ลักษณะ

Homeผู้จัดทำสอบก่อนเรียนที่มาลักษณะประเภทตัวอย่างสอบหลังเรียน

 

 

 

 

 

      

ลักษณะ
        โดยทั่วไปแล้วเพลงพื้นบ้านจะมีลักษณะเด่น ๆ เป็นที่สังเกตได้ คือ
       1. สำนวนภาษาใช้คำธรรมดาพื้น ๆ ไม่มีบาลีสันสกฤตปน ฟังเข้าใจง่าย        แต่ถ้อยคำคมคายอยู่ในตัวทำให้เกิดความสนุกสนาน   บางครั้งแฝงไว้ด้วยการใช้สัญลักษณ์แทนคำหยาบต่าง ๆ เป็นต้นว่า ยาเส้น ใบพลู ที่นา หัวหมู (อุปกรณ์ไถนา) เป็นต้น และเรียบง่ายทางด้านโอกาสและสถานที่เล่น ไม่ต้องยกพื้นเวที
        2. มีความสนุกสนานเพลิดเพลิน มีความคมคายในการใช้ภาษา    กระทบกระเทียบเปรียบเปรยชวนให้คิดจากประสบการณ์ที่พบเห็นอยู่ในวิถีชีวิตท้องถิ่น
        3. มีภาษาถิ่นปะปนอยู่ ทำให้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิต ประเพณีความเชื่อ ตลอดจนค่านิยมต่าง ๆ ที่แฝงอยู่
        4. ลักษณะภาษาคล้องจองกัน ที่เป็นกลอนหัวเดียว คือ กลอนที่ลงท้ายด้วยสระชนิดเดียวกัน เช่น กลอนไล (ลงเสียงข้างท้ายด้วยสระไอตลอด)  กลอนลี (ลงเสียงข้างท้ายด้วยสระอีตลอด) เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ในเพลงไซเอ๋ยไซ  ลามะลิลา   ซึ่งง่ายต่อการเล่น มุ่งให้ทุกคนมีส่วนร้องได้สนุกสนานร่วมกัน
        5. มักจะมีการร้องซ้ำ บางทีซ้ำที่ต้นเพลง หรือบางทีซ้ำที่ท่อนท้ายของเพลง เช่น เพลงพิษฐาน เพลงพวงมาลัย เพลงฉ่อย เป็นต้น
        ผลดีของการร้องซ้ำ ๆ กัน ก็คือเพิ่มความสนุกสนานให้ผู้อยู่รอบข้างได้มีส่วนร่วมในเพลง ทำให้บรรยากาศครึกครื้นและเนื่องจากเป็นการประคารมกันสด ๆ ซึ่งช่วงการร้องซ้ำนี้จะช่วยให้ได้มีโอกาสคิดคำ และพ่อเพลง แม่เพลงจะได้พักเหนื่อย และสามารถใช้ปฏิภาณพลิกแพลง ยั่วล้อกันอีกด้วย
        นอกจากนี้เพลงพื้นบ้านยังมีลักษณะพิเศษอีก คือ เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะที่เล่าสืบต่อกันมาปากต่อปาก ไม่สามารถจะสืบค้นหาตัวผู้แต่งที่แน่นอนได้และมีลักษณะของความเป็นพื้นบ้านพื้นเมือง

 

จัดทำโดย อาจารย์สำเนียง เรียนรัชตะ
โรงเรียนศึกษานารี แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ
Copyright(c) 2004 Mrs. Sumneing Reinratchata. All rights reserved.

จำนวนผู้เข้าใช้งาน
ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2547

thaigoodview.com Version 12.0
บริหารและจัดการโดยทีมงานชาวมัธยมศึกษา
e-mail:
webmaster@thaigoodview.com

Copyright(c) 2004 www.thaigoodview.com. All rights reserved.