เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 

 

                " แม่น้ำป่าสัก " เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สุดสายหนึ่งของชาวจังหวัดลพบุรีและสระบุรี ประชาชนจะได้ประโยชน์จากแม่น้ำป่าสักอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรกรรมหรือการประมง แต่ในช่วงเดือนสิงหาคม - เดือนตุลาคมของทุกปี จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ของจังหวัดลพบุรี เช่น ตำบลมะนาวหวาน ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม ตำบลลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล และหมู่บ้านใกล้เคียงอีก รวมไปถึงจังหวัดสระบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับในช่วงเดือนมกราคม - เดือนพฤษภาคม พื้นที่ในลุ่มน้ำป่าสักก็จะประสบภาวะแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค

 



                
ในปี ๒๕๐๘ กรมชลประทานได้เริ่มศึกษาโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำ แม่น้ำป่าสัก แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงจึงได้ระงับโครงการฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายหลายด้าน แต่หลายครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรจังหวัดลพบุรีด้วยความห่วงใย และได้เสด็จไปทอดพระเนตรพื้นที่ในเขตอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรีที่กำลังประสบปัญหาอยู่
                
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล และด้วยความห่วงใยในพสกนิกร ของประชาชน ด้วยพระอัจฉริยภาพที่ล้ำลึกและเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ ทรงแก้ปัญหาให้ " ความโหดร้าย " ของแม่น้ำป่าสักกลับกลายเป็น " ความสงบเสงี่ยม " ที่น่านิยม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหาทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๒ พระองค์ท่านได้มีพระราชดำริให้กรมชลประทานดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเขื่อนกักเก็บน้ำแม่น้ำป่าสักอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนน้ำ เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่เพาะปลูก และบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้น
                
วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๓๕ กรมชลประทานได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ศึกษา ความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเขื่อนเก็บน้ำป่าสัก รวมทั้งแผนปฏิบัติการแก้ไข พัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นแกนกลางในการดำเนินงานสนับสนุนด้านงบประมาณ ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ว่า
                ...
ปัญหาเรื่องภัยแล้งนี้จะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ และหมู่นี้ก็พูดกันอย่างขวัญเสียว่าอีกหน่อยต้องปันส่วนน้ำหรือต้องตัดน้ำประปา อันนี้สำหรับกรุงเทพฯ ดังนั้นต้องหาแนวทางแก้ไข ซึ่งปัญหานี้ต้องวางแผนมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ถ้าหากว่าได้ปฏิบัติในวันนี้ เราก็ไม่ต้องพูดถึงการขาดแคลนน้ำ โครงการโดยเฉพาะนั้นก็มี และโครงการนั้นได้ยืนยันมาเมื่อเดือนกว่าแล้วที่นราธิวาส ได้วางโครงการและแม้เป็นโครงการที่ไม่ได้แก้ปีนี้ หรือปีหน้า แต่ถ้าทำอย่างดีประมาณ หรือ ๖ ปี ปัญหาน้ำขาดแคลนในกรุงเทพฯจะหมดไปโดยสิ้นเชิง อาจจะนึกว่า ๕ - ปี นั้นนาน ความจริงไม่นานและระหว่างนี้เราก็พยายามแก้ไขเฉพาะหน้าไปเรื่อย แต่ถ้ามีความหวังว่า ๕ - ปีปัญหานี้คงหมดไปก็คงมีกำลังใจที่จะฟันฟ่าชีวิตต่อไป
                
