เขื่อนอุบลรัตน์

 

 

ขอนแก่น ดินแดนแห่งศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านของแผ่นดินที่ราบสูงของประเทศไทย มีสถานที่ ท่องเที่ยวทาง ประวัติศาสตร์โบราณคดี และแหล่งความงามตามธรรมชาติมากมาย ที่มีชื่อเสียงไปทั่ว ทั้งภายในและภายนอกประเทศ นอกจากนี้ ณ ดินแดนแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้ง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนพลังน้ำ แห่งแรกของ     การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย


        ลักษณะเขื่อนและโรงไฟฟ้า

เขื่อนอุบลรัตน์ เดิมชื่อ เขื่อนพองหนีบ สร้างปิดกั้นแม่น้ำพองที่อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เป็นเขื่อน ไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกที่ กฟผ. ได้สร้างขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นแห่งที่สอง ของประเทศไทยต่อมาจาก เขื่อนภูมิพล

ตัวเขื่อนเป็นหินถมแกนดินเหนียว มีความยาว ๘๘๕ เมตร สูง ๓๒ เมตร ระดับสันเขื่อนอยู่ที่ ๑๘๕ เมตร (รทก.-ระดับน้ำทะเลปานกลาง) สันเขื่อนกว้าง ๖ เมตร ฐานเขื่อนกว้าง ๑๒๐ เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุ ๒,๒๖๓ ล้านลูกบาศก์เมตร

อาคารโรงไฟฟ้า ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายมือตัวเขื่อน ติดตั้งเครื่องกำเหนิดไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต ๘,๔๐๐ กิโลวัตต์ จำนวน ๓ เครื่อง รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น ๒๕,๒๐๐ กิโลวัตต์

เขื่อนอุบลรัตน์ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๐๗ แล้วเสร็จในปี ๒๕๐๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราช ดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๐๙

ต่อมา กฟผ. ได้ทำการปรับปรุงเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเขื่อนในการบรรเทา อุทกภัยให้สูงขึ้น และเป็นการเสริมความปลอดภัยให้แก่ตัวเขื่อนโดยการเสริมสันเขื่อนจากระดับ ๑๘๕ เมตร (รทก.) เป็นที่ระดับ ๑๘๘.๑๐ เมตร (รทก.) ส่วนฐานเขื่อนด้านท้ายขยายจากเดิมซึ่งกว้าง ๑๒๐ เมตร เป็น ๑๒๕ เมตร โดยเริ่มดำเนิน การตั่งแต่ปลายปี ๒๕๒๗ และปรับปรุงแล้วเสร็จเมื่อต้นปี ๒๕๓๐

 


        ประโยชน์

เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อประชาชนในด้านต่างๆ ดังนี้

ด้านผลิตไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ๕๕ ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

ด้านชลประทานและการเกษตร น้ำที่ปล่อยผ่านการผลิตไฟฟ้าแล้วจะถูกส่งเข้าสู่ระบบชลประทาน ให้แก่พื้นที่เกษตรกรรมที่จังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ ไร่ ช่วยให้ทำการ เพาะปลูกได้ปีละ ๒ ครั้ง และ สามารถปลูกพืชในฤดูแล้งได้ด้วย

ด้านการประมง อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นแหล่งประมงขนาดใหญ่ที่สำคัญแห่งหนึ่ง             ของประเทศ ทำรายได้ ปีหนึ่งๆ ให้แก่ประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นจำนวนมาก ช่วยยกระดับมาตรฐาน         การครองชีพของประชาชนให้สูงขึ้น

ด้านการบรรเทาอุทกภัย ภายหลังการก่อสร้างเขื่อนอุบลรัตน์สามารถบรรเทาภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้น อย่าง กะทันหันในฤดูฝน บริเวณแนวฝั่ง ลำน้ำพองถึงแม่น้ำชีให้ลดน้อยลง

ด้านคมนาคม อ่างเก็บน้ำของเขื่อนใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ ประชาชนใช้เป็น เส้นทางสัญจร ไปมาหาสู่กันอย่างสะดวกและรวดเร็ว ทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ ของประชาชนทั่วไป

 

        สถานที่ท่องเที่ยว

ก่อนเดินทางเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ ท่านสามารถแวะชมสถานที่ท่องเที่ยวตามรายทางที่น่าสนใจ ซึ่งมีทั้งสถานที่ สำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติหลายแห่ง อาทิ              พระธาตุขามแก่น วัดพระบาท ภูพานคำ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น บึงแก่นนครอุทยานแห่งชาติ      ภูเก้า - ภูพานคำ และอำเภอชนบท ซึ่งมีการ ทอผ้าไหมพื้นเมือง " ซิ่นมัดหมี่ " ที่มีชื่อเสียงมาก เป็นต้น

 


        สรุป

        เขื่อนอุบลรัตน์ เปรียบประดุจประทีปดวงแรกที่นำความสว่างไสวมาสู่ภูมิภาคแผ่นดินที่ราบสูงนี้ ให้เจริญก้าวหน้า ทัดเทียมกับภาคอื่นๆ ของประเทศ ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาบ้านเมือง ให้เจริญรุดหน้ายิ่งขึ้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ ความสำเร็จนี้ และขอต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือน เขื่อนอุบลรัตน์ทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง

 
จำนวนผู้เข้าใช้งาน
ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2549

thaigoodview.com Version 13.0
บริหารและจัดการโดยทีมงานชาวมัธยมศึกษาและประถมศึกษา
e-mail:
webmaster@thaigoodview.com
Copyright(c) 2006 www.thaigoodview.com. All rights reserved.