:: Welcome to Website *_*  ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์เรื่องโครงสร้างและหน้าที่ของพืชดอก ::

 
 
  ต้นไม้เมื่อมีอายุมากขึ้นขนาดของลำต้นจะสูงและใหญ่โตขึ้น มีการแตกกิ่งก้านสาขามากขึ้น ซึ่งเกิดจากการแบ่งเซลล์ของเนื้อเยื่อเจริญบริเวณปลายราก
ปลายยอด ตาดอก ตาใบ ทำให้จำนวนเซลล์เพิ่มมากขึ้น ที่ปลายราก เมื่อเซลล์แบ่งตัวแล้วบริเวณที่อยู่ถัดขึ้นไปจะเป็นบริเวณที่เซลล์มีการยืดตัวเป็นผลให้รากยาวขึ้น ในส่วนปลายของลำต้นก็มีลักษณะเดียวกันคือ ส่วนที่อยู่ปลายสุดเป็นบริเวณที่เซลล์มีการแบ่งตัวและบริเวณที่อยู่ถัดลงมาก็เป็นบริเวณที่เซลล์มีการยืดตัว ทำให้ปลายยอดยืดยาวขึ้น เซลล์บริเวณนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเนื้อเยื่อเจริญขั้นต้น (Primary meristem)ทำให้เกิดการเจริญเติบโตขั้นต้น (Primary growth) และการเจริญเติบโตขั้นที่สอง(Secondary growth) เป็นลำดับไปดังนี้
การเจริญเติบโตของราก (Growth of root)
1. การเจริญเติบโตขั้นต้นของราก (Primary growth of root)

การเจริญเติบโตขั้นต้นของรากเป็นการเพิ่มความยาวของเนื้อเยื่อเจริญปลายรากมี3 กลุ่ม คือ
โพรโทเดิร์ม (Protoderm) เป็นส่วนของเนื้อเยื่อที่อยู่นอกสุด กลุ่มเซลล์เหล่านี้อยู่บริเวณที่เรียกว่าเซลล์ยืดตัวและขยายขนาดแล้วค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงต่อไปจนกระทั่งเป็นเนื้อเยื่อถาวรที่เรียกว่า เอพิเดอร์มิส (Epidermis) เป็นเซลล์เรียงตัวชั้นเดียวอยู่นอกสุด
กราวด์เมอริสเต็ม (Ground meristem) เป็นเนื้อเยื่อพื้นทั่วไปจะเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ในชั้น คอร์เทกซ์ (Cortex) และ เอนโดเดอร์มิส (Endodermis)
โพรแคมเบียม (Procambium) เป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ในสุดของรากซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเพอริไซเคิล (Pericycle) วาสคิวลาร์ แคมเบียม
(Vascular cambium) โฟลเอ็มขั้นต้น (Primary phloem) และไซเลมขั้นต้น (Primary xylem)
1.1 การเจริญเติบโตขั้นต้นของรากพืชใบเลี้ยงคู่
รากในบริเวณที่มีขนรากหรือเหนือบริเวณนี้ขึ้นไปเล็กน้อยประกอบด้วยเนื้อเยื่อถาวรปฐมภูมิ (Primary permanent tissue) ถ้าตัดตามขวางดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ประกอบด้วยเนื้อเยื่อจากด้านนอกเข้าไปด้านในดังนี้
1.1.1 เอพิเดอร์มิส (Epidermis) เป็นเนื้อเยื่อปฐมภูมิที่เปลี่ยนแปลงมาจาก โพรโทเดิร์ม เป็นเซลล์แถวเดียวอยู่ชั้นนอกสุดของราก มีคิวติน (Cutin) เคลือบอยู่บนผนังชั้นนอกของเซลล์ ทำหน้าที่ป้องกันเนื้อเยื่อภายใน
1.1.2 คอร์เทกซ์ (Cortex) เป็นอาณาเขตที่อยู่ถัดจากเอพิเดอร์มิสเข้าไปข้างในจนถึงเอนโดเดอร์มิส คอร์เทกซ์ที่ยังอ่อนอยู่ทำหน้าที่รับน้ำที่ขนรากดูดซึมเข้ามาผ่านไปยังไซเลม
1.1.3 เอนโดเดอร์มิส (Endodermis) มีแถวเดียวเรียงติดต่อเป็นวงรอบภายใน คอร์เทกซ์ มีผนังหนาเป็นแนวทั้งด้านรัศมีและด้านขวางเป็นแถบ เรียกว่าแคสพาเรียน สตริป (Casparian strip) มีสารพวก ซูเบอริน (Suberin) หรือ ลิกนิน(Lignin) มาพอกทำให้ยับยั้งการเคลื่อนที่ของน้ำและเกลือแร่ที่รากดูดเข้าสู่ไซเลม
1.1.4 สตีล (Stele) เป็นอาณาเขตภายในรากที่อยู่ถัดจากเอนโดเดอร์มิสเข้าไปทั้งหมด เปลี่ยนแปลงมาจากโพรแคมเบียม ประกอบด้วยเนื้อเยื่อหลายชนิดดังนี้เพอริไซเคิล (Pericycle) เป็นเนื้อเยื่อพาเรงคิมาเรียงเป็นวง 1 ชั้น หรือ2 ชั้น จัดเป็นชั้นที่อยู่ต่อจากชั้น เอนโดเดอร์มิสเข้าไปและจะเปลี่ยนตัวเองเป็นเนื้อเยื่อเจริญ ทำการแบ่งตัวทำให้เกิดรากแขนงและเจริญไปถึงการเจริญขั้นที่สองต่อไปโฟลเอ็มขั้นต้น (Primary phloem) ถูกสร้างมาจาก แคมเบียมเพื่อ ลำเลียงอาหารวาสคิวลาร์ แคมเบียม (Vascular cambium) มีเนื้อเยื่อเจริญเรียงตัว1 ชั้นเรียงไปตามผิวของไซเลม ไซเลมขั้นต้น(Primary xylem)ประกอบด้วย ไซเลมเรียงตัวเป็นแฉก(Arch) อยู่ตรงกลางพิธ (Pith) จะไม่ค่อยพบเพราะส่วนมากจะเป็นส่วนของไซเลม เต็มไปหมด แต่จะพบมากในพืชใบเลี้ยงเดี่ยว
 

สรุปการเจริญเติบโตขั้นต้นของรากพืชใบเลี้ยงคู่

  1.2 การเจริญเติบโตขั้นต้นของรากพืชใบเลี้ยงเดี่ยว
การเจริญเติบโตของรากพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ต่างกับพืชใบเลี้ยงคู่ที่ชั้นของสตีลจะไม่มี เพอริไซเคิลและวาสคิวลาร์ แคมเบียม แต่ตรงกลางจะมี พิธ เป็นพื้นที่กว้างชัดเจน
 

สรุปการเจริญเติบโตขั้นต้นของรากพืชใบเลี้ยงเดี่ยว

   
 

ก่อนหน้า | หน้าหลัก | ถัดไป