เช่น เป้าหมายเป็นเด็ก ก็อาจจะต้องใช้แม่สี ซึ่งเป็นสีที่เด็กเห็นและสังเกตรับรู้ได้ง่าย

2. การเลือกน้ำหนักสี (Choose Value)
     การเลือกน้ำหนักสีเป็นขั้นตอนถัดมาหลังจากที่ได้เลือกเนื้อสีแล้ว น้ำหนักของสีมีอิทธิพลต่อความมืด ความสว่างในภาพ ซึ่งให้อารมณ์ของภาพที่แตกต่างกันไป

3. การเลือกความสดของสี (Choose Saturation)
     การเลือกความสดของสีเป็นเรื่องสุดท้ายในการเลือกสีเพื่อออกแบบงาน สีที่มีความสดสูงจะทำให้รู้สึกรุนแรง ตื่นตัว สะดุดตา ในขณะที่สีที่มีความสดน้อยหรือสีหม่น จะให้ความรู้สึกสงบ ไม่โดดเด่น หม่นหมอง เศร้า ถ้าสีที่มีความสดอยู่ในระดับกลางจะทำให้รู้สึกพักผ่อน สบายตา

     ในการออกแบบด้วยสี การเลือกสี น้ำหนักสี และความสดของสี เป็นเรื่องที่สำคัญ การเลือกใช้อย่างเหมาะสมจะทำให้งานออกมาดูดี และเป็นไปตามแนวความคิดที่เราได้วางไว้ อย่าลืมว่าในการออกแบบงานเราไม่ได้ใช้สีเดียวในการออกแบบ นักออกแบบมักจะใช้สีต่างมาใช้คู่กัน การที่จะทำให้ใช้สีที่คู่กันแล้วออกมาดูดีนั้นจำเป็นที่จะต้องศึกษาเรื่องของโครงสีประกอบด้วย (Color Schematic)

การวางโครงสีและชุดของสี
     ทฤษฎีการเลือกสีมาใช้ร่วมกับภาพ เพื่อให้ภาพออกมาดูดี ดูน่าพอใจ เรียกว่า Color Schematic หรือการวางโครงสี (หรือบางครั้งเรียก การจับคู่สี การเลือกคู่สี) เราสามารถใช้เครื่องมือวงล้อสีเพื่อ เลือกสีใส่ลงไปในงานได้ การเลือกใช้สีจากวงล้อสีนั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องใช้สีที่มีน้ำหนักสีตามแบบวงจรมาตรฐานเท่านั้น เราสามารถเพิ่มขาว เพิ่มดำให้เกิดน้ำหนักของสี (Value) ที่หลากหลายได้เช่นกัน

     1. ชุดโทนสีร้อน (Warm Color Scheme)
ประกอบด้วยสีม่วงแกมแดง , แดงแกมม่วง , แดง , ส้ม , เหลือง และเขียวอมเหลือง สีเหล่านี้สร้างความอบอุ่น สบาย และความรู้สึกต้อนรับแก่ผู้ชม ช่วยดึงดูดความสนใจได้โดยง่าย ในทางจิตวิทยาสีร้อนมีความสัมพันธ์กับความสุข สะดวกสบาย สีต่างๆ ในชุดสีร้อนมีความกลมกลืนอยู่ในตัวเอง ขณะที่อาจจะดูไม่น่าสนใจบ้าง เพราะขาดสีประกอบที่ตัดกันอย่างชัดเจน

     2. ชุดโทนสีเย็น (Cool Color Scheme)
ประกอบด้วยสีม่วง , น้ำเงิน , น้ำเงินอ่อน , ฟ้า , น้ำเงินแกมเขียว , และสีเขียว ตรงกันข้ามกับชุดสีร้อน ชุดสีเย็นให้ความรู้สึกเย็นสบาย องค์ประกอบที่ใช้สีเย็นเหล่านี้จะดูสุภาพเรียบร้อย และมีความชำนาญ แต่ในทางจิตวิทยาสีเย็นเหล่านี้กลับมีความสัมพันธ์กับความซึมเศร้าหดหู่และเสียใจ นอกจากนั้นชุดสีเย็น มีความกลมกลืนกันโดยธรรมชาติ แต่อาจจะดูไม่น่าสนใจในบางครั้งเพราะขาดความแตกต่างของสีที่เด่นชัด เช่นเดียวกับชุดสีร้อน

     3. ชุดสีแบบสีเดียว (Monochromatic Color Scheme)
เป็นชุดสีแบบที่ง่ายที่สุด มีค่าของสีบริสุทธิ์เพียงสีเดียว ความหลากหลายของชุดนี้อาจจะเกิดจากการเพิ่มความเข้มความอ่อนในระดับต่างๆ ให้กับสีตั้งต้น ดังนั้น ชุดสีแบบเดียวของสีแดงอาจประกอบด้วยสีแดงล้วน สีแดงอิฐ สีแดงอ่อน หรือสีชมพู เป็นต้น ชุดสีแบบนี้มีความกลมกลืนกันเป็นหนึ่ง มีประสิทธิภาพในการสร้างอารมณ์โดยรวมด้วยการใช้สีเพียงสีเดียว บางครั้งรูปแบบที่มีสีเดียวนี้อาจจะไม่มีชีวิตชีวาเพราะขาดความหลากหลายของสี ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ชมขาดความสนใจ

