โครงสร้างทางธรณีวิทยา

 

Homeภูมิประเทศภูมิอากาศ   ทรัพยากรธรรมชาติ

tangowen@chaiyo.com

 

  โครงสร้างทางธรณีวิทยาของประเทศไทย

                ลักษณะทางธรณีวิทยาของประเทศไทย เป็นโครงสร้างทางธรณีวิทยาแบบโค้งงอ ( Folded Belt ) และถูกตัดด้วยรอยเลื่อน ( Faulte ) และมีการแทรกซ้อนของหินแกรนิต ตามช่องว่าง ต่อมาบริเวณรอยคดโค้งเหล่านั้น ถูกแปรสภาพด้วยความร้อนและแรงกดดัน ทำให้ชิ้นหินบางส่วนกลายเป็นหินแกรนิต เขตทิวเขาทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกและภาคใต้ เป็นภูเขาที่ประกอบด้วยหินชั้นและหินแปรที่เป็นแบบโครงสร้างคดโค้ง (Folded Belt ) ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุในมหายุคพาลีโอโซอิก ( Palaozoie ) ที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นบริเวณที่ประกอบด้วยหินทราย และชั้นหินดินดานของมหายุค พาลีโอโซอิก ( Palaozoie ) ส่วนบริเวณตามขอบตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ของที่ราบสูงโคราช และทิวเขา ภาคตะวันออกจะมีชั้นหินที่มีโครงสร้างโค้งงอ ของมหายุคพาลีโอโซอิก ( Palaozoie ) บริเวณภาคกลางของประเทศไทยเป็นแอ่งแผ่นดิน ( Basin ) ขนาดใหญ่เป็นที่สะสมของ ชั้นตะกอน อายุอ่อนคือ ชั้นหินมหายุคซีโนโซอิค ( Cenozoic ) ซึ่งประกอบด้วยชั้นตะกอนของยุคเทอร์เชียรี ( Tertiary ) และตอนบนของชั้นตะกอนเหล่านี้จะถูกปกคลุมทับถม ด้วยตะกอน กรวด หิน ของยุคควอเตอร์นารี( Quaternary )

ลักษณะภูมิประเทศของประเทศไทย

                  ถ้าพิจารณาจากแผนที่แสดงลักษณะภูมิประเทศของไทยจะเห็นว่า ภูมิประเทศของไทยแบ่งออกได้เป็น 6 เขตดังนี้คือ

                   1.เขตภูเขาและที่ราบระหว่างภูเขาภาคเหนือ ภูมิประเทศส่วนใหญ่ของเขตนี้มีลักษณะเป็นทิวเขา ภูเขา หุบเขาและแอ่งแผ่นดินระหว่างภูเขา มีความสูงชันจากบริเวณ ตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วค่อย ๆ ลาดต่ำลงมาสู่ที่ราบต่ำ บริเวณตะวันออกเฉียงใต้และตอนกลางแล้วค่อย ๆ สูงขึ้นอีกทางบริเวณตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือในเขต จ.น่าน คือ แถบเทือกเขา หลวงพระบาง บริเวณที่สูงเหล่านี้นับเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธารหลายสาย ที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงทางด้านเหนือ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านใต้และ ลงสู่ลุ่มน้ำสา ละวินทาง ตะวันตก หุบเขาและแอ่งแผ่นดินที่แม่น้ำเหล่านี้ไหลผ่าน จะเกิดที่ราบดินตะกอนที่แม่น้ำไหลพามาทับถม เป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์เหมาะ ในการเพาะปลูกและการตั้งถิ่นฐาน ทำให้กลายเป็นแหล่งชุมชนสำคัญของภาค

                  2.เขตที่ราบภาคกลาง ที่ราบภาคกลาง ได้แก่ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำตอนกลางและตอนล่างทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาและสาขาที่ไหลมาจากที่สูงโดย รอบแล้วไหลลงสู่อ่าวไทยที่อยู่ตอนใต้ของภาค ภูมิประเทศของที่ราบภาคกลาง เป็นที่ราบดินตะกอนที่หนาและกว้างขวางมากที่สุดของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ราบดินตะกอนตอนล่าง มีบริเวณกว้างขวางมาก แต่ในบริเวณที่ราบนี้ยังมีที่ราบลูกฟูกและภูเขาโดดเหลืออยู่ โดยเฉพาะอาจเป็นภูเขาหินที่แข็งแกร่งหรือที่เคยเป็นเกาะมาก่อน สันนิษฐานว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของ ที่ราบภาคกลางในอดีตเคยอยู่ใต้ระดับน้ำทะเลต่อมาระดับน้ำทะเลลดต่ำลง ประกอบกับพื้นดินยกสูงขึ้น รวมทั้งการกระทำของแม่น้ำหลาย สายซึ่งมีทั้งการกัดเซาะ สึกกร่อนและทับถม พอกพูน จึงทำให้บริเวณนี้กลายเป็นที่ราบอันกว้างใหญ่และเป็นแหล่งเกษตรกรรมสำคัญของประเทศ

