:: Welcome to Website *_*  ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์เรื่องโครงสร้างและหน้าที่ของพืชดอก ::

 
 
  2. หน้าที่ของลำต้น
หน้าที่ของลำต้นที่สำคัญคือ
2.1 เป็นแกนสำหรับพยุง (Support) กิ่งก้าน ใบ และดอกให้ได้รับแสงแดดมากที่สุด เนื่องจากแสงแดดจำเป็นสำหรับกระบวนการสร้างอาหารของพืช
จึงต้องมีกระบวนการที่จะคลี่ใบให้ได้รับแสงแดดได้อย่างทั่วถึง
2.2 เป็นตัวกลางในการลำเลียง (Transport) น้ำ แร่ธาตุและอาหารส่งผ่านไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของพืช คือ เมื่อลำต้นได้รับน้ำและแร่ธาตุที่ส่งมาจาก
รากแล้วลำต้นจะลำเลียงส่งไปยังใบและส่วนอื่น ๆ เมื่อใบสังเคราะห์อาหารโดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงแล้วจะส่งผ่านไปยังส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น เดียวกันนอกจากนี้ ลำต้นยังทำหน้าที่ต่าง ๆ เพิ่มอีกหลายอย่างได้แก่ สะสมอาหารแพร่พันธุ์ สังเคราะห์ด้วยแสง และยังอาจเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปทำหน้าที่อื่น เช่นเปลี่ยนเป็นมือเกาะ (Tendril) หรือเปลี่ยนแปลงเป็นหนาม (Spine) สะสมยางลาเทกซ์ แทนนิน เป็นต้น
3. ชนิดของลำต้น
ปกติลำต้นจะขึ้นตั้งตรงเหนือพื้นดิน พืชหลายชนิดใช้ลำต้นพันหลักหรือเลื้อยไปตามดิน บางชนิดลำต้นอาจเจริญอยู่ใต้ดิน ดังนั้นจึงมีการแบ่งชนิดของลำต้นออกเป็นสองพวกใหญ่ ๆ คือ ลำต้นเหนือดิน (Terrestrial stem) และลำต้นใต้ดิน(Underground stem)
3.1 ลำต้นเหนือดิน (Terrestrial stem) ลำต้นเหนือดิน เป็นลำต้นที่ปรากฏอยู่เหนือพื้นดินทั่ว ๆ ไปของต้นไม้ต่าง ๆ ทั้งต้นไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม ไม้ล้มลุก ทั้งที่เป็นไม้เนื้อแข็งและไม้เนื้ออ่อน ลำต้นเหนือดินบางชนิด ยังเปลี่ยนแปลงรูปร่างและหน้าที่ได้ต่างกันดังนี้
3.1.1 ลำต้นเลื้อยขนานไปกับผิวดิน หรือผิวน้ำ (Prostrate หรือCreeping stem) ส่วนใหญ่ของพืชพวกนี้มีลำต้นอ่อน ตั้งตรงไม่ได้ จึงต้องเลื้อยขนานไปกับผิวดิน เช่น ผักบุ้ง หญ้า แตงโม บัวบก ผักกระเฉด ผักตบชวา สตรอเบอรี่ เป็นต้นบริเวณข้อมีรากแตกเป็นแขนงออกมาแล้วปักลงดินเพื่อยึดลำต้นให้ติดแน่นกับที่มีการแตกแขนงลำต้นออกจากตาบริเวณที่เป็นข้อ ทำให้มีลำต้นแตกแขนงออกไป ซึ่งเป็นการแพร่พันธุ์วิธีหนึ่ง แขนงที่แตกออกมาเลื้อยขนานไปกับผิวดินหรือน้ำนี้เรียกว่า สโตลอน(Stolon) หรือรันเนอร์ (Runner) ที่ตรงกับภาษาไทยว่า ไหล
 