     4. ชุดสีแบบสามเส้า (Triadic Color Scheme)
เป็นชุดสีที่เกิดจากการเลือกสีสามสีที่มีระยะห่างเท่ากันในวงล้อสี ซึ่งมีความเข้ากันอย่างลงตัว เนื่องจากการตัดกันอย่างรุนแรงของของสีสามสีที่สร้างความสะดุดตาอย่างมาก มีข้อได้เปรียบคือ มีเสถียรภาพสูงเพราะแต่ละสีมีความสมดุลอย่างสมบูรณ์แบบกับอีกสองสีที่เหลือ มีลักษณะของความเคลื่อนไหว มีลักษณะเด่นด้านความมีชีวิตชีวา เป็นประโยชน์ในการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่ชัดเจน แน่นอน แต่บางครั้งความสดใสอาจจะมีลักษณะที่ฉูดฉาดจนเกินไป จนไปรบกวนการสื่อความหมายที่แท้จริง

     5. ชุดสีที่คล้ายคลึงกัน (Analogous Color Scheme)
ประกอบด้วยสี 2-3 สี ที่อยู่ติดกันในวงล้อสี เช่น สีแดงแกมม่วง สีแดง และสีส้ม เนื่องจากชุดสีแบบนี้นำมาใช้งานได้ง่าย และแม้ว่าเราสามารถเพิ่มจำนวนสีในชุดให้มากขึ้นเป็น 4-5 สีได้ แต่กลับจะมีผลให้ขอบเขตของสีกว้างมากเกินไป สีตรงปลายไม่มีความสัมพันธ์กัน ทำให้ลดความคล้ายคลึงของสีลงไป ชุดสีแบบนี้สามารถนำมาใช้งานได้อย่างสะดวก ก่อให้เกิดความกลมกลืนกันอีกด้วย การขาดความแตกต่างอย่างชัดเจนอาจจะทำให้ไม่มีความเด่นเพียงพอที่จะดึงดูดความสนใจของผู้อ่านได้

     6. ชุดสีที่ตรงข้าม (Complementary Color Scheme)
เป็นสีที่อยู่ตรงข้ามกันในวงล้อสี เช่น แดงกับฟ้า โดยสีคู่กันนี้ สามารถนำมาผสมกันแล้วได้สีขาวในวงล้อสีแบบบวก และได้สีดำในวงล้อสีแบบลบ เราเรียกคู่สีแบบนี้ว่า “คู่สีเติมเต็ม” เมื่อนำมาใช้จะทำให้มีความสว่างมากขึ้น และมีความสดใสมากขึ้น ทำให้ได้ความสดใส สะดุดตา และบางครั้งดูน่าสนใจกว่าสีแบบสามจุดเสียอีก ไม่ดูจืดชืด มีความน่าสนใจ

     7. ชุดสีตรงข้ามข้างเคียง (Split Complementary Color Scheme)
มีรูปแบบที่เปลี่ยนไปจากชุดสีตรงข้าม แต่มีความแตกต่างกันที่สีใดสีหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามกันถูกแทนที่ด้วยสีที่อยู่ด้านข้างทั้งสอง เช่นสีฟ้า ซึ่งมีสีด้านข้างเป็นสีน้ำเงินอ่อนกับสีน้ำเงินแกมเขียว เพราะฉะนั้น ชุดสีตรงข้ามข้างเคียงที่ได้จะประกอบด้วย สีแดง น้ำเงินอ่อน และน้ำเงินแกมเขียว ข้อดีคือมีความหลากหลายมากขึ้น แต่ว่าความหลากหลายที่เพิ่มขึ้นนี้ก็มีผลให้ความสดใสและความสะดุดตาลดลง รวมถึงความเข้ากันของสีก็ลดลงด้วย

     8. ชุดสีตรงข้ามข้างเคียง 2 ด้าน (Double Split Complementary Color Scheme)
ชุดสีแบบนี้ดัดแปลงมาจากชุดสีตรงข้าม แต่สีตรงข้ามทั้งสองแบบถูกแบ่งแยกเป็น 2 ด้าน จึงเป็นชุดสี 4 สี ดังเช่นสีแดงแกมม่วงกับน้ำเงินแกมเขียว และน้ำเงินอ่อนกับส้ม ข้อได้เปรียบที่เห็นได้ชัดคือ ความหลากหลาย ที่เพิ่มขึ้น จากชุดสีตรงข้ามแบบแบ่งแยก ส่วนข้อเสียเปรียบก็ยังมีลักษณะเช่นเดิมที่ความสดใสและความกลมกลืนของสีลดลง

สร้างโดย: 
supatkul

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 458 คน กำลังออนไลน์