                3.เขตภูเขาสูงภาคตะวันตก ลักษณะของภูมิประเทศส่วนใหญ่จะเป็นทิวเขา หุบเขา แต่ไม่มีที่ราบระหว่างภูเขาเหมือนทางภาคเหนือและที่ราบไม่กว้างขวางเหมือนภาคกลาง ภูมิประเทศของเขตนี้ประกอบด้วย ทิวเขาที่ยาวต่อเนื่องมาจากทิวเขาทาง ภาคเหนือลงไปจน ถึงทิวเขาในคาบสมุทรภาคใต้ เป็นทิวเขาสลับหุบเขาแคบ ๆ มีลำน้ำไหลขนานตามแนวของทิวเขาจาก บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือมายังตะวันออกเฉียงใต้             

               4.เขตภูเขาและที่ราบชายฝั่งภาคตะวันออก ลักษณะภูมิประเทศจะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำทางตอนเหนือ เป็นทิวเขาและที่ราบลูกฟูกทางตอนกลางและมีที่ราบชายฝั่งทะเลทางใต้ โดยมีแม่น้ำสายสั้น ๆ ไหลจากทิศเหนือไปทางใต้ลงสู่อ่าวไทย ชายฝั่งทะเลของเขตนี้ เป็นชายฝั่งที่มีลักษณะเว้าแหว่งและเต็มไปด้วยเกาะใหญ่น้อย เป็นเกาะที่ปกคลุมด้วย ป่าไม้และหาดทรายสวยงาม

              5.เขตที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภูมิประเทศทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีลักษณะแยก จากภาคเหนือและภาคกลางอย่างเด่นชัด ทั้งนี้เพราะการยกตัวของแผ่นดิน ด้านตะวันตก และด้านใต้ ทำให้เกิดขอบสูงชันตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ด้านตะวันตก ส่วนทางด้านใต้ก็เป็นขอบสูงชันตามแนวทิวเขาสันกำแพง และพนมดงรัก บริเวณตอนกลางของเขตนี้มีลักษณะเป็นแอ่งคล้าย ๆ ก้นกะทะ เรียกว่า แอ่งโคราช มีแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลไหลผ่าน ยังมีที่ราบโล่งอยู่หลายแห่ง เช่น ทุ่งกุลาร้องไห้ ทุ่งหมาหิว โดยมีแนวทิวเขาภูพานทอด โค้งยาวค่อนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของภาค ถัดเลยจากแนวทิวเขาภูพานไปทางเหนือมีแอ่งทรุดต่ำของแผ่นดินเรียกว่า แอ่งสกลนคร ส่งผลให้พื้นที่หลายแห่งได้กลายเป็นหนองน้ำ เช่น หนองหานใน จ.สกลนคร หนองประจักษ์ใน จ.อุดรธานี หนองญาติใน จ.นครพนม เป็นต้น พื้นที่ราบสูงจะยกตัวสูงทางบริเวณตะวันตกและทางใต้ และลาดเอียงไปทาง ตะวันออกเฉียงใต้ลงสู่แม่น้ำโขง แม่น้ำสำคัญที่ไหลผ่านเขตที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ แม่น้ำชี แม่น้ำมูลและสาขาใหญ่น้อย ซึ่งไหลจากบริเวณตะวันตก ลงสู่ลำน้ำโขง ทางตะวันออก

              6.เขตภูเขาและที่ราบชายฝั่งคาบสมุทรภาคใต้ ภูมิประเทศเขตนี้มีลักษณะเป็นคาบสมุทรแคบและยาว ถูกขนาบด้วยทะเลทั้งสองด้าน คือ อ่าวไทยทางด้านตะวันออกและ ทะเลอันดามันทางด้านตะวันตก ประกอบด้วยทิวเขาที่เป็นแกนของคาบสมุทรและที่ราบชายฝั่งทะเลที่ลาดลงสู่ทะเลทั้งสองด้าน โดยที่ราบด้านชายฝั่งตะวันออกกว้างขวาง กว่าทางฝั่งตะวันตก ชายฝั่งด้านตะวันออกเป็นชายฝั่งที่ราบเรียบและยกตัวสูง มีหาดทรายสวยงามหลายแห่ง ส่วนชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกเป็นชายฝั่งทะเลจมตัว ทำให้ฝั่งทะเลขรุขระเว้า ๆ แหว่ง ๆ มีเกาะใหญ่น้อยเป็นจำนวนมาก

 


คุณเข้ามาเยี่ยมชมลำดับที่

ตั้งแต่วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2545
www.thaigoodview.com
บริหารและจัดการโดยทีมงานชาวมัธยมศึกษา
e-mail :
thaigoodview@hotmail.com
ICQ : 82032264

Copyright(c) 2002TangNing All rights reserved.