3.1.2 ลำต้นเลื้อยขึ้นสูง (Climbing stem หรือ Climber) พืชพวกนี้มีลำต้นอ่อนเช่นเดียวกับพวกแรก แต่ไต่ขึ้นสูงโดยขึ้นไปตามหลักหรือต้นไม้ที่อยู่ติดกัน
วิธีการไต่ขึ้นสูงนั้นมีอยู่หลายวิธีคือ
1) ใช้ลำต้นพันหลักเป็นเกลียวขึ้นไป (Twining stem หรือ Twiner)
การพันอาจเวียนซ้าย หรือเวียนขวา เช่น ต้นถั่ว ฝอยทอง เถาวัลย์ชนิดต่าง ๆ
ผักบุ้งฝรั่ง  บอระเพ็ด
2) ลำต้นเปลี่ยนเป็นมือเกาะ (Stem tendril หรือ Tendril climber)
มือเกาะจะบิดเป็นเกลียวคล้ายสปริงเพื่อให้มีการยืดหยุ่น เมื่อลมพัดผ่านมือเกาะจะยืดหดได้ ตัวอย่างเช่น ต้นบวบ น้ำเต้า ฟักทอง องุ่น แตงกวา ตำลึง พวงชมพู กะทกรก ลัดดา ลิ้นมังกร เสาวรส โคกกระออม เป็นต้น (บางครั้ง Tendril อาจเกิดจากใบที่เปลี่ยนแปลง ไปจะทราบจากการสังเกต เช่น ใบถั่วลันเตา บริเวณปลายใบเปลี่ยนไปเป็นมือเกาะ)
  3) ใช้รากพัน (Root climber) เป็นลำต้นที่ไต่ขึ้นสูงโดยงอกรากออกมาบริเวณข้อยึดกับหลักหรือต้นไม้ต้นอื่น ตัวอย่างเช่น ต้นพลู พลูด่าง พริกไทย
รากพืชเหล่านี้หากยึดติดกับต้นไม้จะไม่แทงรากเข้าไปในลำต้นของพืชที่เกาะ ไม่เหมือนพวกกาฝากหรือฝอยทองซึ่งเป็นพืชปรสิตที่แทงรากเข้าไปในมัดท่อลำเลียงของพืชที่เกาะ
4) ลำต้นเปลี่ยนเป็นหนาม (Stem spine หรือ Stem thorn) หรือขอเกี่ยว (Hook) บางทีเรียกลำต้นชนิดนี้ว่า สแครมเบลอร์ (Scrambler) เพื่อใช้ในการไต่ขึ้นที่สูง และยังทำหน้าที่ป้องกันอันตรายอีกด้วย เช่น หนามของต้นเฟื่องฟ้าหรือตรุษจีนมะนาว มะกรูด และส้มชนิดต่าง ๆ หนามเหล่านี้จะแตกออกมาจากตาที่อยู่บริเวณซอกใบ หนามบางชนิดเปลี่ยนแปลงมาจากใบ หนามบางชนิดไม่ใช่ทั้งลำต้น ใบและกิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เกิดจากผิวนอกของลำต้นงอกออกมาเป็นหนาม เช่น หนามกุหลาบส่วนต้นกระดังงา และการเวก มีขอเกี่ยวที่เปลี่ยนแปลงมาจากลำต้นแล้วยังมีดอกออกมา
จากขอเกี่ยวได้ด้วย
 
3.1.3 ลำต้นที่เปลี่ยนแปลงไปมีลักษณะคล้ายใบ (Cladophyll หรือ
Phylloclade หรือ Cladode)
ลำต้นที่เปลี่ยนไปอาจแผ่แบนคล้ายใบ หรือเป็นเส้นเล็กยาว
และยังมีสีเขียว ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นใบ เช่น สนทะเล หรือ สนประดิพัทธ์ ที่มีสีเขียว ต่อกันเป็นท่อน ๆ นั้นเป็นส่วนของลำต้นที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนใบที่แท้จริงเป็นแผ่นเล็ก ๆ ติดอยู่รอบ ๆ ข้อ เรียกว่า ใบเกล็ด (Scale leaf) เช่นเดียวกับต้นโปร่งฟ้า(Asparcus) ที่เห็นเป็นเส้นฝอยแผ่กระจายอยู่เป็นแผงและมีสีเขียวนั้นเป็นลำต้น ส่วนใบเป็นใบเกล็ดเล็ก ๆ ติดอยู่ตรงข้อ
นอกจากนั้นยังมีลำต้นอวบน้ำ (Succulent) เป็นลำต้นของพืชที่อยู่ในที่แห้งแล้งกันดารน้ำ
จึงมีการสะสมน้ำไว้ในลำต้น เช่น ต้นกระบองเพชร สลัดได และพญาไร้ใบ ลำต้นบางชนิดอาจเกิดจากตาหรือหน่อเล็ก ๆ ที่อยู่เป็นยอดอ่อนหรือใบเล็ก ๆประมาณ 2-3 ใบที่แตกออกบริเวณซอกใบกับลำต้น หรือแตกออกจากยอดลำต้นแทนดอก เมื่อหลุดออกจากต้นเดิมร่วงลงดินสามารถเจริญไปเป็นต้นใหม่ได้ ตัวอย่างเช่นหอม กระเทียม ตะเกียงสับปะรด ศรนารายณ์
เป็นต้น
 
  3.2 ลำต้นใต้ดิน (Underground stem) ลำต้นใต้ดินส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเป็นราก เนื่องจากมีรากแตกออกมาจากลำต้นเหล่านั้น ลักษณะเหมือนกับรากแขนงแตกออกมาจากรากแก้ว ลักษณะของลำต้นใต้ดินที่แตกต่างจากรากคือมีข้อ และปล้องเห็นได้ชัดเจนบางครั้งมีตาอยู่ด้วย ต้นไม้ที่มีลำต้นใต้ดินมักมีอายุยืน ในแต่ละปีจะส่งหน่อ ที่เป็นส่วนของลำต้นหรือกิ่งขึ้นมาเหนือพื้นผิวดินเพื่อออกดอกและให้ผลแล้วส่วนนี้ก็ตายไปเหลือแต่ลำต้นใต้ดินเอาไว้รูปร่างลักษณะของลำต้นใต้ดินต่างจากลำต้นเหนือดินที่พบเห็นทั่วไปอาจมีรูปร่างลักษณะกลมหรือเป็นแท่งยาว เป็นแง่ง หรือเป็นหัว เช่นเดียวกับรากสะสมอาหาร จากรูปร่างของลำต้นใต้ดินที่แตกต่างกันจึงมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปชนิดของลำต้นใต้ดินจำแนกจากรูปร่างลักษณะดังนี้
   
   
 

ก่อนหน้า | หน้าหลัก | ถัดไป