ที่ว่า ๕ - ปีนี้ ความจริงได้เริ่มโครงการนี้มากว่า ๕ - ปี โครงการที่คิดจะทำนี้บอกได้ ไม่กล้าพูดมาหลายปีแล้วเพราะเดี๋ยวจะมีการคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญจากผู้ที่ต่อต้านการทำโครงการแต่โครงการนี้เป็นโครงการที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย แต่ถ้าดำเนินไปเดี๋ยวนี้อีก ๕ - ปี ข้างหน้าเราก็สบาย แต่ถ้าไม่ทำในอีก ๕ - ปี ข้างหน้าราคาค่าสร้าง ค่าดำเนินการก็จะขึ้นไป ๒ เท่า ๓ เท่า ลงท้ายก็จะต้องประวิงต่อไป และเมื่อประวิงต่อไปไม่ได้ทำ เราก็ต้องอดน้ำแน่ จะกลายเป็นทะเลทราย แล้วเราก็จะอพยพไปที่ไหนไม่ได้ โครงการนี้คือสร้างอ่างเก็บน้ำ ๒ แห่ง แห่งหนึ่งคือแม่น้ำป่าสัก อีกแห่งคือแม่น้ำนครนายก สองแห่งรวมกันจะเก็บกักน้ำเหมาะสมพอเพียงสำหรับการบริโภค การใช้ในเขตกรุงเทพฯ และเขตใกล้เคียงที่ราบลุ่มของประเทศไทยนี้ สำหรับการใช้น้ำนั้น ต้องทราบว่าแต่ละคนใช้อยู่อย่างสบายพอสมควร โดยเฉลี่ย คนหนึ่งใช้วันละ ๒๐๐ ลิตรถ้าคำนวณดูว่า วันละ ๒๐๐ ลิตรนี้ ๕ คน ก็ใช้ ๑,๐๐๐ ลิตร คือ หนึ่งลูกบาศก์เมตรต่อวัน ถ้าปีหนึ่งคูณ ๓๖๕ ก็หมายความว่า ๕ คนใช้ในหนึ่งปี ๓๖๕ ลูกบาศก์เมตรในกรุงเทพฯ และในบริเวณใกล้เคียงนี้เรานับเอาคร่าว ๆ ว่ามี ๑๐ ล้านคน ๑๐ ล้านคนก็คูณเข้าไป ก็เป็น ๗๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตรฉะนั้นถ้าเราเก็บกัก ๗๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ในเขื่อน เราก็จะสามารถที่จะบริการคนในละแวกนี้ คนในภาคกลางใกล้กรุงเทพฯนี้ได้ตลอดไป แล้วก็ไม่มีความขาดแคลนเขื่อนป่าสักที่ตอนแรกวางแผนให้จุได้ ๑,๓๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่แก้ไปแก้มาก็เหลือ ๗๕๐ ล้านกว่า ๆตามตัวเลขที่ให้ไว้นี้ แม้เขื่อนป่าสักเขื่อนเดียวก็พอ พอสำหรับการบริโภคแน่นอน ไม่แห้ง ถ้าเติมอีกโครงการที่นครนายก จะได้อีก ๒๔๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ก็เกินพอ...

 

 

        ที่ตั้งของโครงการฯ
               
ที่ตั้ง ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี และตำบลคำพราน อ.วังม่วง จ.สระบุรี เป็นเขื่อนดินชนิดมีแกนดินเหนียว ยาว ,๘๖๐ เมตร สูง ๓๑.๕๐ เมตร ระดับน้ำกักเก็บสูงสุด ๔๓.๐๐ ม.รทก. เก็บน้ำได้ ๙๖๐ ล้าน / ลบ.ม.

        พื้นที่ของโครงการฯ
         พื้นที่โครงการมี ๑๐๕,๓๐๐ไร่ มีรายละเอียดดังนี้
                -
จังหวัดลพบุรี ๙๖,๖๕๘ ไร่ ๓ อำเภอ ได้แก่ อำเภอพัฒนานิคม อำเภอท่าหลวง อำเภอชัยบาดาล รวม ๑๓ ตำบล ๖๐ หมู่บ้าน
                -
จังหวัดสระบุรี ๘,๖๔๒ ไร่ อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังม่วง รวม ๒ ตำบล ๕ หมู่บ้าน รวม ๒ จังหวัด ๔ อำเภอ ๑๕ ตำบล ๖๕ หมู่บ้าน

        ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสัก
          
เนื่องจากเขื่อนกักเก็บน้ำแม่น้ำป่าสัก ก่อสร้าง ณ บริเวณทุ่งราบภาคกลาง จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน สิ่งปลูกสร้าง สาธารณะ และสิ่งแวดล้อม เป็นจำนวนมาก กล่าวโดยสรุปคือ
          
ทางด้านประชาชน มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ๑๑๔,๑๑๙ไร่ แต่มีพื้นที่ของราษฎรได้รับผลกระทบอันเป็นเหตุให้ต้องมีการโยกย้าย ๑๐๐,๙๔๔ ไร่ ในเขต ๒ จังหวัด ๔ อำเภอ ๑๕ ตำบล ๖๕ หมู่บ้าน รวมประชาชนประมาณ ๗,๗๐๐ ครอบครัว และมีพื้นที่ที่จะต้องจ่ายค่าทดแทนที่ดิน ๙๖,๗๐๐ ไร่ โดยแยกเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้
          
จังหวัดลพบุรี  มีพื้นที่ ๙๖,๖๕๘ ไร่ อยู่ในพื้นที่ ๓ อำเภอ ๑๓ ตำบล ๖๐ หมู่บ้าน ได้แก่
                    -
อำเภอพัฒนานิคม : ตำบลโคกสลุง ตำบลน้ำสุด ตำบลมะนาวหวาน ตำบล หนองบัว
                    -
อำเภอท่าหลวง    : ตำบลท่าหลวง ตำบลแก่งผักกูด
                    -
อำเภอชัยบาดาล   : ตำบลบัวชุม ตำบลลำนารายณ์ ตำบลท่ามะนาว ตำบล ท่าดินดำ ตำบลชัยบาดาล ตำบลมะกอกหวาน ตำบล ม่วงค่อม
          
จังหวัดสระบุรี พื้นที่ ๘,๖๔๒ ไร่ อยู่ในพื้นที่ ๑ อำเภอ ๒ ตำบล ๕ หมู่บ้าน ได้แก่
                    -
อำเภอวังม่วง       : ตำบลวังม่วง ตำบลคำพราน


          
ทางด้านสิ่งปลูกสร้างสาธารณะ มีเส้นทางหลวงถูกน้ำท่วม ๒ สาย รวมเป็นระยะทาง ๘,๓๓๕ กม. ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข ๒๐๕ ตอนอำเภอชัยบาดาล-อำเภอลำสนธิ (แยกทางหลวงหมายเลข ๒๑ - อำเภอชัยบาดาล) และทางหลวงหมายเลข ๒๒๕๖ ตอนอำเภอชัยบาดาล - อำเภอด่านขุนทด นอกจากนั้นยังมี เส้นทางรถไฟ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างสถานีแก่งเสือเต้น - สถานีสุรนารายณ์ ในเส้นทางสายแก่งคอย-บัวใหญ่ ระยะทางประมาณ ๒๔.๓๒๕ กม. ก็จะถูกน้ำท่วมเช่นกัน อีกทั้งมีสถานที่สำคัญอื่น ๆ ได้รับผลกระทบด้วย ได้แก่ โรงเรียนถูกน้ำท่วม ๑๔ แห่ง วัด ๒๔ แห่ง ส่วนราชการ ๒๓ แห่ง และธุรกิจเอกชน ๗ แห่ง

          
ทางด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อแหล่งโบราณคดี ๓๓ แหล่ง และวัฒนธรรมชุมชนไทยเบิ้ง รวมทั้งพื้นที่ป่าไม้ซึ่งมีไม้ที่ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นพื้นที่ ๕๓,๓๘๒ไร่
          
จากผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้ส่วนราชการต่าง ๆ จำเป็นต้องเข้ามาร่วมวางแผน และกำหนดแนวทางในการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบข้อเท็จจริง ทั้งต้องประสานแผนงานทุกด้านให้สอดคล้องต้องกัน จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พร้อมใจกันให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนป่าสัก ที่รวมกลุ่มไปจัดตั้งชุมชนใหม่ โดยจัดให้บริการสาธารณูปโภค ด้านไฟฟ้า ถนน น้ำประปา ตลอดจนได้สร้าง วัด โรงเรียน สถานีอนามัย สถานีตำรวจ ทดแทนของเดิมให้กับพื้นที่ชุมชนใหม่ พร้อมกับจัดการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ ทั้งการเกษตร การประมง การปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมในครัวเรือน อาทิ สอนการแปรรูปอาหารและถนอมอาหาร การทำดอกไม้จันทน์และดอกไม้ประดิษฐ์จากเปลือกข้าวโพด และการทอผ้าด้วยกี่กระตุก เป็นต้น นับเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง

 


 

        ประโยชน์ของเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสัก
    
. เป็นแหล่งสำหรับอุปโภคบริโภคของชุมชนต่าง ๆ ในเขตจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี (ลำนารายณ์ พัฒนานิคม วังม่วง แก่งคอย และชุมชนขนาดย่อมใกล้เคียง)
    
. เป็นแหล่งน้ำสำหรับการเกษตรในพื้นที่ชลประทานที่จะเกิดขึ้นใหม่ ในเขตจังหวัดลพบุรีและสระบุรี๑๓๕,๕๐๐ไร่ (แก่งคอย - บ้านหมอ ๘๐,๐๐๐ไร่ ,พัฒนานิคม ๓๕,๕๐๐ไร่ และพัฒนานิคม-แก่งคอย ๒๐,๐๐๐ไร่)
    
. เป็นแหล่งน้ำเสริมสำหรับพื้นที่โครงการชลประทานเดิม ในทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เนื้อที่ประมาณ ๒,๒๐๐,๐๐๐ไร่ (ทำให้ลดการใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยานำน้ำจากแม่น้ำป่าสักไปใช้ในแถบจังหวัดลพบุรีและสระบุรีโดยตรง)
    
. ช่วยป้องกันอุทกภัยให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ในเขตจังหวัดลพบุรีและสระบุรีและยังมีผลช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยารวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วย
    
. เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดลพบุรีและสระบุรี
    
. อ่างเก็บน้ำที่เกิดขึ้นจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่
   
. ช่วยการคมนาคมทางน้ำในแม่น้ำป่าสักตอนล่าง และการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย
    
. เป็นแหล่งน้ำช่วยเสริมเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล
   
. เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
    
๑๐. ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรีขยายตัวมากขึ้น

          
เป็นที่น่าปลาบปลื้มที่พระองค์ทรงเป็นห่วงพสกนิกรชาวจังหวัดลพบุรีและจังหวัดใกล้เคียงถึงประโยชน์ที่ราษฎรของพระองค์จะได้รับจากโครงการนี้ ณ พื้นที่ซึ่งเคยปรากฏความแห้งแล้ง สลับภาวะน้ำท่วม อันส่งผลให้ประชาชนต้องมีชีวิตอยู่อย่างลำบากทุกข์ยาก บัดนี้ ได้มีเขื่อนดินขนาดใหญ่ซึ่งมีความสูงกว่า ๓๑ ม. และยาวเกือบ ๕,๐๐๐ ม. มาตั้งเป็นแนวกั้นน้ำอยู่ในแม่น้ำป่าสัก พร้อมอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีความจุน้ำได้สูงสุดถึง ๙๖๐ ล้าน ลบ.ม. เพื่อนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่พื้นที่ที่เคยประสบความแห้งแล้ง โดยมีอาคารพิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก เป็นสถานที่จัดแสดงสภาพชีวิตผู้คนในอดีต ที่เคยใช้ชีวิตร่วมกันอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำป่าสักแห่งนี้ สำหรับให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาร่องรอยแห่งอารยธรรม ไว้เตือนจำและเตือนใจคนในรุ่นปัจจุบัน และในอนาคตมิให้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป

 
จำนวนผู้เข้าใช้งาน
ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2549

thaigoodview.com Version 13.0
บริหารและจัดการโดยทีมงานชาวมัธยมศึกษาและประถมศึกษา
e-mail:
webmaster@thaigoodview.com
Copyright(c) 2006 www.thaigoodview.com. All rights reserved.