กำฟ้า
Homeผู้จัดทำสอบก่อนเรียนประวัติกำฟ้าสารทพวนใส่กระจาด

 

การทำข้าวหลาม 
บูรณาการการเรียนรู้ 
ความเป็นมา 

 ประเพณีกำฟ้า

        เป็นประเพณีที่ของชาวไทยพวนได้ปฏิบัติสืบทอดกันมากว่า 200 ปีแล้ว  เพื่อระลึกถึงคุณความดีของดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่ชาวไทยพวนเคารพบูชา และยังเป็นการบวงสรวงต่อเทพเจ้า จะจัดในวันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี  โดยช่วงก่อนหน้าวันสำคัญนี้พ่อแม่หรือปู่ย่าจะบอกให้ลูกหลานทราบล่วงหน้า  เพื่อจัดเตรียมข้าวปลาอาหาร  น้ำกินน้ำใช้ไว้ในเรือนชานให้บริบูรณ์  รวมทั้งฟืนไฟด้วย  (เนื่องจากเมื่อถึงวันนี้ทุกครัวเรือนต่างต้องหยุดทำงานทุกอย่าง รวมทั้งการซักผ้า ตำข้าว  เป็นเวลาราว 3-5 วัน  ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมตัวก่อนล่วงหน้า)รุ่งเช้าของวันถือ  ผู้ใหญ่ในบ้านจะนำอาหารคาวหวานไปทำบุญตักบาตรและฟังเทศน์ที่วัด  ตกค่ำจะมีการละเล่นระหว่างหนุ่มสาว  พอถึงวันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3  ชาวบ้านทุกครัวเรือนจะเตรียมข้าวเหนียว กระบอกไม้ไผ่ไว้เพื่อทำข้าวจี่ และข้าวหลาม ตามประเพณีฮีต 12 และนำไปถวายที่วัด (ดูเรื่อง กรรมวิธีในการทำข้าวจี่ ) นอกจากนี้ ลูกหลานจะเตรียมหาบซ้าแฮ (หมายถึง ตะกร้าหาบใส่อาหารคาวหวานไปวัด)  บางบ้านจะใช้กะซ้าหรือกะต่า (ตะกร้า) ใส่พา (ถาดใหญ่) ข้างหนึ่งเป็นข้าวข้างหนึ่งเป็นของหวาน  บ้านไหนมีลูกสาวจะให้ลูกสาวหาบไป  ส่วนพ่อแม่จะถือข้าวสุก ดอกไม้ตามลูกหลานไป  คนเฒ่าคนแก่หากยังลุกไหวก็จะพากันไปวัดด้วย  หลังจากพระสงฆ์ฉันจังหันเสร็จ  อาหารและข้าวจี่ที่เหลือชาวบ้านจะไม่นำกลับบ้าน  แต่จะแลกกันที่วัดหรือแบ่งปันให้ญาติพี่น้องหรือคนที่มีฐานะด้อยกว่า ตกกลางคืนจะมีการละเล่นบ้าง รำเกี้ยวกันบ้างบริเวณลานของหมู่บ้าน ซึ่งเรียกว่า ลงข่วงเคล็ดในระหว่างวันกำฟ้า  ชาวบ้านที่เป็นคนพวนมักเคารพเชื่อฟังคนแก่หรือคนที่น่าเคารพนับถือในหมู่บ้าน  ยกให้ท่านเป็นคนนำในพิธี  ในอดีตเมื่อครั้งที่ยังไม่มีผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านจะฟังกำหนด “วันกำ” (วันถือ) จากอาญาวัด (สมภาร อธิการวัด)  รองลงมาก็จะฟังจาก คนแก่ในหมู่บ้านที่เรียกกันว่า กวานบ้าน  (ทางภาคเหนือซึ่งหมายถึงผู้ใหญ่บ้านนั่นเอง)  ท่านผู้นี้จะคอยฟังเสียงฟ้าร้อง  ถ้าได้ยินฟ้าร้องก็จะรีบไปถามคนหูตึงในหมู่บ้าน (ใครก็ได้  แต่ส่วนมากจะไปถามคนแก่ที่ตาหูไม่สู้จะดีนัก)  ว่าได้ยินเสียงฟ้าร้องไหม  ถ้าบอกว่าได้ยิน  ก็ให้ถามต่อว่าได้ยินทางทิศไหน  นี่เป็นการถามถือเคล็ดฟังเสียงฟ้าร้อง  เมื่อมีคนได้ยินแล้ว  กวานบ้านจะประกาศให้ชาวบ้านทราบโดยทั่วกันว่า  วันนี้ถ้าใครทำอะไรอยู่ก็ขอให้งดให้หยุดทันทีจนกว่าดวงอาทิตย์จะตกดิน การถือเคล็ดนี้เป็นการสอนให้ลูกหลานเป็นคนช่างสังเกต  ให้รู้เรื่องดิน ฟ้า อากาศ  โดยมีสอนกันมาแต่โบราณว่า
1. เสียงฟ้าร้อง  ดังมาจากทิศใต้  ท่านสอนว่า  ชาวบ้านจะอดเกลือ
2. เสียงฟ้าร้อง  ดังมาจากทิศเหนือ  ท่านสอนว่า  ชาวบ้านจะอดข้าว
3. เสียงฟ้าร้อง  ดังมาจากทิศตะวันตก  ท่านสอนว่า  ชาวบ้านจะเอาจามาทำหอก หมายถึง บ้านเมืองจะเกิดศึกสงคราม  จา คือ จอบขุด  ต้องมีการสู้รบนองเลือดกันขนาดเอาจอบมาเป็นอาวุธ
4. เสียงฟ้าร้อง  ดังมาจากทิศตะวันออก  ท่านสอนว่า  ชาวบ้านจะเอาหอกมาทำจา  หมายถึง จะอยู่ร่มเย็นเป็นสุข  ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์  โรคภัยไข้เจ็บไม่มาเบียดเบียนนอกจากนี้บรรพบุรุษยังสอนให้ลูกหลานรู้จักสังเกตสภาพธรรมชาติในช่วงเดือน 3 เพื่อทำนายความเป็นไปในช่วงฤดูกาลของปีนั้นๆ อีกด้วย
1. ถ้าตอนรุ่งเช้าวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ให้พยายามสังเกตดวงอาทิตย์ (ภาษาพวน ว่า ดวงตาเง็น)  ขณะกำลังโผล่ขึ้นจากขอบฟ้าทิศตะวันออก  ถ้ามีก้อนเมฆ (ขี้เฟื้อ) บดบังโดยทั่วไปหรือไม่  ถ้ามีมาก  ทำนายว่า ฝนฟ้าจะดี  ข้าวน้ำปูปลาจะอุดมสมบูรณ์  ไร่นาจะได้ผลิตผลมาก
2. ถ้าก้อนเมฆบดบังดวงอาทิตย์เพียงเล็กน้อย  ทำนายว่า ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล  น้ำจะน้อย  ต้องทำเหมืองฝายหรือทำนบกั้นน้ำไว้ล่วงหน้า  
3. ถ้าดวงอาทิตย์ปราศจากก้อนเมฆเลย  ทำนายว่า  ฝนฟ้าจะมาล่าหลงฤดู  ต้นปีน้ำน้อย  ปลายปีน้ำมาก  ระวังข้าวในนาต้นปีจะไม่ทันน้ำ  แต่ปลายปีน้ำจะท่วมใหญ่  นาจะเสีย  ข้าวจะล่ม
4. ถ้าปีใด  ดวงอาทิตย์มีก้อนเมฆลอยมาบดบังจนหนาทึบ  ทำนายว่า  ปีนั้นน้ำต้นปีจะดีมาก  แต่ปลายปีจะขาดแคลน  ให้เร่งเก็บกักน้ำไว้เพื่อให้ข้าวทันน้ำ

เมื่อเริ่มวันกำฟ้า  พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่เป็นหัวหน้าครอบครัวจะพูดเอง เออเองกับสัตว์เลี้ยงภายในบ้านเรือนของตน อาทิ วัวควาย หมูหมา  เป็ดไก่  สรรแต่คำพูดที่เป็นสิริมงคล เช่น “ฝูงสูทั้งหลายเฮย  กำฟ้าเน้อ...อยู่ฮ่มเย็นเป็นสุขเน้อ” เป็นต้น (โพธิ์ แซมลำเจียก, 2538:17-25)    

                       

 

 

 จำนวนผู้เข้าใช้งาน
ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

 

จัดทำโดยนางฐิติรัตน์ พิมพ์ทนต์
โรงเรียนวัดหนองหอย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลพบุรี เขต 1
Copy(C) 2007 Mrs.thitirud Pimton.All rights reserved.